พาราสาวะถี

เป็นประเด็นที่เชื่อว่าจะมีปมให้ถกเถียงกันหลายแง่มุม ฝ่ายสนับสนุน ทักษิณ ชินวัตร ย่อมเห็นเป็นการกลั่นแกล้งและต้องการกลบกระแสข่าวด้านลบของรัฐบาลคสช. ขณะที่ฝ่ายเชียร์คณะรัฐประหารและเป็นกองแช่งนายใหญ่ก็ต่างพากันยกมือสาธุ หนุนให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมสรรพากรเดินหน้าจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้นชินคอร์ปอย่างเต็มที่


อรชุน

 

เป็นประเด็นที่เชื่อว่าจะมีปมให้ถกเถียงกันหลายแง่มุม ฝ่ายสนับสนุน ทักษิณ ชินวัตร ย่อมเห็นเป็นการกลั่นแกล้งและต้องการกลบกระแสข่าวด้านลบของรัฐบาลคสช. ขณะที่ฝ่ายเชียร์คณะรัฐประหารและเป็นกองแช่งนายใหญ่ก็ต่างพากันยกมือสาธุ หนุนให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมสรรพากรเดินหน้าจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้นชินคอร์ปอย่างเต็มที่

แต่นั่นคงไม่ใช่สาระสำคัญเท่ากับบทสรุปของข้อกฎหมายที่จะต้องต่อสู้กันในกระบวนการยุติธรรมตามเหตุผลของรัฐบาลที่ยกขึ้นมากล่าวอ้าง แน่นอนแล้วว่ามุมของข้อกฎหมาย วิษณุ เครืองาม เนติบริกรของคณะรัฐประหารและรัฐนาวาแป๊ะ อธิบายขั้นตอนของการดำเนินการ หลังจากเงื้อง่าราคาแพงกันมาระยะหนึ่ง จนต้องอาศัยสตง.มาเป็นตัวเปิดเกมอ้างใช้มาตรา 157 เล่นงาน จนเป็นบทสรุปจากที่ประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจของรัฐบาลเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

วิษณุบอกว่าจากนี้ กรมสรรพากรจะชี้แจงวิธีการเรียกเก็บภาษีจากทักษิณ โดยคาดว่าจะประเมินเสร็จก่อนวันที่ 31 มีนาคมนี้ (มันก็ต้องเป็นเช่นนั้นอยู่แล้วและอาจเสร็จแล้วก็ได้) ก่อนส่งไปให้เจ้าตัวดู จะทำให้อายุความจบแล้วนับ 1 ใหม่ในคดีแพ่ง พร้อมกับเปิดโอกาสให้ผู้เสียหายยื่นเรื่องอุทธรณ์ได้ใน 30 วัน และไม่มีมาตรการพิเศษคุ้มครองเจ้าหน้าที่ที่จะโดนฟ้องกลับ

ตามเหลี่ยมคูและด้วยเหตุการณ์นี้ถูกจับตาดูอยู่ว่าไม่ใช่เรื่องปกติ วิษณุจึงอธิบายต่อไปว่า การพลิกเกมดำเนินการกับนายใหญ่นั้น ต้องใช้คำว่าอภินิหาร เพราะการเดินเกมดังกล่าวเป็นเหตุเจอช่องทางที่ควรลองเสี่ยงเพื่อให้ศาลตีความ (หากเป็นรัฐบาลปกติคนคงเชื่อได้สนิทใจกว่านี้) ก่อนจะชี้ว่าการเรียกเก็บภาษีดังกล่าวเป็นคนละเรื่องกับที่กรณีที่ทักษิณถูกยึดทรัพย์

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากท่าทีของกรมสรรพกรก่อนหน้านั้นเป็นเหมือนหนังคนละม้วนกับสิ่งที่บิ๊กตู่และวิษณุแจกแจงในวันนี้ ดังนั้น เนติบริกรประจำรัฐบาลจึงต้องออกมากางปีกปกป้องกรมสรรพากร โดยอ้างว่ามีเหตุผลที่ไม่ดำเนินการ โดยที่กระทรวงการคลังจะต้องตั้งคณะกรรมการสอบ ซึ่งต้องใช้เวลา แต่ย้ำประเด็นสตง.ยืนยันต้องเสียภาษี

ขณะที่ซีกรัฐบาลอธิบายมาอย่างนี้ นพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศและทนายความส่วนตัวของทักษิณ ก็ออกมาโต้แย้งว่า ตามที่ผู้นำในรัฐบาลให้สัมภาษณ์คงหมายถึงการขายหุ้นจำนวน 329.2 ล้านหุ้น ที่รวมขายให้แก่กลุ่มเทมาเส็กในปี 2549 ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการประเมินภาษีจากเงินได้ส่วนใด จากธุรกรรมตอนใดและจะอาศัยกฎหมายข้อใด

ในมุมของนพดลตั้งข้อสังเกตว่า เบื้องต้นถ้าแยกเป็นรายประเด็น เคยมีคำพิพากษาซึ่งสรุปความตอนหนึ่งได้ว่าหุ้นในชินคอร์ปจำนวนดังกล่าวที่รวมขายให้กลุ่มเทมาเส็กในปี 2549 นั้นทักษิณเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ บุคคลอื่นๆ เป็นเพียงผู้ถือหุ้นแทน ไม่ใช่เจ้าของหุ้น การขายหุ้นดังกล่าวได้ขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ไม่ได้ขายนอกตลาด

ตามกฎหมายไทยเงินได้จากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯนั้นได้รับยกเว้นภาษีตามกฎกระทรวงฉบับที่ 126 ข้อ 23 ที่ออกตามประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งกฎกระทรวงดังกล่าวนี้ใช้มานานแล้ว และใช้บังคับเป็นการทั่วไปกับทุกคน ไม่มีข้อยกเว้น ดังนั้น การขายหุ้นชินคอร์ปผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯก็อยู่ภายใต้กฎกระทรวงฉบับเดียวกันนี้ ตราบใดที่ไม่มีการแก้ไข

นอกจากเงินได้จากการขายหุ้นในตลาดจะได้รับยกเว้นภาษีแล้ว เงินได้จากการขายหุ้นชินคอร์ปและเงินปันผลจากหุ้นประมาณ 46,000 ล้านบาทก็ถูกยึดตกเป็นของแผ่นดินไปตั้งแต่ 8 ปีที่แล้ว การขายหุ้นชินคอร์ปเกิดขึ้นมาสิบปีแล้ว ผ่านมาหลายรัฐบาล แม้แต่วิษณุเองก็ยังให้สัมภาษณ์ในสื่อต่างๆ ว่า เรื่องนี้ยังไม่แน่ชัดว่าใครผิดใครถูก เพราะกรมสรรพากรระบุอาจดำเนินการไม่ได้

ด้วยเหตุนี้ นพดลจึงตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า ประเด็นในเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องอายุความว่าจะขาดหรือไม่ แต่ประเด็นหลักคือการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯได้รับยกเว้นภาษีตามกฎหมาย ดังนั้น จึงไม่เข้าใจว่าจะมีการประเมินภาษีบนพื้นฐานข้อกฎหมายใด กรมสรรพากรซึ่งเป็นหน่วยงานจัดเก็บภาษีของประเทศเป็นผู้มีความรู้เรื่องกฎหมายภาษีเป็นอย่างดี

เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงหวังว่าเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะปฏิบัติหน้าที่โดยชอบและดำเนินการเรื่องนี้ตามกฎหมายและหลักนิติธรรม และยึดหลักความเท่าเทียมเสมอภาคกับทุกคน เชื่อว่า ถ้าทุกฝ่ายทำเช่นนั้น ก็จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับการค้าและการลงทุนในประเทศได้ ซึ่งข้อเรียกร้องนี้ของนพดลดูเหมือนว่าน่าจะสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง

แน่นอนว่า ทั้งในมุมของนพดลและวิษณุ ถือเป็นประเด็นทางด้านกฎหมายที่จะต้องอาศัยการตัดสินจากศาลสถิตยุติธรรม ที่น่ากังวลใจคงเป็นประเภทลูกคู่หรือพวกเชลียร์เอาใจโดยไร้ข้อเท็จจริงหรือเหตุผลที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงอธิบายมากกว่า ดังที่เลขาธิการปปง.อย่าง พลตำรวจเอกชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล อดีตนายตำรวจที่เดินตามก้น สนธิ ลิ้มทองกุล เสนอให้ท่านผู้นำพิจารณา

โดยชัยยะบอกว่า ปปง.มีหน้าที่สนับสนุนข้อมูลในเรื่องของการติดตามทรัพย์สินของทักษิณ ซึ่งตามกฎหมายการฟอกเงินถือว่าไม่มีปัญหาอะไร เพราะหากกลายเป็นคดีฟอกเงินแล้วคดีจะไม่มีหมดอายุความ และสามารถสืบและยึดทรัพย์ย้อนหลังไปได้ ต่อให้เวลาผ่านไปแล้วหลายปีก็ตาม คำถามก็คือ คดีที่วิษณุยังตอบไม่ได้ว่าใครผิดใครถูก แล้วจะยัดเยียดให้เป็นเรื่องของการฟอกเงินเชียวหรือ

ประเด็นนี้สิ่งสำคัญต้องย้อนไปฟังพลเอกประยุทธ์ที่ย้ำกับนักข่าวว่า ไม่ใช่การกลั่นแกล้ง ไม่ใช้กฎหมายพิเศษ ทุกอย่างต้องว่ากันไปตามกระบวนการ หากยึดโยงหลักนิติธรรมก็ต้องปล่อยให้มันเดินไปสุดทาง ประเภทเสนอหน้าต้องเรียกไปกำราบอย่าให้เกิดขึ้นเด็ดขาด มันจะส่งผลสะเทือนถึงความเชื่อมั่นของรัฐบาลคสช.ที่ตอนนี้ผู้มีอำนาจน่าจะรู้ดีว่าเป็นอย่างไร คนจำพวกนายไม่ได้ว่าแต่ขี้ข้าพลอยไม่ควรจะปล่อยให้เกิดขึ้นในห้วงเวลานี้

Back to top button