เศษเนื้อข้างเขียง
ทำงานในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ธุรกิจมาเกือบทุกตำแหน่งตลอดเวลา 34 ปี จนกระทั่งต้องมาดูแลข่าวเรื่องความผิดปกติของหมายเหตุประกอบงบการเงินโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาตของบริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) ล่าสุด เกิดมีถ้อยคำหนึ่งที่หลุดเข้ามาชั่ววูบในความทรงจำ ที่ได้เห็นปฏิกิริยาจากคนที่เกี่ยวข้องกับ “สงครามชิงพื้นที่ข่าว” ในเรื่องนี้
พลวัต 2017 : วิษณุ โชลิตกุล
ทำงานในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ธุรกิจมาเกือบทุกตำแหน่งตลอดเวลา 34 ปี จนกระทั่งต้องมาดูแลข่าวเรื่องความผิดปกติของหมายเหตุประกอบงบการเงินโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาตของบริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) ล่าสุด เกิดมีถ้อยคำหนึ่งที่หลุดเข้ามาชั่ววูบในความทรงจำ ที่ได้เห็นปฏิกิริยาจากคนที่เกี่ยวข้องกับ “สงครามชิงพื้นที่ข่าว” ในเรื่องนี้
นั่นคือ คำว่า เศษเนื้อข้างเขียง ซึ่งใช้สำหรับดูหมิ่นกันอย่างตรงไปตรงมา
ทันทีที่ข่าวดังกล่าวถูกนำเสนอออกไป และมีผลต่อราคาหุ้นของบริษัทดังกล่าวค่อนข้างรุนแรง ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นทันที มาจากคนที่เกี่ยวข้องโดยตรงและอ้อมหลายทางพร้อมกันคือ 1) ผู้บริหารบริษัทที่ตกเป็นข่าว 2) บริษัทรับจ้างทำประชาสัมพันธ์ให้กับบริษัทที่ตกเป็นข่าว 3) นักวิเคราะห์หุ้นที่เคยเชียร์กันแหลกลาญ 4) สื่อมวลชนร่วมอาชีพเดียวกันและเป็น “คู่แข่งเสมือน” ในธุรกิจเดียวกัน
กลุ่มแรกสุด ไม่มีปัญหาที่ต้องพยายามแก้ต่าง ด้วยการออกมาปฏิเสธว่าข้อมูลที่นำเสนอไม่เป็นความจริง บิดเบือน และไม่น่าเชื่อถือ
กลุ่มที่สอง ก็ต้องขานรับกลุ่มแรกโดยแต่งเติมข้อมูลและถ้อยคำใหม่ๆ เพื่อที่จะทำลายความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่นำเสนอเพื่อเอาใจนายจ้างของตนเอง
กลุ่มที่สาม ต้องออกมา ทบทวนท่าที หรือปกป้องท่าทีในการวิเคราะห์เดิมของตนเองตามจินตนาการและข้อมูลที่มีอยู่
กลุ่มสุดท้าย หาทางจับผิดข้อมูลที่นำเสนอ หรือพลอยพยักทำตนเป็นผู้ช่วยแก้ต่างให้กับกลุ่มแรก โดยไม่ใส่ใจกับการติดตามหาข้อมูลและข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า ความเห็นของผู้สอบบัญชีในงบการเงินมีเบื้องหน้าเบื้องหลังเช่นใด
ปฏิกิริยาเหล่านี้เป็นเรื่องปกติที่เข้าใจได้ และชาชินเสียแล้ว แต่บรรยากาศของการทำงานในสัปดาห์ที่ผ่านมาทำให้ได้ข้อสรุปว่า การทำงานปัจจุบันในพื้นที่สื่อที่ต้องการแสวงหาและเปิดโปงข้อเท็จจริงที่มีคนสรุปว่า มีความผิดปกติไปจาก “ปทัสถาน” นั้น ไม่เพียงแต่ยากกว่าเดิมในยุคที่ข้อมูลท่วมล้นเท่านั้น แต่ยังต้องหาทางสร้างเครื่องมือ “ป้องกันตัวเอง” จากคนรอบข้างที่ “มองหน้าไม่รู้ใจ” พร้อมกันไป กลายเป็นสิ่งจำเป็น
คนสองกลุ่มแรกนั้น เมื่อเกิดข่าวลบขึ้นมา การแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ ไม่ว่าจะเกินจริงหรือเหนือจริง เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ และไม่แปลก เพราะมีผลประโยชน์และเดิมพันที่ต้องการปกป้อง คนทั้งสองกลุ่มนี้ เป็นพันธมิตรในการตอบโต้ที่ตรงไปตรงมา ซึ่งมีวิธีการง่ายๆ และซ้ำซาก นั่นคือ 1) ปฏิเสธไม่ยอมรับข้อมูลทางลบ 2) สร้างข้อมูลทางบวกทั้งของเดิมและใหม่ขึ้นมาหักล้างข้อมูลเชิงลบ 3) หาเหตุผลทำลายล้างความน่าเชื่อถือของข้อมูลเชิงลบ 4) โจมตีผู้ที่นำเสนอข้อมูลเชิงลบว่า ไม่ปรารถนาดี และไม่น่าเชื่อถือ
คนกลุ่มที่สาม และสี่ นี่แหละที่น่าสนใจว่า แม้ไม่มีประโยชน์หรือส่วนได้เสียโดยตรง แต่หลายคนในกลุ่มนี้ มีพฤติกรรมชวนให้ตั้งคำถามว่า ทำไมชอบกิน “เศษเนื้อข้างเขียง” ในระดับเกินธรรมดา
นักวิเคราะห์นั้น แม้จะมีข้อมูลและวิธีการศึกษาและสรุปที่คล้ายคลึงกัน หรือแตกต่างกันไม่มาก แต่สิ่งที่แยกแยะประเภทนักวิเคราะห์ออกจากกันเป็น 3 กลุ่มหยาบๆ คือ ชุดความคิดเบื้องหลังการวิเคราะห์ ซึ่งประกอบด้วย
- กลุ่มมองโลกในแง่ร้าย (ขาทุบ) มักจะมองเห็นว่าราคาหุ้นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นราคาที่สูงเกินพื้นฐาน จึงไม่แนะนำให้ซื้อเว้นแต่ราคาจะร่วงลงมาเสียก่อน
- กลุ่มมองโลกในแง่บวก (ขาเชียร์) มักจะมองเห็นราคาหุ้นมีโอกาสบวกขึ้นไปได้ตลอดเวลาในทุกสถานการณ์
- กลุ่มตามกระแส ลมเพลมพัด ไม่มีหลักในการคิดเท่าใดนัก การเลือกหุ้นมาวิเคราะห์ เป็นตามหน้าที่ หรือตามกระแส มีสภาพเป็นไม้หลักปักเลน
โจทย์สำคัญคือนักวิเคราะห์กลุ่มไหนน่าเชื่อถือมากกว่ากัน ก็มักจะมีคำตอบว่าขึ้นกับสถานการณ์ เพราะนักวิเคราะห์นั้นถือเป็น “ศาสดาปลอมร่วมสมัย” ดังที่วอร์เรน บัฟเฟตต์ เคยสรุปเอาไว้นานแล้วว่า ตลาดหุ้นเป็นตลาดที่แปลก เพราะคนรวยยอมตนไปถามคนกินเงินเดือนประจำว่า ทำเช่นใดถึงจะรวยมากกว่าเดิม
คนกลุ่มสุดท้าย เป็นคนในวิชาชีพสื่อเดียวกันนี้ ที่หลายคนไม่เพียงแต่หลงลืมไปแล้วว่าวิชาชีพที่ทำกันอยู่นั้น เป็นมากกว่าการ “ทำและรายงานข่าว” แต่ยังทำตนไร้ศักดิ์ศรีของวิชาชีพ เป็น “บ่าง” หรือ “ขุนพลอยพยัก” โดยไม่ใส่ใจกับการค้นหาข้อเท็จจริงเบื้องหลังความผิดปกติด้านพฤติรรมของคนบน “พื้นที่รับผิดชอบ” ของภารกิจ
บางคนเลวกว่านั้น ทันทีที่เห็นสื่อต่างสังกัดนำเสนอข่าวที่ตนไม่สามารถเข้าถึง หรือเข้าใจได้ ก็ตัดสินใจกระทำคือ สมคบคิดหักล้างความน่าเชื่อถือของข้อมูลดังกล่าวโดยไม่รั้งรอ ด้วยการเลือกนำเสนอข้อมูลตรงกันข้ามเพียงเพราะว่า หวังว่าจะมี “เศษเนื้อข้างเขียง” โยนมาให้บ้าง
บางคนอาจจะไม่กระทำประเจิดประเจ้อ แต่เลือกเอาการ “ซุ่ม” ไม่เอ่ยถึง เสมือนหนึ่งไม่สำคัญ รนหาที่ ไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น และรอจังหวะว่าท้ายที่สุดแล้วฝ่ายไหนจะเพลี่ยงพล้ำ จากนั้นก็ค่อยชิงจังหวะออกมารุมกระทืบซ้ำ หรือเยาะเย้ยถากถาง
ปรากฏการณ์แบบนี้ แม้จะซ้ำซากและเลี่ยงไม่พ้นจากการทำงานในวิชาชีพที่ต้องเจอกับ “แรงเสียดทาน” ตลอดเวลา ก็ชวนให้เกิดคำถาม “ชวนท้อ” ดังนี้
- ภารกิจในการสืบค้นหาความผิดปกติของข้อมูลข่าวสาร อันเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของวิชาชีพสื่อ โดยเฉพาะสื่อธุรกิจนั้น จำเป็นหรือไม่ (หรือควรจะเป็นภารกิจเฉพาะของ ก.ล.ต.หรือตลาดหลักทรัพย์ฯ เท่านั้น) หากสังคมโดยรวมต้องการความจริง น้อยกว่าผลประโยชน์เฉพาะหน้าของคนบางคน
- การอยู่รอดในสังคมที่เต็มไปด้วยคนในวิชาชีพเดียวกันบางคนมีคุณสมบัติชมชอบ “เศษเนื้อข้างเขียง” นั้น ควรดำรงตนอย่างไรให้มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมให้มากที่สุด โดยไม่ใช่เป็นการ “เอาหัวชนกำแพง”
เมื่อความทรงจำชั่ววูบผ่านไป ก็ถึงเวลาตั้งสติขอบคุณตนเองว่า ดีที่ไม่หลงไปอยู่ในองค์กรที่ชอบ “เศษเนื้อข้างเขียง” เหมือนคนบางคน