พาราสาวะถีอรชุน

เผยโฉมมาเรียบร้อยแล้วสำหรับคำสั่งตามการใช้อำนาจมาตรา 44 ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคสช. เป็นคำสั่งฉบับที่ 3/2558 มีทั้งหมด 14 ข้อ พอมองกันอย่างละเอียดแล้ว ไม่มีอะไรแตกต่างไปจากกฎอัยการศึก เพียงแต่เปลี่ยนบริบทในการใช้ จากที่มีขั้นมีตอนมาก มาเป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์คนเดียวเพียวๆ


เผยโฉมมาเรียบร้อยแล้วสำหรับคำสั่งตามการใช้อำนาจมาตรา 44 ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคสช. เป็นคำสั่งฉบับที่ 3/2558 มีทั้งหมด 14 ข้อ พอมองกันอย่างละเอียดแล้ว ไม่มีอะไรแตกต่างไปจากกฎอัยการศึก เพียงแต่เปลี่ยนบริบทในการใช้ จากที่มีขั้นมีตอนมาก มาเป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์คนเดียวเพียวๆ

คงได้ลุ้นกันเสียวไปทุกฝ่าย ใครที่ทำอะไรไม่ถูกใจท่านผู้นำหากเห็นว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง กระทบกระเทือนต่อการพัฒนาประเทศ อาจจะถูกเรียกไปปรับทัศนคติได้ง่ายๆ ส่วนการตั้งข้อหาพร้อมด้วยการดำเนินคดีนั้น ก็สุดแท้แต่ว่าเจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติงานซึ่งในที่นี้หมายถึงทหารจะวินิจฉัยว่าเป็นเช่นใด โดยที่ผู้ปฏิบัติงานไม่มีโทษหรือความผิดด้วย

หลังจากที่ได้เห็นหน้าค่าตากันแล้ว คนที่คุมงานด้านความมั่นคงต่างดาหน้าออกมายืนยันว่า ไม่มีการใช้อำนาจตามอำเภอใจแน่นอน ที่กระชุ่นกำชับว่าเป็นอำนาจของคสช.ล้วนๆ ก็คือ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ด้าน อนุสิษฐ คุณากร เลขาธิการสมช.ก็ยืนยัน ฝ่ายความมั่นคงไม่ได้มองประชาชนเป็นศัตรู คนนี้พูดก็พอจะรับฟังได้ แต่ถ้าเป็นเลขาฯ คนก่อนต้องเชื่อในทางตรงข้าม

ด้วยเหตุที่มีการใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดนี่เอง ทำให้สื่อต่างชาติหลายสำนัก พาดหัวไปในทิศทางเดียวกัน โดยซีเอ็นเอ็นบอกประเทศไทยเลิกกฎอัยการศึกเพื่ออำนาจแบบไร้ขีดจำกัดหรืออันลิมิเต็ดสำหรับผู้นำทหาร ขณะที่เว็บไซต์ยูเอสนิวส์ด็อทคอมและสำนักข่าวเอพี มองในมุมเดียวกัน รัฐบาลทหารไทยแทนที่กฎอัยการศึกด้วยอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ หรือ แอ๊บโซลูต พาวเวอร์

ไม่รู้จะเข้าทางเหมือนที่บางคนเคยบอกไว้ก่อนหน้าหรือเปล่า นี่คือการตบตานานาชาติ เพราะท้ายที่สุด แม้ไม่มีกฎอัยการศึกแล้วแต่อำนาจที่บังคับใช้กลับดูรุนแรงและหนักหน่วงกว่า ผลดีจะตามมาในแง่ความเชื่อมั่นหรือไม่ ต้องรอดูตัวเลขของนักท่องเที่ยวต่างชาติว่าจะกระเตื้องขึ้นมาหรือเปล่านับจากนี้ ถ้ายังไม่มีสัญญาณบวกคงต้องทบทวนกันขนานใหญ่

อย่างไรก็ตาม ความเห็นของ พิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล อดีตส.ส.กระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ก็น่ารับฟัง ไม่ได้ขึ้นอยู่ที่จะใช้อำนาจแบบไหน ปฏิบัติอย่างไร แต่อยู่ที่ข้อความเนื้อหา ซึ่งพูดออกไปและได้เผยแพร่ไปแล้วทั่วสังคมโลกว่า “เราเป็นเผด็จการ” คือกำลังจะใช้มาตรา 44 มีอำนาจอยู่เหนือทั้งรัฐธรรมนูญ นิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ

เมื่อประชาคมโลกไม่ยอมรับ นั่นหมายถึงการกีดกันด้านการท่องเที่ยว ขณะที่บิ๊กตู่บอกว่า คนไทยเดือดร้อนตรงไหน ก็ถือเป็นคำพูดที่ไม่สร้างสรรค์ เพราะอย่างไรเสียคนไทยทั้งหมดก็ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของประเทศ สิ่งสำคัญในสายตาของพิเชษฐก็คือ ในสังคมประชาธิปไตยโลก เขามองว่า ไม่มีประเทศใดสามารถแก้ปัญหาการรัฐประหารได้ และก็ไม่มีทางเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อปกป้องการฉีกรัฐธรรมนูญรอบต่อไปได้ เช่นกัน

แนวทางเดียวที่ประชาคมโลกจะใช้ โดยมีอียูและสหรัฐอเมริกาเป็นหัวหอกก็คือ จะทำทุกวิถีทาง เพื่อกดดันประเทศที่มีการปฏิวัติรัฐประหารจนอยู่ไม่ได้ ยับเยินเหมือนที่เคยทำกับพม่ามาแล้ว เป็นการแสดงความเห็นที่แข็งกร้าวผิดกับคนในพรรคเก่าแก่หลายๆ รายที่ยังแอบชื่นชมคนยึดอำนาจ ด้วยยังแอบหวังลึกๆ ว่าจะได้รับอานิสงส์จากการรัฐประหาร

อดีตรัฐมนตรีช่วยคลัง ยืนยันว่า พูดเพื่อประโยชน์กับประเทศและวางมือทางการเมืองแล้ว ไม่กลัวหน้าไหนทั้งสิ้น การเมืองในระบอบประชาธิปไตย ต้องเคารพการเลือกตั้ง ไม่ว่าการเลือกตั้งจะระยำตำบอนแค่ไหน แต่ก็ต้องแก้ปัญหาโดยตัวมันเองด้วยการเลือกตั้ง ไม่ใช่มาเขียนรัฐธรรมนูญตัดระบบเลือกตั้งออกไป ทั้งที่นี่คือหัวใจสำคัญของระบอบประชาธิปไตยอันเป็นสากล

ไม่เพียงเท่านั้นยังมีการฉายภาพที่พลเอกประยุทธ์ทำท่าติดกระดุมผิดเม็ดให้นักข่าวดูด้วยว่า ภาพนั้นยังไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่กำลังเกิดขึ้น เพราะกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังทำกันอยู่ ไม่ใช่แค่ติดกระดุมผิดเม็ด หากแต่หนักข้อถึงขั้นที่กำลังจะเอากระดุมไปกลัดซิปกางเกงเลยทีเดียว ถ้ามีใจที่ไม่อคติสมควรต้องรับฟังและพิจารณาดูว่าเป็นเช่นนั้นหรือไม่

เช่นเดียวกันกับที่บิ๊กตู่ชอบขู่นักข่าวอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะการยกตัวอย่างอำนาจตามมาตรา 44 ถึงขั้นสั่งปิดสื่อหรือยิงเป้าก็ได้ คนไทยอาจมองเป็นเรื่องของการหยอกล้อ (ที่ดุดันไปหน่อย) แต่ฝรั่งต่างชาติเขาไม่ได้มองเช่นนั้น เหมือนอย่าง  เดวิด ไคย์ ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก ซึ่งอยู่ที่นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์

ได้เผยแพร่ใบแถลงข่าวเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแสดงตัวออกห่างอย่างชัดเจนต่อถ้อยคำคุกคามเสรีภาพสื่อของผู้นำรัฐบาลไทย และดำเนินมาตรการโดยพลันเพื่ออนุญาตให้มีพื้นที่อภิปรายถกเถียงและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยในใบแถลงข่าวระบุว่าพลเอกประยุทธ์ กล่าวถึงนักข่าวที่วิพากษ์วิจารณ์ตนหรือสร้างความแตกแยกว่า อาจถูกลงโทษประหารชีวิตและกล่าวว่า “ตนมีอำนาจในการปิดสื่อทุกสื่อ จับ และยิงเป้า”

โดยมุมของไคย์ มองว่า การกล่าวถ้อยคำลักษณะเช่นนี้เป็นการกระทำที่ยอมรับไม่ได้ ไม่มีข้อมูลใดที่บ่งบอกว่าพลเอกประยุทธ์ กล่าวถ้อยคำดังกล่าวอย่างเป็นเรื่องตลก การกระทำเหล่านี้ออกแบบมาเพื่อปิดการวิพากษ์วิจารณ์และปฏิเสธมิให้พลเมืองเข้าถึงสิทธิในข้อมูลข่าวสาร ทั้งที่นักข่าวทุกๆ ประเภททำหน้าที่สำคัญที่เป็นพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย

กล่าวคือ ฉายภาพให้เห็นว่ารัฐบาลได้ปฏิบัติงานสอดคล้องกับหลักนิติธรรมหรือมีความเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชั่นและละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ การข่มขู่คุกคามนักข่าวจึงเป็นการโจมตีสิทธิของสาธารณะที่จะได้รับรู้ข้อมูล ไม่เพียงเท่านั้น ผู้รายงานพิเศษของยูเอ็นยังแสดงความกังวลต่อการใช้มาตรา 44 ของผู้นำไทยด้วย ตรงนี้แหละที่จะเป็นบทพิสูจน์ คนไทยไม่เดือดร้อนแต่ประเทศไทยจะเดือดร้อนหรือไม่ อยู่ที่การใช้อำนาจของท่านผู้นำแต่เพียงผู้เดียวจริงๆ

 

Back to top button