เศรษฐกิจ กับทิศทางหุ้นพลวัต2015

คนจำนวนไม่น้อย บอกว่าให้ล้างพอร์ตเพราะจากนี้ไปดัชนีตลาดจะต้องต่ำลงไปกว่านี้ พร้อมกับอ้างเหตุผลว่า เพราะสถานการณ์ข้างหน้าของเศรษฐกิจประเทศไทยอยู่ในภาวะถดถอย ดังนั้น หากเศรษฐกิจไทยไม่ดี ตลาดหุ้นไทย จะต้องถอยลงไปอีก


คนจำนวนไม่น้อย บอกว่าให้ล้างพอร์ตเพราะจากนี้ไปดัชนีตลาดจะต้องต่ำลงไปกว่านี้ พร้อมกับอ้างเหตุผลว่า เพราะสถานการณ์ข้างหน้าของเศรษฐกิจประเทศไทยอยู่ในภาวะถดถอย ดังนั้น หากเศรษฐกิจไทยไม่ดี ตลาดหุ้นไทย จะต้องถอยลงไปอีก

ข้อสรุปดังกล่าว ไม่ผิดเสียทีเดียว มีถูกอยู่บ้าง แต่ไม่ถูกทั้งหมด เพราะมีผลอยู่บ้าง เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างดัชนีตลาดหุ้น ราคาหุ้น และดัชนีทางเศรษฐกิจ มีรายละเอียดมากกว่าข้อสรุปหยาบๆ เช่นนี้

การพิจารณามุมมองเรื่องดัชนีตลาดและราคาหุ้น ที่แยกออกจากสุขภาพของเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ จึงเป็นอะไรบางอย่างที่ต้องอ้างว่า “พระเจ้า (ซาตาน) อยู่ในรายละเอียด”

หากมองจากภาพรวมทางเศรษฐกิจไทยภายใต้อำนาจของ คสช. และรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ยามนี้ จะพบว่ามีความห่อเหี่ยวของนักลงทุนและผู้บริโภคปรากฏโดยที่ไม่สามารถปิดบังได้

ต้นเดือนเมษายนนี้ มีผู้ที่ระบุว่า เศรษฐกิจไทยกำลังมีปัญหา 3 กลุ่ม  เริ่มต้นจาก ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมีนาคมปีนี้อยู่ที่ 77.7 จุด ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 67.1 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 72.0 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 94.0 สรุปคือ ลดลงทุกดัชนี

ก่อนหน้า 1 วัน กระทรวงพาณิชย์ก็เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรือเงินเฟ้อ เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า อยู่ที่ 106.15 ลดลง 0.52% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 0.12% เทียบกับเดือนมกราคมที่ผ่านมา และคาดว่าไตรมาสแรกเงินเฟ้อจะติดลบ 0.4%

พร้อมกันนี้ กระทรวงพาณิชย์ปรับลดประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของปีนี้ อยู่ที่ 0.6 ถึง 1.3% จากเดิม 1.8 ถึง 2.5%

การปรับประมาณการใหม่นี้ภายใต้สมมติฐานเศรษฐกิจขยายตัว 3% ราคาน้ำมันโลกเฉลี่ย 50 ถึง 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน 32 ถึง 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

อีกด้าน นายไพบูลย์ นลินทรางกูร นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยครึ่งปีแรก จะซึมยาว โดยมีแนวรับที่ 1,450 จุด เพราะคนลังเลเรื่องการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่านความเห็นชอบ และการเกิดเลือกตั้งตามกรอบเวลา จะส่งผลดีต่อตลาดหุ้นช่วงครึ่งปีหลัง แต่การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจไทยที่ปีนี้เติบโตต่ำกว่าศักยภาพเป็นปีที่ 2 โดยจะขยายตัวได้ 3% เพราะการส่งออกต่ำกว่าที่คาด

ฟังแล้วค่อนข้างวังเวงพอสมควร เพราะคนที่พูดเรื่องเหล่านี้ ล้วนเป็นผู้ที่ไม่ได้คิดต่างจากรัฐบาลแต่อย่างใด คงไม่ได้มีเจตนาร้ายต้องการถล่มใครในเชิงอำนาจ

คำถามตามมาคือ หากเศรษฐกิจไทยย่ำแย่ (โดยไม่ต้องเถียงกันว่าเงินฝืด (deflation) หรือเงินเฟ้อถดถอย (disinflation) ให้เสียเวลา) ดัชนีตลาดหุ้นไทยจะวิ่งไปเหนือแนวต้านเดิมที่เหนือ 1,600 จุดได้ในสิ้นปีนี้หรือไม่ และในทางกลับกับ หากดัชนีตลาดหุ้นไทยเป็นภาพสะท้อนที่ดีของเศรษฐกิจไทย แล้วดัชนีเกิดทะลุแนวต้าน 1,600 จุดได้ เศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นจริงหรือ

คำถามดังกล่าวเปรียบได้กับคำถามอมตะ ไก่หรือไข่ อย่างไหนเกิดก่อนกัน ซึ่งเถียงกันให้ตายก็ไม่จบ

ในทางทฤษฎี ความสัมพันธ์ระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจจะต้องสะท้อนออกมาในดัชนีตลาด เพราะเศรษฐกิจดี บริษัทจดทะเบียนจะมีกำไรมาก และหากเศรษฐกิจแย่ กำไรบริษัทจะแย่ลง เป็นเรื่องปกติ แต่ในทางปฏิบัติไม่เป็นเช่นนี้เสมอไป

ความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างแน่นอนและมักจะไปด้วยกันเสมอคือ ดัชนีทางเศรษฐกิจ กับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน เพราะเมื่อดัชนีทางเศรษฐกิจสวย แสดงว่านักลงทุนมีเงินในกระเป๋ามากขึ้น หรือผู้บริโภคมีกำลังซื้อมากขึ้น ในทางกลับกัน หากดัชนีเศรษฐกิจแย่นักลงทุนก็มีเงินในกระเป๋าน้อยลง และผู้บริโภคจับจ่ายน้อยลง นั่นมีผลต่อตลาดหุ้นพอสมควร แต่ไม่ใช่ทั้งหมดในการชี้นำทิศทางของดัชนีตลาดหรือราคาหุ้น

กรณีแบล็ก มันเดย์ ปี ค.ศ. 1987 ซึ่งดัชนีตลาดหุ้นนิวยอร์กพังพินาศ ก็เกิดขึ้นในช่วงเศรษฐกิจเป็นขาขึ้น เป็นตัวอย่างที่ดี ว่าหากแม้นเศรษฐกิจดี ตลาดหุ้นก็พังได้

ในมุมมกลับ ประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมาก ที่เศรษฐกิจทำท่าร่อแร่เพราะปัญหาสารพัด แต่ดัชนีตลาดและราคาหุ้นหลักในตลาด ทำนิวไฮครั้งแล้วครั้งเล่า สร้างสถิติช่วงขาขึ้นได้สวยงาม เกินพื้นฐานไปมาก ก็เป็นตัวอย่างที่สะท้อนว่า ราคาหุ้นดี ก็ใช่ว่าจะสะท้อนเศรษฐกิจเสมอไป

 ยิ่งในปัจจุบัน มีเครื่องมือการเงินและวิศวกรรมการเงิน รวมทั้งข้อมูลข่าวสารต่างๆ ทำให้ราคาหุ้นสามารถวิ่งขึ้นได้โดยไม่ต้องรอตัวเลขเศรษฐกิจมาสนับสนุน และขึ้นไปโดยที่พื้นฐานไม่ได้ดีเด่อะไร แต่นั่นก็ไมได้หมายความว่าราคาหุ่นจะวิ่งขึ้นโดยไม่มีขีดจำกัด เพราะนั่นคือฟองสบู่ราคาหุ้นที่วันหนึ่งจะต้องพัง

สัดส่วนทางการเงิน จึงมีไว้ใช้อ้างอิง และดัชนีเศรษฐกิจ เป็นเหตุผลสนับสนุน แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นตัวแปรชี้ขาดการวิ่งขึ้นหรือลงของราคาหุ้น

เวลาที่มีคนบอกว่าเศรษฐกิจแย่ แล้วต้องขายหุ้น อาจจะเสียของ และกลับกัน มีคนบอกว่าหุ้นกำลังวิ่ง เศรษฐกิจไทยจะพุ่งแรง จึงไม่ควรเชื่อเสียทั้งหมด ต้องชั่งน้ำหนักดูปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย

Back to top button