ไทยในมุมมองธนาคารโลก
เมื่อวานนี้ สำนักงานธนาคารโลก ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในกรุงเทพฯ เสนอรายงานเกี่ยวกับอนาคตเศรษฐกิจไทยเอาไว้น่าสนใจ
พลวัต 2017 : วิษณุ โชลิตกุล
เมื่อวานนี้ สำนักงานธนาคารโลก ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในกรุงเทพฯ เสนอรายงานเกี่ยวกับอนาคตเศรษฐกิจไทยเอาไว้น่าสนใจ
รายงานเรื่อง “กลับสู่เส้นทาง : ฟื้นฟูการเติบโตและประกันความมั่งคั่งสำหรับทุกคน” เป็นการวิเคราะห์แนวทางการพัฒนาประเทศอย่างเป็นระบบเล่มแรกของไทย มีการประเมินความท้าทายและโอกาสของประเทศไทยในการกำจัดความยากจนและกระจายความมั่งคั่งอย่างทั่วถึง
ความจริงแล้ว รายงานของธนาคารโลกในหลายปีมานี้ ลดอิทธิพลลงอย่างมากในสายตาของคนไทย ด้วย 2 เหตุผลหลักคือ 1) ธนาคารโลกไม่ได้เป็นเจ้าหนี้รายสำคัญสำหรับรัฐบาลไทยอีกต่อไปแล้ว เนื่องจากพัฒนาการเศรษฐกิจไทย ทำให้ไทยเป็น “เจ้าหนี้สุทธิ” ต่างจากอดีตที่ยังเป็น “ลูกหนี้สุทธิ” 2) มุมมองของปัญญาชนไทยต่อธนาคารโลกเปลี่ยนไปอย่างมาก เพราะไม่ได้เน้นไปที่แนวคิดด้านเศรษฐศาสตร์พัฒนาการ เป็นหลักเหมือนเดิม
แม้จะลดอิทธิพลลงไปมากมาย แต่ภารกิจของธนาคารโลกในการนำเสนอมุมมองต่อชาติสมาชิกของสหประชาชาติอย่างไทยก็ยังคงมีต่อไปตามเดิม และถือว่าเป็นความเห็นที่ไม่ควรมองข้ามไปหรือด่วนปฏิเสธ
ปีนี้ ธนาคารโลกยังคงใช้มุมมองว่า ไทยยังคงต้องเผชิญกับ “กับดักชาติรายได้เป็นกลาง” หรือ Middle-iNcome Trap ต่อไปเหมือนในรอบหลายปีนี้ และมีข้อสรุปของรายงานเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยน่าสนใจว่า
- ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูง แต่การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงหลังได้ชะลอตัวลง โดยในปี 2557 ประเทศไทยยังคงมีคนยากจนอยู่ 1 ล้านคน และอีก 6.7 ล้านคน มีความเสี่ยงที่จะกลับไปเป็นคนยากจนได้อีก
- คนจนส่วนใหญ่ของไทย กระจุกตัวอยู่ใน 3 ภาค คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
- ช่องว่างระหว่างคนกรุงเทพฯ กับคนชนบทกว้างมากขึ้นทั้งในแง่ของระดับรายได้ครัวเรือน การใช้จ่าย การศึกษา ทักษะ และผลิตภาพ
- การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยชะลอตัวลงเหลือปีละประมาณ 3% ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา (ปี 48-58) ซึ่งหากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยอยู่ในระดับนี้ ประเทศไทยต้องใช้เวลาอีก 20 ปี เพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็นประเทศที่มีรายได้สูง
- ปัจจัยหลักที่เคยทำให้ความยากจนของสังคมไทยลดลงในอดีต กลับไม่ได้ผลลัพธ์เช่นเดิมในปัจจุบัน เช่น ราคาสินค้าเกษตรของไทยเคยเพิ่มสูงเป็นประวัติการณ์ส่งผลให้เกษตรกรในอดีตมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ปัจจุบันราคาเฉลี่ยลดลงถึง 13% การเติบโตของผลิตภาพแรงงานก็ลดลงจากเดิมที่ 8% ในปี 29-39 ลงมาเหลือ 2.6% ในปี 2547-57 ส่วนการส่งออกจากเดิมที่เคยอยู่ที่ 15% ในปี 2529-39 ก็ลดลงเหลือน้อยกว่า 1% ในปี 2555-57
- เพื่อนบ้านในอาเซียน เช่น กัมพูชา และเวียดนาม พัฒนาขีดความสามารถของตนเองไล่ตามไทยได้ทันมากขึ้นต่อเนื่อง ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา นวัตกรรม ความพร้อมด้านเทคโนโลยี และการดำเนินธุรกิจที่มีความซับซ้อน ในขณะที่อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยได้ลดลงเหลือ 3% ในช่วงปี 2548-58 ซึ่งชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนยังคงดีขึ้นแต่ในอัตราที่ช้าลง และช้ากว่าประเทศอื่น
ภาพรวมข้างต้นของเศรษฐกิจประเทศไทยในสายตาของธนาคารโลก จึงยังไม่เข้าสู่เส้นทางที่ควรจะเป็นในการยกระดับศักยภาพการเติบโต
ทางออกจากกับดักการเติบโตดังกล่าว ทำให้ข้อเสนอของธนาคารโลก ระบุว่า ไทยต้องเลิก “กลัดกระดุมผิด” โดยเริ่มดำเนินการตาม 3 แนวทางหลักที่เป็นข้อเสนอ ซึ่งขึ้นกับรัฐบาลไทยและประชาชนไทยจะนำไปปฏิบัติหรือไม่สุดแท้แต่ ซึ่งประกอบด้วย
- สร้างงานที่ดีและมีคุณภาพเพิ่มขึ้น โดยการกระตุ้นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน, เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันผ่านข้อตกลงการค้าเสรีและการลดกฎระเบียบข้อบังคับ, เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สำคัญ
- จัดการสนับสนุนให้ตรงเป้าหมายของกลุ่มครัวเรือนในระดับที่ยากจนสุด เช่น การพัฒนาคุณภาพการศึกษาทั้งระบบและเพิ่มทักษะของกำลังแรงงาน, ดำเนินนโยบายที่มีประสิทธิภาพเพื่อเพิ่มผลิตภาพทางการเกษตร, สร้างระบบความคุ้มครองทางสังคมที่ฉลาด และมุ่งเน้นการให้ความคุ้มครองแก่คนยากจน
- ส่งเสริมการเติบโตที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยจัดการแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, ลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งการส่งเสริมการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพและสะอาด
นอกจาก 3 แนวทางข้างต้น ธนาคารโลกยังให้ความสำคัญกับ การปฏิรูปการศึกษา และเสริมความแข็งแกร่งให้แก่องค์กรภาครัฐ เพื่อดำเนินการ เป็นปัจจัยเสริมสำคัญ
ข้อเสนอดังกล่าว อาจจะกลายเป็นแค่ “สายลมที่ผ่านเลย” ธรรมดา ทั้งที่ว่าตามข้อเท็จจริงแล้ว มีส่วนถูกต้องไม่น้อย แต่ก็ถือว่ายังไม่ครบถ้วนอย่างบูรณาการ เพราะข้อเสนอแนะทั้ง 3 ข้อนั้น บางข้อไม่สามารถปฏิบัติได้ด้วยเงื่อนไขบางประการ บางข้อต้องการเวลาในการดำเนินการ และบางข้อต้องการ “ความกล้าหาญทางการเมือง” อย่างมากเป็นพิเศษ
ส่วนสำคัญคือ สิ่งที่ธนาคารโลกพูดมาทั้งหมด ไม่ได้มีข้อเสนอใหม่หมดจดมากนัก เป็นเพียงการตอกย้ำเรื่องและประเด็นที่ “รู้กันอยู่” ตามวาระเท่านั้นเอง
อิทธิพลของธนาคารโลกที่ลดลง ก็ทำให้น้ำหนักของข้อเสนอเบาบางลงตามไปด้วย เป็นเรื่องปกติ