ขุมทรัพย์โซโลมอน

เมื่อวานนี้ บรรดานักลงทุนประเภท “ขาเสี่ยง” พากันหอบเงินสดมากถึง 9.9 พันล้านบาท หรือ 22% ของมูลค่าตลาดรวมทั้งวัน เข้ามาเทรดหุ้นสุดฮอต GL พร้อมกับตราสารอนุพันธ์ที่โยงเข้ากับหุ้น GL ต่อเนื่องอีกวัน (อย่างหลังนี้ร้อนแรงเสียจนตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องออกโรงเตือนความเสี่ยงในการซื้อขายระหว่างวัน) จนราคาวิ่งขึ้นแตะเพดานเกือบ 30.00 บาท อันเป็นแนวต้านสำคัญของวัน แต่ก็ถูกแรงขายทุบลงมาติดพื้นที่ 16.60 บาท ทามกลางคำถามว่า นักลงทุนประเภทนี้ มีแรงจูงใจอะไร อยู่เบื้องหลังการผจญภัยเยี่ยงนี้ซ้ำๆ ซากๆ


พลวัต 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

 

เมื่อวานนี้ บรรดานักลงทุนประเภท “ขาเสี่ยง” พากันหอบเงินสดมากถึง 9.9 พันล้านบาท หรือ 22% ของมูลค่าตลาดรวมทั้งวัน เข้ามาเทรดหุ้นสุดฮอต  GL พร้อมกับตราสารอนุพันธ์ที่โยงเข้ากับหุ้น GL ต่อเนื่องอีกวัน (อย่างหลังนี้ร้อนแรงเสียจนตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องออกโรงเตือนความเสี่ยงในการซื้อขายระหว่างวัน)  จนราคาวิ่งขึ้นแตะเพดานเกือบ 30.00 บาท อันเป็นแนวต้านสำคัญของวัน แต่ก็ถูกแรงขายทุบลงมาติดพื้นที่ 16.60 บาท ทามกลางคำถามว่า นักลงทุนประเภทนี้ มีแรงจูงใจอะไร อยู่เบื้องหลังการผจญภัยเยี่ยงนี้ซ้ำๆ ซากๆ

คนเหล่านี้ดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับการไล่ราคาตามสัญญาณเทคนิคระยะสั้น มากกกว่าความสำคัญเรื่อง ความไม่ชัดเจนจากประเด็นที่ค้างคาไว้และยังตอบไม่หมดของผู้บริหารบริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) หรือ GL ซึ่งผู้สอบบัญชีของบริษัท ทิ้งไว้เป็นการบ้านให้มาขบคิดกันต่อไป

แมงเม่าระเริงไฟ ทั้งที่รู้ดีว่าจุดจบของเกมลากราคาหุ้นที่ไม่สมเหตุผลนั้น จะลงเอยอย่างไรไม่ใช่เรื่องแปลก สามารถคาดเดาได้ล่วงหน้าอยู่แล้ว เพราะแม้เตือนไปก็ป่วยการ

โดยสาระสำคัญ ความโปร่งใสของธุรกรรม GL ในการปล่อยเงินกู้เช่าซื้อมอเตอร์ไซค์นั้น ยังมีอีกหลายประเด็นที่ไม่ได้รับคำตอบชัดเจนจากฝ่ายบริหาร ถือว่าเป็นความไม่แน่นอนและความเสี่ยงที่นักลงทุนและผู้ถือหุ้นจะมีโอกาส “เสียค่าโง่เพิ่ม” จากธุรกรรมที่ “กำไรสูงผิดปกติ”  ซึ่งหากเรียงลำดับแล้ว จะมีดังต่อไปนี้คือ

  • GL ไม่ได้ปล่อยกู้ลูกค้าที่ทำธุรกิจสินเชื่อโดยตรง แต่ปล่อยผ่านบริษัทลูก GLF (กัมพูชา) และบริษัทลูกในสิงคโปร์ชื่อ GLH (สิงคโปร์) อีกต่อหนึ่ง
  • GLH ปล่อยกู้ต่อลูกค้าไม่ระบุชื่อ แต่เป็น 2 กลุ่มใหญ่ กลุ่มละไม่ทราบจำนวน กลุ่มแรกเป็นนิติบุคคลในสิงคโปร์ กลุ่ม 2 เป็นนิติบุคคลที่เจ้าของเป็นคนกัมพูชาที่จดทะเบียนในไซปรัส โดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกันจากไซปรัส บราซิล อื่นๆ รวมทั้งหุ้นของ GL เอง (ที่ผู้บริหารบอกว่ามีสภาพคล่องดีกว่าอย่างอื่น)
  • ธุรกรรมที่ผู้บริหาร GL ระบุว่า “เป็นการปฏิบัติทางธุรกิจแบบปกติ” ในตลาดกัมพูชา คือ การปล่อยกู้แก่ SME ประเภท inventory finance ให้กับดีลเลอร์รถจักรยานยนต์ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ทางการเงินของ GL นอกจากกปล่อยกู้ประเภทเช่าซื้อ เพื่อใช้ซื้อรถจักรยานยนต์ไปไว้ในโชว์รูม
  • ในกรณีที่ดีลเลอร์มีหมายเลขภาษี (tax ID) ก็สามารถกู้ได้ปกติจาก GLF (กัมพูชา) แต่ในกรณีที่ดีลเลอร์ไม่มี tax ID ก็ไม่สามารถกู้ได้ ต้องผ่านบริษัทย่อยของ GL ที่สิงคโปร์ ซึ่งก็คือ GLH (สิงคโปร์) จะต้องไปจดทะเบียนตั้งอีกกิจการหนึ่งที่สิงคโปร์หรือไซปรัสจึงจะสามารถกู้ได้ โดยปัจจุบันมีผู้กู้เป็นดีลเลอร์รายเล็กเกือบ 100 รายที่ทำแบบนี้ และเป็นลูกค้าของ GL ประเภท SME ในปัจจุบัน เนื่องจากข้อจำกัดของกฎเกณฑ์การปล่อยกู้ที่กัมพูชา
  • การปล่อยกู้ ระบุผลตอบแทนในอัตราเฉลี่ย 17% ซึ่งบริษัทอ้างว่า มีความปลอดภัยสูง ความเสี่ยงต่ำ ผิดสูตร “กำไรสูง เสี่ยงสูง” ตามปกติ
  • เหตุที่เรียกผลตอบแทนปล่อยกู้แพงมาก ผู้บริหาร GL บอกว่าเพราะ ก) ลูกค้าใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันนอกตลาดสิงคโปร์ที่ธนาคารในสิงคโปร์ไม่ยอมรับเพราะเสี่ยงสูง แต่ GLH (สิงคโปร์) ยอมรับ เพราะตรวจสอบรัดกุมแล้ว สะท้อนว่า ผู้บริหารของ GL มั่นใจว่ามีความสามารถในการประเมินความเสี่ยงเก่งกว่าธนาคารสิงคโปร์
  • ลูกค้าเงินก็สินเชื่อที่ GL อ้างว่าไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ตามงวด มีต้นทุนการเงินมากถึง 17% แต่ยังสามารถชำระหนี้ต่อเนื่อง แสดงว่า ลูกค้าต้องทำธุรกิจที่กำไรมหาศาลด้วยอัตราส่วนกำไรเบื้องต้น (GPM) มากกว่า 50% หรืออัตรากำไรสุทธิมากกว่า 30% ต่อเนื่องยาวนาน ถึงจะชำระหนี้ได้ยาวนาน โดยไม่เดือดร้อนกับต้นทุนการเงินที่แพงลิ่ว
  • ธุรกิจของลูกค้า GL ซึ่งระบุว่าเป็นการเช่าซื้อมอเตอร์ไซค์ในกัมพูชาเป็นหลัก ที่มีกำไรยอดเยี่ยมยาวนาน ตามสมมติฐานข้อ 5) น่าจะมีเครดิตดีเพียงพอ ถือเป็น “ลูกค้าชั้นยอด” สำหรับแหล่งเงินทุนที่ไหนก็ได้ในโลกนี้ ทำไมจึงต้องมาพึ่งพาเงินกู้ราคาแพงยาวนานจาก GL (แถมยังยืดอายุการชำระหนี้ออกไปอีก) หากไม่มีการทำธุรกรรมที่ต้องหลบเลี่ยงข้อกฎหมายของรัฐที่ทำธุรกรรมอยู่
  • ผู้บริหาร GL ยังเชื่อมั่นว่าสินเชื่อเงินกู้ที่ปล่อยให้ลูกค้า 2 กลุ่มหลักผ่าน GLH (สิงคโปร์) กว่า 3.7 พันล้านบาท ไม่จำเป็นต้องตั้งสำรองเผื่อหนี้สูญ แม้จะแบ่งรับแบ่งสู้ในเรื่องดังกล่าวในการแถลงข่าว ถือว่าเป็นประเด็นที่มีโอกาสสร้างแรงกดดันต่อผลประกอบการของ GL จากความไม่แน่นอนในอนาคตได้ง่าย
  • การเข้าซื้อหุ้นจำนวน 99% ในบริษัท Commercial Credit & Finance (CCF) ซึ่งเป็นบริษัทไฟแนนซ์ ผ่านบริษัทร่วมทุนทั้งหมดราว 95.37 ล้านหุ้น ที่ราคาประมาณ 25.81 บาทต่อหุ้น เมื่อประมาณวันที่ 8 ธันวาคม 2559 ซึ่ง ณ เวลานั้น ราคาซื้อขายหุ้น CCF ในตลาดโคลัมโบอยู่ที่ประมาณ 14.58 บาท หรือราวหุ้นละ 61.42 รูปีศรีลังกา (ใช้อัตราแลกเปลี่ยน THB/LKR = 0.2374) ซึ่งนั่นหมายถึงเป็นการซื้อหุ้นสูงกว่าราคาตลาด หรือให้ Premium กว่า 77.02% ทั้งที่ถูกทักท้วงจากผู้ประเมินราคาภายนอกของบริษัทร่วมทุนตีราคาหุ้นว่า มีมูลค่า 1.90-2.50 พันล้านบาท ส่วนที่ปรึกษาทางการเงินอิสระตีมูลค่า 1.60-1.70 พันล้านบาท และมูลค่าหุ้นตามราคาในตลาดโคลัมโบ ณ วันที่ทำรายการหุ้นอยู่ที่ราว 1.39 พันล้านบาท ขณะที่บริษัทร่วมทุนซื้อหุ้นมาในราคารวมทั้งสิ้น 2.46 พันล้านบาท โดยยังไม่รวมค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง แต่หากเทียบกับราคา ณ ปัจจุบันมีผลให้เงินจากการลงทุนขาดทุนทางตัวเลขประมาณ 1.49 พันล้านบาท หรือราว 60.45% ซึ่งผู้บริหาร GL ยืนยันว่าเป็นข้อมูลที่ไม่มีมูลความจริง

ความไม่แน่นอนและความเสี่ยงจะรบกวนราคาหุ้นของ GL ไปอีกนานนับสัปดาห์หรือเดือนเลยทีเดียว จนกว่าจะคลี่คลาย ทำให้คนที่เชื่อว่า GL กำลังสร้างขุมทรัพย์กษัตริย์โซโลมอน” ในกัมพูชา และสิงคโปร์ อาจจะเป็นมายาคติได้ทุกเมื่อ

Back to top button