EFORL เพิ่มทุนแบบ“ปิดประตูตีแมว”

มติที่ประชุมคณะกรรมการวันที่ 28 กุมภาพันธ์ของบริษัท อี ฟอร์ แอล เอม จำกัด (มหาชน) หรือ EFORL ให้ เพิ่มทุน 7,508 ล้านหุ้น หรือ 54% มีความหมายเชิงลบถึงขั้นทำให้ราคาหุ้นเมื่อวันที่ 1 มีนาคม ร่วงติดฟลอร์ เป็นปฏิกิริยาแบบ “โอเวอร์ รีแอ็กต์” หรือไม่


แฉทุกวัน ทันเกมหุ้น

 

มติที่ประชุมคณะกรรมการวันที่ 28 กุมภาพันธ์ของบริษัท อี ฟอร์ แอล เอม จำกัด (มหาชน) หรือ EFORL ให้ เพิ่มทุน 7,508 ล้านหุ้น หรือ 54% มีความหมายเชิงลบถึงขั้นทำให้ราคาหุ้นเมื่อวันที่ 1 มีนาคม ร่วงติดฟลอร์ เป็นปฏิกิริยาแบบ “โอเวอร์ รีแอ็กต์” หรือไม่

คำตอบขึ้นกับมุมมองและผลประโยชน์ได้เสียของคนที่เกี่ยวข้อง

ข้อเท็จจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้เลยคือ การเพิ่มทุนดังกล่าวเป็น “หมากตาจน” ที่เลี่ยงไม่พ้นเพราะไม่สามารถก่อหนี้ได้เพิ่มเติมอีกแล้ว การหันมาเพิ่มทุนโดยสร้างแรงจูงใจให้มีคนอยากเพิ่ม จึงหนีไม่พ้น

ตัวเลขงบการเงินสิ้นงวดไตรมาสสุดท้ายและงวดสิ้นปี 2559 ของ EFORL ถือว่า น่าสยดสยองยิ่งกว่าดูหนังหรือละครผีแบบไทยๆ หลายเท่า …อย่างน้อยก็ไม่มีบทตลกแทรก

ตัวเลขหนี้สิน เมื่อสิ้นงวดปี 2016 ระบุว่า EFORL มีหนี้สินทั้งหมด 4,760 ล้านบาท แต่ส่วนของผู้ถือหุ้นเหลือเพียง 962 ล้านบาท สัดส่วน D/E สูงถึง 4.9 เท่า โดยสัดส่วนหนี้ คิดเป็นเงินกู้ 3,031 ล้านบาท ที่เหลือเป็นเจ้าหนี้การค้าและเจ้าหนี้ทั่วๆ ไป ในจำนวนเงินกู้ทั้งหมด มีส่วนที่ครบกำหนดชำระปีนี้ 530 ล้านบาท แต่บริษัทมีกระแสเงินสดอยู่ 558 ล้านบาท ซึ่งจำเป็นต้องใช้เป็นเงินหมุนเวียน

งบการเงินที่เลวร้ายในไตรมาสสี่ คือปัญหาใหญ่เพราะหากเทียบกับ งบการเงินงวด 9 เดือน EFORL มียอดหนี้ 4.117 พันล้านบาท เทียบกับส่วนผู้ถือหุ้นที่เหลือ 1.44 พันล้านบาท มีค่าดี/อีแค่ 2.85 เท่า

ที่สำคัญ โอกาสสร้างหนี้ระยะสั้นเพื่อเสริมสภาพคล่อง ก็ทำได้ยากเสียด้วยเพราะยามนี้ ตลาดตั๋วบี/อี ปิดตายชั่วคราว หลังจากเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ชื่อของ EFORL ดันไปร่วมโผล่ในรายที่เกือบจะ “มีโอกาส” เบี้ยวตั๋วบี/อีแบบไม่มีเครดิตกับเขาด้วย เนื่องจาก “ปัญหาทางเทคนิค” ระหว่างผู้บริหารของ EFORL และ บลจ.โซลาริส จำกัด จนเป็นที่มาของปฏิบัติการ “กินที่ลับ ไขที่แจ้ง” อย่างผิดมารยาท

การเพิ่มทุนเพราะเป็นทางเลือกเดียว จึงเกิดขึ้น  และเมื่อเพิ่มแล้วก็ต้องเผื่อเอาไว้ล่วงหน้าด้วย เพราะบุ๊ค แวลูของบรัทยังขี้เหร่ เหลือแค่ 0.070 บาท/หุ้น

การเพิ่มทุน 7,508 ล้านหุ้น หรือ 54% จากปัจจุบัน 13,790 ล้านหุ้น ในราคาพาร์ 0.075 บาท (1,034 ล้านบาท) เป็น 21,299 ล้านหุ้น พาร์ 0.075 บาท (1,597 ล้านบาท) โดยหวังจะได้รับเงินการเพิ่มทุนครั้งนี้ประมาณ 640 ล้านบาท จะนำไปคืนเงินกู้ 500 ล้านบาท จะมีการจัดสรรดังนี้

1,379 ล้านหุ้น รองรับการออก EFORL-W3 ให้ผู้ถือหุ้นเดิม อัตราส่วน 10 หุ้นเดิม : 1 EFORL-W3 (ราคาแปลงสภาพ 0.60 บาท/หุ้น) XW 10 มี.ค.

4,597 ล้านหุ้น ขายให้ผู้ถือหุ้นเดิม 3 หุ้นเดิม : 1 หุ้นใหม่ ราคาหุ้นละ 0.14 บาท XR 10 มี.ค.

1,532 ล้านหุ้น รองรับการออก EFORL-W4 ซึ่งจะแจกให้ผู้ที่เพิ่มทุนให้บริษัท อัตราส่วน 3 หุ้นเพิ่มทุน : 1 EFORL-W4 (ราคาแปลงสภาพ 0.50 บาท/หุ้น)  

นายธีรวุทธิ์ ปางวิรุฬห์รักข์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือ ซีอีโอ ของ EFORL ระบุตามสูตรเดิมๆ และได้ยินจนซ้ำซากในรอบ 3 ปีนี้ว่าการเพิ่มทุนมีเป้าหมายที่จะทำให้มีโอกาสกลับมาเติบโต ภายใต้สถานการณ์ที่กำลังซื้อชะลอตัว เงินที่ได้นอกเหนือจากชำระคืนเงินกู้ยืม 500 ล้านบาทแล้ว จะเหลือเป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อขยายธุรกิจในอนาคต

สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2560 บริษัทตั้งเป้ารายได้แตะที่ระดับ 4,000 ล้านบาท เติบโต 10% จากปีก่อนที่มีรายได้รวม 3,673 ล้านบาท โดยจะเน้นการเพิ่มยอดขายกลุ่มธุรกิจเครื่องมือแพทย์และจากวุฒิศักดิ์ คอสเมติก ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท วุฒิศักดิ์ คลินิก อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด ที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางประเภท Make Up หรือ color cosmetic  ภายใต้แบรนด์ “วุฒิ-ศักดิ์”  พร้อมปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารการจัดการ ในกลุ่มบริษัทวุฒิศักดิ์ทั้งหมด โดย ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ทำหน้าที่เป็นแม่ทัพในฐานะประธานกลุ่มวุฒิศักดิ์

คำถามคือ แผนเพิ่มทุนที่ซับซ้อน เป็นประโยชน์กับผู้ถือหุ้นที่ไม่ใช่ผู้บริหารหรือไม่…คำตอบคือ ไม่มีทางเลือก แต่ในมุมมองของนักวิเคราะห์หลายสำนักบอกว่านี้คือการ “ปิดประตูตีแมว” ชัดเจน

เหตุผลที่พูดน่ารับฟังเพราะหากพิจารณาลงลึก จะพบข้อเท็จจริงในอนาคตข้างหน้าว่า

-หลังเพิ่มทุน ส่วนของผู้ถือหุ้นจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,600 ล้านบาท Book value จะเพิ่มเป็น 0.087 บาท/หุ้น สัดส่วน D/E จะลดลงเหลือ 2.7 เท่า (ตัวเลขดูดีขึ้นมาก แต่มาจากทุนที่เพิ่ม แต่หนี้ยังสูงอยู่)

-ธุรกิจขายเครื่องมือแพทย์อันเป็นธุรกิจเดิมยังแข็งแกร่ง ยังเป็น “วัวที่ให้น้ำนม” ไปได้เรื่อยๆ รายได้โต 7% สามารถรักษา gross margin ให้อยู่ในระดับ 36-37% มาได้หลายปี เหลือกำไรสุทธิประมาณ 7% ของยอดขาย (กำไรปีละร้อยกว่าล้าน)  แต่ที่มีปัญหามากสุดคือ ธุรกิจความงามที่ทำโดยวุฒิศักดิ์คลินิก (EFORL ถือ 50.17%) ที่โตใกล้เคียงกัน เป็นตัวฉุดรั้งกำไรในปีที่ผ่านมา จากรายได้ลดลง 37% พากันขาดทุนหนัก

โจทย์ที่ขมวดปมว่า วุฒิศักดิ์คลินิก คือ “ทุกขลาภ” ที่ EFORL ต้องแก้ไขโดยด่วน เพราะจากการประเมินพบว่า หากปีนี้ วุฒิศักดิ์คลินิกแค่เสมอตัว กำไรที่มาจากการขายเครื่องแพทย์ ก็จะทำให้มูลค่าของ EFORL ไปที่ 0.22-0.24 บาท (ที่ พี/อี 25 เท่า)

การตอบโจทย์ด้วยการเชื้อเชิญคนที่มีประสบการณ์และบารมีสูงอย่าง ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย เข้ามาเป็นประธานวุฒิศักดิ์คลินิก จึงเป็นการ “ตอบโจทย์” ที่ “เกาถูกที่คัน” อย่างยิ่ง

คำแนะนำทางลบของนักวิเคราะห์หลายสำนักที่ว่า “ไม่แนะนำให้จองซื้อหุ้นเพิ่มทุน” โดยเหตุผลว่า สัดส่วน 3:1 ที่ราคา 0.14 บาท แพงเกิน แถม EFORL-W3 และ EFORL-W4 ก็มีราคาแปลงสภาพที่สูง 0.5-0.6 บาท/หุ้น ทำให้คาดเดายากว่า ราคาหน่วยนี้ควรอยู่ที่เท่าใด เพราะแพงกว่าแม่เสมอ

ประเด็นสำคัญของการเพิ่มทุนครั้งนี้ จึงอยู่ที่ว่า “แมวจะยอมให้ถูกปิดประตูตี” หรือไม่

ถ้าไม่…ก็เอวัง

Back to top button