GL แครี่เทรด“อองเซน”

นักลงทุนในตลาดหุ้นไทย และผู้ถือหุ้นของ บริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) หรือ GL ต้องขอบคุณ ผู้ตรวจบัญชีรับอนุญาตเลขทะเบียน 3182 ที่ชื่อ นาย โสภณ เพิ่มศิริวัลลภ สังกัดบริษัท สำนักงาน อีวาย จำกัด เป็นอย่างยิ่ง


 แฉทุกวันทันเกมหุ้น  

 

นักลงทุนในตลาดหุ้นไทย และผู้ถือหุ้นของ บริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) หรือ GL ต้องขอบคุณ ผู้ตรวจบัญชีรับอนุญาตเลขทะเบียน 3182 ที่ชื่อ นาย โสภณ เพิ่มศิริวัลลภ สังกัดบริษัท สำนักงาน อีวาย จำกัด เป็นอย่างยิ่ง

เหตุผลคือ หมายเหตุประกอบงบการเงินของผู้ตรวจบัญชีรับอนุญาตรายนี้ เปิดโลกด้านมืดของบริษัทที่มีราคาหุ้นและกำไรร้อนแรงที่สุดระดับหัวแถวของตลาดหุ้นไทยในปี 2559 อย่างหมดจดงดงาม

อาชีพผู้ตรวจสอบบัญชีนั้น ไม่ได้เป็นอาชีพที่ได้มาง่ายดาย และยังมีลักษณะของการทำงานแบบ “ปิดทองใต้ฐานพระ” ดังนั้น จึงอาจทำให้ผู้ว่าจ้างไม่สบายใจได้ง่ายๆ

นายโสภณ ระบุใน หมายเหตุประกอบงบการเงินสิ้นงวดปี 2559 ที่น่าสนใจและมีความผิดปกติว่า “..ข้าพเจ้าขอให้สังเกตหมายเหตุประกอบงบการเงินรวมข้อ 11 เกี่ยวกับเงินให้กู้ยืมและดอกเบี้ยค้างรับ    บริษัทฯได้ให้เงินกู้ยืมแก่บริษัทย่อยในสิงคโปร์ โดยบริษัทย่อยนี้ได้ให้บริษัทอื่นสองกลุ่มในเกาะไซปรัสและสิงคโปร์กู้ยืมเงินต่อ ซึ่งผู้กู้เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทฯด้วยและได้นำหลักทรัพย์ส่วนหนึ่งที่เป็นหุ้นของบริษัทฯมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ยืมจากบริษัทย่อยดังกล่าว…”

ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในหมายเหตุดังกล่าว ระบุเพิ่มเติมว่า อัตราดอกเบี้ยตามสัญญาของเงินให้กู้ยืม (ที่ปล่อยให้กับบริษัทย่อยในสิงคโปร์ แล้วบริษัทย่อยไปคิดอีกต่อจากลูกหนี้ 2 กลุ่มในไซปรัส และสิงคโปร์)  มีอัตราสูงถึง  ร้อยละ 14.5 ถึง  25 ต่อปี ทำให้ปีที่ผ่านมา ดอกเบี้ยรับในระหว่างปีจากลูกหนี้กลุ่มเหล่านี้มีจำนวน 485 ล้านบาท (เฉลี่ยอัตราดอกเบี้ยที่ได้รับประมาณ  ร้อยละ 17)

รายได้จากดอกเบี้ยรับจากการปล่อยกู้ลูกหนี้ 2 กลุ่มในไซปรัส และสิงคโปร์ ดังกล่าว คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16  ของรายได้รวมทั้งปีของบริษัท ที่ 2,922.14 ล้านบาท  ละหากคำนวณลงลึกตามที่ผู้ตรวจสบิบบัญชีสรุป จะพบว่า “จำนวนเงินนั้นคิดเป็นร้อยละ 38 ของกำไรรวมของบริษัทฯและบริษัทย่อยในปี 2559”

โอ้…แม่จ้า….ธุรกิจอะไรกำไรมากขนาดนี้

ไม่น่าประหลาดใจที่จะพบว่า ตัวเลขกำไรสุทธิของ GL ที่ระดับ 1,063.84 ล้านบาท เป็นอัตรากำไรสุทธิมากถึงร้อยละ 36.41 และเติบโตจากปีก่อนหน้ามากถึงร้อยละ 82.51

กำไรสุทธิที่โดดเด่นอย่างนี้ ไม่น่าอิจฉาอะไร หากได้มาด้วยความสามารถและวิสัยทัศน์ แถมยังไม่มีข้อเคลือบแคลงใดๆ ในเรื่องที่มาของกำไร แต่ความเห็นของผู้สอบบัญชีอย่างนายโสภณที่ว่า “…เงินให้กู้ยืมเหล่านี้มีหลักทรัพย์ค้ำประกันอันประกอบด้วย อสังหาริมทรัพย์ในเกาะไซปรัสและประเทศบราซิล พันธบัตรรัฐบาลไซปรัส หุ้นในบริษัทอื่นในต่างประเทศ และหุ้นของบริษัทฯซึ่งถือโดยผู้กู้ ...” ซึ่งผู้บริหารของ GL ได้แจ้งว่า “…มูลค่าหลักทรัพย์ค้ำประกัน (รวมถึงหุ้นของบริษัทฯ ซึ่งถูกตีมูลค่าด้วยราคาปิดใน     ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ณ วันสิ้นปี) มีมูลค่าประมาณร้อยละ 106 และร้อยละ 238 ตามลำดับของจำนวนเงินให้กู้ยืมของผู้กู้สองกลุ่มนี้...”

คำชี้แจงดังกล่าว ได้ถูกผู้สอบบัญชีตั้งคำถามอันสำคัญยิ่งว่า “..ถ้าไม่คิดมูลค่าหุ้นของบริษัทฯที่นำมาค้ำประกันแล้ว (ตามหลักความระมัดระวังที่พึงปฏิบัติในการวิเคราะห์มูลค่าหลักประกัน หุ้นของบริษัทผู้ให้กู้ยืมเงิน ไม่ควรถูกคำนวณนับเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันของลูกหนี้ที่บริษัทนั้นได้ให้กู้ยืม) มูลค่าที่เหลือของหลักทรัพย์ค้ำประกันคิดเป็นมูลค่าประมาณร้อยละ 60 และ ร้อยละ 53 ตามลำดับ…”

วงเงินค้ำประกันเงินกู้ต่ำกว่ามูลหนี้ที่ปล่อยออกไป เป็นแค่โจทย์ของแรก เพราะยังมีข้อที่สองตามมาคือ “…ลูกหนี้กลุ่มเหล่านี้มีกำหนดชำระคืนเงินต้นแตกต่างกันตามระยะเวลาตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 3 ปี โดยมีกำหนดการจ่ายชำระเงินต้นคืนเมื่อถึงวันสิ้นสุดของสัญญา มีลูกหนี้บางรายที่เมื่อถึงกำหนดจ่ายชำระเงินต้นคืนในระหว่างปี แต่บริษัทย่อยได้ขยายตารางการชำระหนี้ให้ลูกหนี้เหล่านั้นออกไปอีก 2-3 ปี โดยยอดเงินให้กู้ยืมที่มีการแก้ไขสัญญาขยายตารางการชำระหนี้มีจำนวนประมาณ 2,129 ล้านบาท (59 ล้านเหรียญสหรัฐ)

ทั้ง 2 ข้อนี้แหละ ทำให้เกิดคำถามว่าด้วย “ความโปร่งใส” ของธุรกรรม GL ที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่โดยพฤตินัย ขึ้นมาทันที

GL ไม่ได้ทำธุรกรรมปล่อยสินเชื่อปกติเสียแล้ว แต่กำลังทำธุรกรรม “แครี่เทรดข้ามชาติ” อย่างไม่ต้องสงสัย…

ญี่ปุ่นคือ ต้นกำเนิดของธุรกรรม แครี่ เทรดข้ามชาติ โดย เริ่มต้นจากการทำ เยน แครี่ เทรด เมื่อ 3 ทศวรรษก่อน กู้ยืมดอกเบี้ยในญี่ปุ่นที่ต่ำมาก ไปหากำไรจากตลาดที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงผ่านตลาดตราสารหนี้ ตลาดหุ้น และตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างประเทศ

ไม่แปลกอะไร หากว่ามรดกจากเยน แครี่เทรด หลายทศวรรษก่อน จะตกทอดและถูกดัดแปลงโดยผู้บริหารของ GL…ก็ “ม้าแก่ชำนาญทาง”…นี่นา

คำถามเลยไปถึงว่า การที่หุ้นของ GL วิ่งสวนตลาด จากระดับปลายปี 2558 ที่ระดับ 18 บาท มาเป็น เหนือ 55 บาท (กว่า 3.5 เท่า) ในปีที่ผ่านมา เกิดจากวาระซ่อนเร้นอะไรบางอย่าง…อ๊ะป่าว!!!

หรือจะเข้าทำนอง “อัฐยายซื้อขนมยาย” กินกำไรหลายต่อ…รวมทั้งราคาหุ้น

ราคาหุ้น GL ร่วงเหมือนใบไม้หลุดจากขั้ว 5 วันรวด หลังจากตลาดรู้เรื่องหมายเหตุผู้สอบบัญชี นับตั้งแต่ 1 มีนาคมที่ระดับ 56 บาท มาถึงล่าสุดที่ 48.00 บาท วานนี้

แม้ผู้บริหารญี่ปุ่นอย่างนายมิทซึจิ โคโนชิตะ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร จะให้บริษัทประชาสัมพันธ์ไทย “อมพระ” ออกมา “แก้ต่าง” ว่าไม่มีปัญหาอะไร…แต่ใครเลยจะเชื่อ

ยามนี้ วิกฤตศรัทธา ทำให้นักลงทุนพากันทิ้งหุ้น GL แบบ “กามิกาเซ่” …เพราะเลิกไว้วางใจกับ โมเดลธุรกิจ “แครี่เทรด “อองเซน”…เสียแล้วน่ะสิ

“อิ อิ อิ”

Back to top button