พาราสาวะถี

ไม่ต้องเดาก็รู้ว่า วันนี้ข้อเสนอของกลุ่มกปปส.ที่จะเข้าหารือกับคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่มี พลเอกชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน จะออกมาในรูปใด เช่นเดียวกันกับบรรยากาศที่จะออกมาคงแตกต่างจากการเข้าหารือของกลุ่มนปช.ที่เดินทางไปเสนอความเห็นเมื่อวันพุธที่ผ่านมาโดยสิ้นเชิง


พาราสาวะถี : อรชุน

 

ไม่ต้องเดาก็รู้ว่า วันนี้ข้อเสนอของกลุ่มกปปส.ที่จะเข้าหารือกับคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่มี พลเอกชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน จะออกมาในรูปใด เช่นเดียวกันกับบรรยากาศที่จะออกมาคงแตกต่างจากการเข้าหารือของกลุ่มนปช.ที่เดินทางไปเสนอความเห็นเมื่อวันพุธที่ผ่านมาโดยสิ้นเชิง

ว่ากันสำหรับข้อเสนอของกลุ่มนปช.ที่ได้รับการปฏิเสธทันทีทันใดจาก พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ นั่นก็คือ การเรียกร้องให้ยกเลิกการใช้มาตรา 44 เนื่องจากเป็นการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชน พร้อมเสนอให้ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปบรรดากฎหมายที่ขัดหลักนิติธรรม และไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งการยกเลิกประกาศ คำสั่ง ระเบียบ ที่เกิดจากคณะรัฐประหารทุกฉบับที่ยังมีผลใช้อยู่

แม้บิ๊กป้อมจะออกมาปฏิเสธแต่ก็เชื่อว่าแกนนำนปช.คงรู้คำตอบอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องรักษาจุดยืนในฐานะกลุ่มที่เคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย จึงจำเป็นจะต้องยื่นข้อเสนอหักล้างในทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร เช่นเดียวกันกับพลเอกประวิตรที่ต้องยืนยันในความถูกต้องแห่งการได้มาซึ่งอำนาจของตัวเอง ด้วยการย้ำว่า ทุกคำสั่งและมาตรา 44 คือกฎหมาย

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีคำพิพากษาของศาลช่วยยืนยันด้วยว่า การกระทำของคณะรัฐประหารและคำสั่งที่ออกมานั้นเป็นสิ่งที่ชอบโดยกฎหมาย และที่ต้องไม่ลืมคือมาตรายาวิเศษนั้น มีอำนาจเหนือกว่าอำนาจทั้ง 3 ฝ่ายของกระบวนการประชาธิปไตยทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการ เพียงแต่ว่า หากจะรักษาความชอบธรรมและไม่ถูกมองว่าเป็นเผด็จการเต็มรูปแบบ ในหลายๆ เรื่องผู้มีอำนาจจึงโยนให้ไปเป็นหน้าที่ของฝ่ายตุลาการ

ประเด็นว่าด้วยข้อเสนอของแกนนำม็อบที่ถูกมองว่าเป็นผู้สร้างความขัดแย้งในบ้านเมืองนั้น ไม่น่าสนใจเท่ากับสิ่งที่เคยบอกไปก่อนหน้านี้ว่า หลังการเกิดขึ้นของป.ย.ป.บรรดาข้อเสนอทั้งหลายที่มาจากสปท.โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปรองดองนั้นแทบจะเป็นหมันไปในทันที เรื่องนี้ยืนยันได้ด้วยคำพูดของพลเอกประวิตร

จากกรณีที่ เสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สปท.เสนอแนวคิดของกรรมาธิการเรื่องการให้โอกาสคดีอาญาแก่ผู้กระทำผิด จำหน่ายคดีเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง โดยพี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์ถึงกับบอกว่า เสรีฟังไม่รู้เรื่องหรืออย่างไร พร้อมบอกว่าควรจะหยุดพูดดีกว่า ถ้าอยากพูดก็เชิญไปที่เวทีปรองดองของกระทรวงกลาโหม

ถือเป็นการตอกหน้าหงาย และทำให้สังคมได้รับรู้ว่าต่อไปนี้เรื่องการปรองดองต้องฟังรัฐบาลและป.ย.ป.เท่านั้น ส่วนองคาพยพอื่นในแม่น้ำ 5 สาย ถ้าใครพูดถือเป็นแค่ความเห็นส่วนตัวและคงไม่มีทางที่จะได้รับการตอบสนอง ด้วยเหตุนี้ จึงมีฝ่ายเสี้ยมซึ่งความจริงน่าจะเรียกว่าเป็นผู้ที่มองเห็นท่วงทำนองของคนบางคนบางกลุ่มได้อย่างทะลุปรุโปร่งเสียมากกว่า

เริ่มที่ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่ชี้ว่า การให้สัมภาษณ์ของบุคลากรเครือข่ายแม่น้ำ 5 สายมีผลต่อเวทีปรองดองที่รัฐบาลตั้งใจริเริ่มจริงจัง ที่ผ่านมาคุมการพูดของคนในแม่น้ำ 5 สายไม่ได้เพราะต่างคนเป็นผู้ใหญ่กันแล้ว แต่ผู้มีอำนาจต้องฉลาด ต้องไม่โง่ อย่าตกเป็นเหยื่อ ต้องรู้ทันเจตนาผู้ให้สัมภาษณ์ที่พูดเพราะอยากให้ถูกใจ เอาใจเพื่อผลในอนาคต

ตัวอย่างในอดีตมีให้เห็นแล้วว่า ผู้มีอำนาจต้องพังพาบเพราะปากคนใกล้ชิด ต้องระวังการใช้กัลยาณมิตรไม่ถูกทาง การที่พลเอกประวิตรออกมาเบรกเสรีนั้น ในมุมของคนที่เคยอยู่ในอำนาจมาก่อนเห็นว่าใช้ได้ มันต้องแบบนี้ถึงเรียกพัฒนาการของผู้มีอำนาจที่รู้เท่าทัน ต้องดูว่าในแม่น้ำ 5 สายใครเป็นสายล่อฟ้า พูดจาเป็นอุปสรรคต่อความสามัคคี ทำให้ช่องว่างความปรองดองในสังคมถ่างออก

ตรงนี้ต่างหากที่น่าสนใจ ช่องวางความปรองดองในสังคมที่ถ่างออก บางทีอาจจะไม่ใช่เฉพาะแค่บุคลากรในแม่น้ำ 5 สายเท่านั้น หากแต่เป็นบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ถูกมองว่ามีภาพใกล้ชิดและสายสัมพันธ์อันดีกับผู้มีอำนาจ ซึ่งมีการเคลื่อนไหวในลักษณะโจมตีฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล หากไม่มีการดำเนินการตามกฎหมาย เอาง่ายๆ แค่เรื่องขัดคำสั่งคสช. นี่ย่อมกระทบต่อมาตรฐานในการบังคับใช้กฎหมาย เท่ากับเลือกปฏิบัติชัดเจน

ความจริงมีให้เห็นแล้วตั้งแต่ปมของพระ ประเด็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มประกาศสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญและฝ่ายคัดค้าน การดำเนินการเอาผิดแตกต่างกันลิบลับ ความจริงต้องบอกว่าไม่ได้ดำเนินการใดๆ เสียด้วยซ้ำสำหรับฝ่ายสนับสนุน เอาแค่เหตุผลเรื่องการรวมตัวกันเกิน 5 คนอันเป็นการขัดคำสั่งคสช. เท่านี้ก็ฉายภาพให้เห็นเด่นชัดแล้ว เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหรือคนสั่งการได้ดำเนินการโดยเคร่งครัดและเป็นธรรมหรือไม่

หันหลังให้ปมการเมืองหันหน้าไปดูเรื่องปากท้องของพี่น้องประชาชน จนถึงวันนี้ไม่รู้รัฐนาวาแป๊ะได้วางมาตรการและมองสถานการณ์ของภัยธรรมชาติไว้อย่างไร ที่พูดถึงคือภัยแล้ง มีสัญญาณแรงมาตั้งแต่ยังไม่หมดหน้าหนาว หลายพื้นที่เผชิญกับการขาดแคลนน้ำเร็วกว่าปกติ นั่นเท่ากับว่า มันจะวนมาฉายหนังซ้ำทั้งๆ ที่รัฐบาลเพิ่งดีอกดีใจและเพิ่งแก้ไขปัญหาฝนตกหนัก น้ำท่วมไปหมาดๆ

อารามดีอกดีใจของคนในรัฐบาลที่บอกว่าราคาพืชผลทางการเกษตรกำลังดีวันดีคืนนั้น ต้องย้อนกลับไปถามว่า ได้ไปถามเกษตรกรหรือเปล่า ราคายางพาราที่สูงขึ้นเขามีของไปขายไหม ราคาข้าวหรือสินค้าเกษตรตัวอื่นๆ หากจะขึ้นในภาวะที่ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวนไม่มีน้ำจะทำการเกษตรได้ สถานการณ์เช่นนี้หรือคือสิ่งที่คนในรัฐบาลเห็นเป็นเรื่องยินดี

อาจใช้เหตุผลในการอธิบายว่าภัยธรรมชาติมันห้ามกันไม่ได้ มันคงฟังขึ้นและพอให้อภัยสำหรับมือใหม่ที่เพิ่งเข้ามาทำงานและประสบกับปัญหาเป็นปีแรก แต่หลังจากนั่งทำงานไปแล้วเกือบ 3 ปีและภัยแล้งหนนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ปฏิกิริยามันจะต่างออกไป จากที่เคยแค่สงสัยแต่คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะผู้ที่เดือดร้อนเขาก็จะมองเห็นแล้วว่าคนที่เข้ามาทำงานบ่มิไก๊ไร้ฝีมือ วันนี้แค่กฎหมายพิเศษและการตีหน้ายักษ์ขู่ มันจะเป็นมุกที่คนไม่เชื่อถืออีกต่อไป ม็อบของกลุ่มความเดือดร้อนคือสิ่งที่จะหลีกหนีไม่พ้น

Back to top button