โลกในกำมือทรัมป์พลวัต 2017

สายวันนี้ โลกก็คงรู้แล้วว่า สิ่งที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อรัฐสภาอเมริกันเมื่อกลางดึกคืนที่ผ่านมา จะมีปฏิกิริยาสนองตอบอย่างไรถึงจะเหมาะสมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว


วิษณุ โชลิตกุล

 

สายวันนี้ โลกก็คงรู้แล้วว่า สิ่งที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อรัฐสภาอเมริกันเมื่อกลางดึกคืนที่ผ่านมา จะมีปฏิกิริยาสนองตอบอย่างไรถึงจะเหมาะสมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

สุนทรพจน์ของทรัมป์ต่อรัฐสภาครั้งนี้ เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ที่เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี โดยเป็นการกล่าวต่อหน้าการประชุมร่วมระหว่างวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ตามคำเชิญของนายพอล ไรอัน ประธานรัฐสภา โดยมีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ต่อชาวสหรัฐทั่วประเทศ และแพร่ออกอากาศสดไปทั่วโลกในเช้าวันนี้ เวลา 09.00 น. ตามเวลาไทย 

ก่อนจะมีสุนทรพจน์ นักวิเคราะห์และนักลงทุนพากันคาดว่า ทรัมป์จะเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการปรับลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งจะผนวกรวมเข้ากับแผนของนายพอล ไรอัน อันถือเป็นมาตรการสำคัญที่ทำให้เขาได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งที่ผ่านมา

นอกจากมาตรการปฏิรูปภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และนิติบุคคลแล้ว ยังมีการคาดการณ์ว่า ทรัมป์จะเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าข้ามแดนการปฏิรูปกฎหมายประกันสุขภาพที่เรียกว่า “โอบามาแคร์”การยกเลิกกฎระเบียบในภาคอุตสาหกรรม และการใช้จ่ายงบประมาณในโครงการสาธารณูปโภค รวมทั้งการใช้จ่ายงบประมาณด้านกลาโหมครั้งใหญ่

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ทรัมป์กล่าวว่า เขาจะเพิ่มงบประมาณด้านการทหารสูงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์อเมริกา ประมาณ 5.4 หมื่นล้านดอลลาร์ในร่างงบประมาณฉบับแรกในตำแหน่ง โดยจะปรับปรุงแสนยานุภาพในกองทัพ ทั้งในเชิงรุก และเชิงรับ ด้วยการใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้กองทัพสหรัฐใหญ่ขึ้น และดีขึ้นกว่าแต่ก่อน

แผนปฏิรูปภาษีของทรัมป์ ไม่ใช่งานง่าย และจะเป็นแกนหลักชี้วัดความเป็นผู้นำของทรัมป์ได้ดี เพราะถือเป็นการยกเครื่องระบบภาษีเป็นครั้งแรกในสหรัฐ หลังจากที่มีการใช้ประมวลกฎหมายภาษีฉบับปัจจุบันนับตั้งแต่ปี 1986 โดยที่รัฐบาลหลังจากปีดังกล่าว ล้มเหลวในการขับเคลื่อนตลอดมาหลายสมัย

ในอดีต พรรคเดโมแครต และรีพับลิกันได้ใช้ความพยายามมานานกว่า 20 ปีในการปรับปรุงระบบภาษีของประเทศ โดยในแต่ละปี รัฐบาลสหรัฐมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์ แต่ในระหว่างปี 2007-2016 สหรัฐประสบภาวะหนี้ที่พุ่งขึ้นมากกว่า 2 เท่า เมื่อเทียบกับสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) สู่ระดับ 77% จาก 35%

ภาวะหนี้ภาครัฐที่ล้นพ้นเกิน เท่ากับทรัมป์ได้เริ่มต้นบริหารประเทศ ด้วยการมีหนี้ก้อนโตที่สุดในประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่ยุคของประธานาธิบดี แฮร์รี ทรูแมน ในปี 1945 ซึ่งขณะนั้น หนี้ภาครัฐของสหรัฐพุ่งแตะระดับ 103% ต่อจีดีพี

ทรัมป์เคยหาเสียงว่า เขาจะชดเชยรายได้ของรัฐที่ขาดหายไปจากการปรับลดอัตราภาษีเงินได้ ด้วยการเรียกเก็บภาษีใหม่ต่อผลกำไรของบริษัทสหรัฐที่ซุกในต่างประเทศเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีในระดับสูงในสหรัฐ ซึ่งถือเป็นการยิงปืนหนึ่งนัดได้นกสองตัว โดยจะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มมากขึ้น และอีกด้านหนึ่งก็จะเป็นการบังคับให้บริษัทเหล่านี้หันกลับมาลงทุนในสหรัฐ

เช่นเดียวกัน ทรัมป์ได้เคยแสดงความไม่พอใจต่อการเสียภาษีของภาคธุรกิจสหรัฐในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากแม้กฎหมายจะระบุว่า ภาคเอกชนต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล 35% แต่บริษัทหลายแห่งก็ได้จ่ายภาษีน้อยกว่าระดับดังกล่าวมาก โดยอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมายในการโยกย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่คิดอัตราภาษีต่ำกว่าสหรัฐ และพักเงินรายได้จากต่างประเทศไว้นอกสหรัฐ

นโยบายปฏิรูปภาษีและลดขั้นตอนธุรกิจของทรัมป์ และสมาชิกพรรครีพับลิกันส่วนใหญ่ มีความเห็นพ้องกัน ตรงที่แผนปรับลดภาษีให้กลุ่มคนรวย ตามแนวคิด “อุ้มคนรวย เพื่อช่วยคนจน” หรือ Trickle-down Effect  ที่ถือว่า การช่วยปลดภาระคนรวยที่เป็นแนวหน้าของการสร้างงานของประเทศ จะช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมาก และทำให้ชาวสหรัฐมีงานทำมากขึ้น ขณะที่รายได้จากภาษีจำนวนหลายล้านล้านดอลลาร์ที่รัฐบาลขาดหายไปนั้น จะได้รับการชดเชยจากรายได้พิเศษที่จะไหลกลับเข้าสู่คลังของรัฐบาลจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่จะตามมา

ทรัมป์หาเสียงว่า มีแผนปรับลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นสูงสุดจาก 35% เหลือเพียง 15% แต่นายสตีเวน มนูชิน รมว.คลังสหรัฐ ยืนยันว่า มาตรการปรับลดภาษีของรัฐบาลสหรัฐจะไม่มีการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มคนร่ำรวย แต่จะพ่วงด้วยการปิดช่องโหว่ทางกฎหมายที่จะเป็นประโยชน์ต่อคนกลุ่มนี้ รวมทั้งจะมีการลดการหักลดหย่อนภาษี ขณะที่รัฐบาลจะปรับลดภาษีครั้งใหญ่สำหรับชนชั้นกลาง

เป้าหมายสำคัญคือ เม็ดเงินจำนวน 2.6 ล้านล้านดอลลาร์ที่บริษัทยักษ์ใหญ่ ซุกซ่อนในรูปต่างๆ ในต่างประเทศ ไกลเกินกว่าที่กรมสรรพากรสหรัฐจะสามารถเอื้อมถึง จึงต้องการให้ปรับเปลี่ยนใช้นโยบายหั่นภาษีเพื่อดึงดูดให้บริษัทเหล่านี้กลับมาลงทุนในประเทศ แต่ก็มีการประเมินว่า รายได้จากภาษีที่ขาดหายไปถึง 7 ล้านล้านดอลลาร์ภายในช่วงเวลา 10 ปีข้างหน้า อาจทำให้เกิดศึกภายในพรรครีพับลิกันขึ้นมาในระยะยาวได้ โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่จะแผ่ขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้น

มีการคำนวณล่วงหน้าไว้ว่า ภายในปี ค.ศ. 2025 กลุ่มคนอเมริกันที่ร่ำรวยสุด ซึ่งมีสัดส่วนเพียง 1% ของจำนวนผู้เสียภาษีทั้งหมด จะได้รับประโยชน์จากการปรับลดภาษีทั้งหมดเกือบ 100% เพราะจะได้รับการปรับลดภาษีสูงกว่าถึง 10 เท่า หรือราว 5.3% หรือคิดเป็นเงินราว 100,000 ดอลลาร์ สูงกว่าครอบครัวชนชั้นกลางถึง 32 เท่า

ข้อโต้แย้งดังกล่าว ยังไกลเกินกว่าจะมาถึงบทสรุปชัดเจน เพราะยามนี้ ตลาดหุ้นทั่วโลก รู้เพียงแค่ว่า การแถลงของทรัมป์ในเช้าวันนี้ตามเวลาไทย  รวมทั้งตลาดหุ้นไทย ที่นักลงทุนต่างชาติลดความสนใจลงทุนในตลาดอย่างรุนแรง โดยเมินเฉยต่อความพยายามของรัฐบาลไทยที่พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเอาจริงเอาจัง เสมือนหนึ่งว่าไม่ได้เป็นปัจจัยหนุนเลย

พ้นจากช่วงเวลาของสุนทรพจน์นี้ไป ตลาดหุ้นทั่วโลกก็จะมีความชัดเจนมากขึ้น และถึงเวลาที่ต้องตัดสินใจว่าจะลงยาว หรือขึ้นยาวเสียที

Back to top button