ภัยทางศีลธรรมของ IFECพลวัต 2017
การประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของ บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC จบสิ้นลงไป เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560 แล้ว นับมาจนถึงวันนี้ก็ครบ 14 วันพอดี แต่ยังไม่มีวี่แววเลยว่านอกจากการแถลงข่าวเจื้อยแจ้วเป็นคุ้งแควในเรื่องต่างๆ และเดินสายพบปะใครต่อใครของ นายแพทย์วิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ประธานบริษัทแล้ว รายชื่อกรรมการใหม่ 7 คน ที่ได้รับฉันทานุมัติแต่งตั้งขึ้นจากที่ประชุมวันดังกล่าวจะได้รับแจ้งจดเป็นทางการต่อนายทะเบียนของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ที่ดูแล พ.ร.บ.บริษัทมหาชน เสียที
การประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของ บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC จบสิ้นลงไป เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560 แล้ว นับมาจนถึงวันนี้ก็ครบ 14 วันพอดี แต่ยังไม่มีวี่แววเลยว่านอกจากการแถลงข่าวเจื้อยแจ้วเป็นคุ้งแควในเรื่องต่างๆ และเดินสายพบปะใครต่อใครของ นายแพทย์วิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ประธานบริษัทแล้ว รายชื่อกรรมการใหม่ 7 คน ที่ได้รับฉันทานุมัติแต่งตั้งขึ้นจากที่ประชุมวันดังกล่าวจะได้รับแจ้งจดเป็นทางการต่อนายทะเบียนของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ที่ดูแล พ.ร.บ.บริษัทมหาชน เสียที
หลายคนว่าหมอวิชัย พยายามดึงเกมเรื่องนี้ออกไปเพื่อจะไม่ต้องตั้งกรรมการชุดใหม่ที่มีสัดส่วนของกลุ่มตนเองน้อยกว่าอย่างชัดเจน แต่นั่นก็เป็นมุมมองที่เอาทฤษฎีเกม มาตีความเท่านั้น เนื่องจากหากหมอวิชัยกระทำดังกล่าวจริง เท่ากับนำตัวเองเข้าสุ่มเสี่ยงกับการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชน เต็มรูปเลยทีเดียว
หากพิจารณาตามเนื้อผ้าแล้ว มาตรา 40 ของ พ.ร.บ.บริษัทมหาชน ระบุเอาไว้ชัดเจนว่า “ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงรายการใดที่แสดงไว้ ตามมาตรา ๓๙ วรรคหนึ่ง ให้บริษัทขอจดทะเบียนการเปลี่ยนแปลงรายการนั้นภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลง”
สาระสำคัญของการเปลี่ยนแปลง จากการที่ต้องแจ้งจดต่อนายทะเบียนภายใน 14 วันดังกล่าว มาตรา 39 ระบุไว้หลายเรื่อง ที่รวมเอาถึง “…(๓) ชื่อ วันเดือนปีเกิด สัญชาติ และที่อยู่ ของกรรมการ …และ (๔) ชื่อและจํานวนกรรมการซึ่งมีอํานาจลงลายมือชื่อแทนบริษัท และข้อจํากัดอํานาจ (ถ้ามี) ตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับ…”
ข้อกำหนดให้ บริษัทมหาชนต้องจดทะเบียนกรรมการใหม่กับนายทะเบียนของกระทรวงพาณิชย์ภายใน 14 วัน ยังกลายมาเป็นข้อกำหนดเพิ่มเติมของ ก.ล.ต. อีกต่อมาหลายเรื่องได้แก่
– บริษัทต้องยื่นแบบแจ้งข้อมูลกรรมการและผู้บริหารของบริษัท (แบบ 35-E1) ต่อสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.
– กรณีที่บริษัทต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติกรรมการและผู้บริหาร บริษัทต้องยื่นหนังสือยินยอมของกรรมการและผู้บริหารให้เปิดเผยข้อมูล (แบบ 35-E2) และหนังสือขอตรวจสอบคุณสมบัติในการเป็นกรรมการและผู้บริหาร (แบบ35- E3) ก่อนการแต่งตั้ง
– จากนั้น บริษัทต้องรายงานสารสนเทศในเรื่องการเปลี่ยนแปลงกรรมการผ่านระบบเผยแพร่ข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ แบบ F24-1 (กรณีแต่งตั้งกรรมการตรวจสอบ) และแบบ F24-2 ภายใน 3 วันทำการนับแต่วันที่บริษัทมีการเปลี่ยนแปลงกรรมการ หรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการของบริษัทจดทะเบียน
พ้นจากขั้นตอนเหล่านี้ไปแล้ว ก็จะนำไปสู่ขั้นตอนของการประชุมคณะกรรมการบริษัทชุดใหม่ ตามมาตรา 82 ที่ระบุข้อความว่า “….ในการเรียกประชุมคณะกรรมการ ให้ประธานกรรมการ หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายส่งหนังสือนัดประชุมไปยังกรรมการไม่น้อยกว่าเจ็ดวันก่อนวันประชุม เว้นแต่ในกรณี จำเป็นรีบด่วนเพื่อรักษาสิทธิหรือประโยชน์ของบริษัท จะแจ้งการนัดประชุมโดยวิธีอื่นและกำหนดวันประชุมให้เร็วกว่านั้นก็ได้…”
ตามเงื่อนไขของข้อกฎหมายที่ระบุเอาไว้ชัดเจน ตราบใดที่ยังไม่มีการปฏิบัติตามจนครบถ้วน ก็ถือว่า ยังไม่มีอะไรที่จะส่งผลให้ถูกต้องตามกระบวนการแต่อย่างใด
หากภายในวันนี้ หมอวิชัยในฐานะประธานกรรมการ IFEC ไม่ยอมกระทำตามมาตรา 40 ก็จะถือว่าผิดกฎหมายในทันที ไม่สามารถอ้างถึง มาตรา 5 ที่ระบุว่า สามารถเลื่อนเวลาแจ้งจดได้ “…ในกรณีที่พระราชบัญญัตินี้กำหนดให้บุคคลใดยื่นเอกสารหรือแจ้งรายการภายในระยะเวลาที่กำหนด ถ้าบุคคลนั้นมีเหตุจำเป็นจนไม่สามารถจะปฏิบัติตามกำหนดเวลาได้ และได้ยื่นคำร้องขอขยายหรือเลื่อนกำหนดเวลา โดยแสดงเหตุแห่งความจำเป็น เมื่อนายทะเบียนพิจารณาเห็นเป็นการสมควรจะขยายหรือเลื่อนกำหนดเวลาออกไปตามความจำเป็นแก่กรณีก็ได้…”
ด้วยเหตุนี้ การแถลงข่าวของหมอวิชัยผ่านเอกสารเมื่อวานนี้ที่ออกมาระบุว่า “กรณีที่นายทวิช เตชะนาวากุล แกนนำกรรมการชุดใหม่ให้ข่าวผ่านสื่อมวลชนว่ายินดีร่วมงานกับตนเองในการแก้ไขปัญหาบริษัทนั้น ส่วนตัวมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งเช่นกันเพราะเชื่อว่าหากทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างจริงจัง IFEC จะก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว …” และ “…ล่าสุดได้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ที่ถึงกำหนด ในเดือน ก.พ. นี้ ไปแล้ว กว่าพันล้านบาท แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการบริหารรายได้ของบริษัทอีกด้วย….” จึงเป็นการเล่นสำนวนที่ไร้ความหมาย เพราะยังไม่ได้ทำในสิ่งที่พึงกระทำ
ตราบใดที่หมอวิชัย ไม่มีการดำเนินการตามกฎหมายให้ครบถ้วนสมบูรณ์ตามมติของที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ก็ถือว่า การกระทำใดๆ ของหมอวิชัย ล้วนเป็นโมฆะกรรมทั้งสิ้น
ความพยายามของหมอวิชัยที่พยายามเน้นว่า ต้นเหตุของปัญหาของบริษัท IFEC ทั้งหมด เกิดจากธรรมาภิบาลของผู้บริหารในอดีต (ซึ่งรวมถึงตัวหมอวิชัยเองที่ร่วมเซ็นทุกเอกสาร) รวมทั้งเรียกร้องให้ดำเนินคดีกับกลุ่มคนผิด จึงไม่มีความหมายใด นอกจากทำให้นักลงทุนเข้าใจว่า นี้คือการ “ปัดสวะ” และ “ยื้อเวลา” ธรรมดาเท่านั้นเอง
โดยข้อเท็จจริงแล้ว หากหมอวิชัยตระหนักดีว่า ความพยายามที่จะทั้ง “ปัดสวะ” และ “ยื้อเวลา” เข้าข่าย “ขว้างงูไม่พ้นคอ” แล้ว ก็คงจะต้องเร่งดำเนินการเปิดทางให้เงื่อนไขทางกฎหมายทำงานให้ครบถ้วน และขับเคลื่อน IFEC ให้พ้นจากความเน่าเฟะที่ดำเนินมานานกว่า 3 เดือนให้ได้ เรื่องก็จะจบลงด้วยดี
คงไม่ต้องให้ย้ำอีกครั้งว่า การเล่นเกมแห่งอำนาจที่ไร้สาระ ที่สอดคล้องกับจิตวิทยาเชิงลบว่า “หากฉันไม่ได้ คนอื่นก็ไม่ควรได้” ซึ่งถือเป็น “ภัยทางศีลธรรม” (moral hazard) ที่ร้ายแรงยิ่งยวด มีแต่จะทำลายความสามารถทางการเงินของ IFEC ให้เลวร้ายลงยิ่งขึ้น