จากทรัมป์ มาสู่ เยลเลนพลวัต 2017

จะเป็นความฉลาดเกินไป หรืออ่อนหัดเกินไปของทีมงานเบื้องหลังสุนทรพจน์ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ต่อรัฐสภาอเมริกันเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ที่เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เมื่อสายวานนี้ ตามเวลาประเทศไทย เพราะหมดเวลาไปกับความสูญเปล่าที่มีลักษณะ “น้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรง” ไม่สมกับที่คนรอคอยมากมายทั่วโลก


วิษณุ โชลิตกุล

 

จะเป็นความฉลาดเกินไป หรืออ่อนหัดเกินไปของทีมงานเบื้องหลังสุนทรพจน์ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ต่อรัฐสภาอเมริกันเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ที่เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เมื่อสายวานนี้ ตามเวลาประเทศไทย  เพราะหมดเวลาไปกับความสูญเปล่าที่มีลักษณะ “น้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรง” ไม่สมกับที่คนรอคอยมากมายทั่วโลก

สิ่งที่ตลาดคาดหวังคือ รายละเอียดที่เป็นรูปธรรมของนโยบายปฏิรูปภาษีและลดขั้นตอนธุรกิจของทรัมป์ ที่สมาชิกพรรครีพับลิกันส่วนใหญ่ มีความเห็นพ้องกัน กับแนวทางที่ว่า การปรับลดภาษีให้กลุ่มคนรวย ตามแนวคิด “อุ้มคนรวย เพื่อช่วยคนจน” หรือ Trickle-down Effect  เพราะถือว่า การช่วยปลดภาระคนรวยที่เป็นแนวหน้าของการสร้างงานของประเทศ จะช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมาก และทำให้ชาวสหรัฐมีงานทำมากขึ้น ขณะที่รายได้จากภาษีจำนวนหลายล้านล้านดอลลาร์ที่รัฐบาลขาดหายไปนั้น จะได้รับการชดเชยจากรายได้พิเศษที่จะไหลกลับเข้าสู่คลังของรัฐบาลจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่จะตามมา กลับไม่มีรายละเอียดอะไรเลย

หากจำแนกสาระของสุนทรพจน์วานนี้ของทรัมป์ออกมา จะพบว่า มีสาระที่เกี่ยวข้องกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจน้อยมาก ยกเว้นแผนการทุ่มเงินงบประมาณสร้างงานสาธาณูปโภค 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐที่จ่อให้รัฐสภาเร่งผ่านเป็นกฎหมายโดยราบรื่น ซึ่งยังต้องการเวลาในการพิจารณาอีกยาวนานในอนาคต

สาระสำคัญดังกล่าว ประกอบด้วย

– ทรัมป์ยืนยันสร้างกำแพงกั้นสหรัฐ-เม็กซิโก โดยให้เม็กซิโกเป็นผู้จ่าย

– ลดอาชญากรรมและปราบปรามการค้ายาเสพติดในสหรัฐ

– แผนสั่งจ่ายโครงสร้างพื้นฐาน 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ผ่านการลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐโดยอิงแนวคิด “Buy_American_and_Hire_American”

– ยกเลิกมาตรการ โอบามาแคร์

พ้นจากสาระดังกล่าวแล้ว นายทรัมป์ไม่ได้ให้รายละเอียดในตัวเลขใดๆ ว่า รัฐบาลของเขานี้จะเพิ่มค่าใช้จ่ายทางการทหารเท่าใด ลดภาษีกี่เปอร์เซ็นต์ แต่ที่สำคัญ และสร้างความผิดหวังมากสุดคือ ไม่มีการกล่าวถึงรายละเอียดที่ตลาดต้องการ ประกอบด้วย 1.มาตรการปรับลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล 2.การจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าข้ามชายแดน 3.การใช้จ่ายงบประมาณด้านกลาโหมครั้งใหญ่

นอกจากนั้น ก็มีประเด็นใหม่ที่โผล่เข้ามาที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน คือ การจัดตั้งหน่วยงานใหม่ภายในกระทรวงความมั่นคงของแผ่นดินเกิด (Department of Homeland Security) เพื่อรับมือกับผู้อพยพที่เรียกว่า VOICE (Victims of Immigration Crime Engagement) แต่ก็ไม่ได้กล่าวจำแนกชัดเจนว่า จะแยกผู้อพยพที่มีใบอนญาต กับคนที่ไร้ใบอนุญาตอย่างไร

เสียงวิพากษ์ของสุนทรพจน์ที่ค่อนข้างว่างเปล่า เสมือนช่วงเวลาหาเสียงเลือกตั้ง ทำให้มีแนวโน้มว่า จะยิ่งทำให้คะแนนนิยมของทรัมป์ในหมู่ประชาชนลดลงต่อไปอีก เพราะสาระทางนโยบายดูเลื่อนลอย และยากต่อการปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมาย

สุนทรพจน์ของทรัมป์ ทำให้มีคำถามเกี่ยวกับแผนปฏิรูปภาษี ซึ่งเป็นงานระดับ “เข็นครกขึ้นภูเขา” และเป็นการยกเครื่องระบบภาษีเป็นครั้งแรกในสหรัฐ หลังจากที่มีการใช้ประมวลกฎหมายภาษีฉบับปัจจุบันนับตั้งแต่ปี 1986 โดยที่รัฐบาลหลังจากปีดังกล่าว ล้มเหลวในการขับเคลื่อนตลอดมาหลายสมัย อาจจะล้มเหลวต่อไป ในขณะที่รัฐบาลกลางของสหรัฐประสบภาวะหนี้สาธารณะที่พุ่งขึ้นมากกว่า 2 เท่า เมื่อเทียบกับสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) สู่ระดับ 77% จาก 35%

แม้ว่าสาระของสุนทรพจน์ของทรัมป์ ยังขาดรายละเอียดที่ตลาดคาดหมายได้ฟัง โดยเฉพาะรายละเอียดรูปธรรมเกี่ยวกับมาตรการปฏิรูปภาษี แต่หลังจากสุนทรพจน์สิ้นสุดลง นักลงทุนบางส่วนก็ยังถือว่า สิ่งที่ทรัมป์กล่าวโดยรวม ยังถือเป็นบวกด้านจิตวิทยา ทำให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นขึ้นแรงและตลาดหุ้นเอเชียปรับตามขึ้นไปด้วย รวมทั้งตลาดหุ้นไทย แต่การปรับขึ้นดังกล่าว ก็ยังถือว่าเปราะบางอย่างมาก

ความผิดหวังจากสุนทรพจน์ของทรัมป์ ส่งผลให้ตลาดทั่วโลกมีปฏิกิริยาที่ต่างกันออกไป โดยตลาดมองไปข้างหน้า คาดหวังสาระจากการเปลี่ยนแปลงที่จับต้องได้จากคำปราศรัยในคืนวันศุกร์ที่จะถึงนี้ของ นางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แทน

นางเยลเลนจะกล่าวสุนทรพจน์ที่ Executives’ Club of Chicago ในวันศุกร์นี้ ก่อนที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) จะจัดการประชุมนโยบายการเงินและแถลงมติอัตราดอกเบี้ย ในวันที่ 14-15 มีนาคม ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์คาดว่า นางเยลเลนจะใช้โอกาสนี้ส่งสัญญาณให้ตลาดทราบถึงมุมมองของตน และอาจจะมีการส่งสัญญาณว่าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด

ตลาดหุ้นยามนี้ ในช่วงเวลาที่หมดเทศกาลประกาศงบสิ้นงวดปีเกือบทั้วโลก ก็ยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอกไปอีกระยะหนึ่ง ที่ยังไม่อาจระบุได้ชัดเจน

Back to top button