ดอกเบี้ยขาขึ้น (ครั้งใหม่)
โลกรับรู้กันไปหมดแล้วว่า เฟดของสหรัฐฯ ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายหรือ เฟด ฟันด์ เรต 0.25% กันไปแล้ว โดยไม่มีการพลิกผันหรือไม่เกิดข้อผิดพลาด หลังจากที่มีการขึ้นครั้งสุดท้ายเมื่อ 3 เดือนที่ผ่านมาในปลายปีที่แล้ว 0.25%
พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล
โลกรับรู้กันไปหมดแล้วว่า เฟดของสหรัฐฯ ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายหรือ เฟด ฟันด์ เรต 0.25% กันไปแล้ว โดยไม่มีการพลิกผันหรือไม่เกิดข้อผิดพลาด หลังจากที่มีการขึ้นครั้งสุดท้ายเมื่อ 3 เดือนที่ผ่านมาในปลายปีที่แล้ว 0.25%
การขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ เป็นที่น่าแปลกว่า ตลาดหุ้นทั้งตลาดภูมิภาคเอเชียและตลาดในยุโรป ต่างขานรับอารมณ์ ร่วมในเชิงบวกกันทั่วโลก เพราะความชัดเจนที่เฟดแถลงว่า ตลอดปีนี้จนถึงปีหน้าเฟดคงจะขึ้นดอกเบี้ยปีละ 3 ครั้ง
ส่วนหนึ่งของอารมณ์ร่วมเชิงบวกได้รับแรงเสริมจากวานนี้ที่ผลการเลือกตั้งในเนเธอร์แลนด์ ทางพรรค PVV ฝ่ายขวาจัด ที่มีแนวคิดจะออกจากสหภาพยุโรป (EU) ไม่ได้รับชัยชนะ ทำให้ความกังวลของนักลงทุนเริ่มลดลงไป
ดัชนีหุ้นไทยเคลื่อนไหวในแดนบวกตลอดทั้งวัน โดยขยับขึ้นแตะจุดสูงสุดของวันที่ระดับ 1,559.61 จุด ขณะที่ดัชนีทำระดับต่ำสุดของวันที่ 1,547.42 จุด ทำให้ภาพการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเป็นบวก จากภาพรวมที่ตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชีย และตลาดในยุโรปปรับตัวขาขึ้น
คำว่า “จะขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป” อันคุ้นเคยจากปากของนางเจเน็ต เยลเลน ประธานคณะกรรมการกลางของเฟด ที่ชินหูอีกครั้ง เป็นสร้อยของการปลอบโยนตลาดให้หายจากกอาการตื่นตระหนก (ทั้งที่ไม่น่าจะตระหนกอะไรเลยเพียงแต่เป็นเรื่องที่ตลาดไม่ชอบเท่านั้นเอง)
การขึ้นดอกเบี้ย ในยามที่เศรษฐกิจกลับมาสู่ภาวะปกติ ที่ต้องระวังเงินเฟ้อมากกว่าเงินฝืด ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะด้านบวกของอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น คือการส่งสัญญาณหลายด้านพร้อมกันเสมือนยิงกระสุนนัดเดียวได้นกหลายตัว ในฐานะที่มาตรการทางการเงิน ด้วยนโยบายดอกเบี้ย คือยาสารพัดนึกระยะสั้นๆ เพื่อสร้างดุลยภาพแก่เศรษฐกิจ
มีคนเปรียบเปรยเอาไว้แหลมคมนานแล้วที่หยิบยกมากล่าวกันได้เรื่อยๆ เกี่ยวกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางว่า เสมือนหนึ่งการให้คนไข้กินยาขม หรือไม่ก็ให้สตรีอ้วนสวมสเตย์รัดหน้าท้องเล็กเกินขนาด ทั้งที่โดยข้อเท็จจริง ดอกเบี้ยไม่ได้มีความหมายในตัวของมันเอง เพราะเป็นนามธรรมอย่างมาก แค่ตัวเลขของอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกำหนดขึ้นมาแต่ละช่วงเวลา คือภาพสะท้อนความแข็งแรงทางการเงินในอนาคตของผู้ที่เกี่ยวข้อง
ดอกเบี้ยเป็นสัญลักษณ์ของทุน ที่โยงใยกับเวลาอย่างลึกซึ้ง คนที่มีความต้องการใช้เงินในปัจจุบัน แต่ไม่สามารถหามาได้ จึงต้องกู้ยืมจากผู้ถือ เป็นการเอารายได้ในอนาคตของตนเองมาใช้ล่วงหน้า โดยมีต้นทุนคืออัตราดอกเบี้ย ยิ่งมีความต้องการสูงมากเท่าใด อัตราดอกเบี้ยจะยิ่งทวีคูณ
ในทางกลับกัน คนที่มีทุนหรือเงินออมสะสมไว้มากเป็นคนที่ไม่ใช้ทุนของตนในปัจจุบัน และต้องการหาประโยชน์ในอนาคต จึงปล่อยให้คนอื่นเอาไปใช้ประโยชน์ โดยมีค่าตอบแทนของการให้คนอื่นเอาไปใช้ในรูปของอัตราดอกเบี้ย
อัตราดอกเบี้ยของตลาด จึงเกิดขึ้นมาจากดุลยภาพของความต้องการ และการสนองตอบของทุน ซึ่งในยุคสมัยปัจจุบันที่สถาบันการเงินมีบทบาทร้อยรัดกลไกเจ้าด้วยกัน ก็มีรายละเอียดของอัตราดอกเบี้ยที่ซับซ้อน แม้จะยังคงสาระเดิมเอาไว้ นั่นคือดอกเบี้ยเป็นต้นทุนของคนที่ขาดแคลน และเป็นค่าตอบแทนของผู้ออม
คำว่าการขึ้นดอกเบี้ยคือยาขมนั้น เอาเข้าจริงแล้วเป็นความเข้าใจฝ่ายเดียวของคนที่มีความต้องการสูงแต่ขาดแคลน ที่ต้องรับสภาพอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ในขณะที่คนที่การออมล้นเหลือ นี่คือขาขึ้นของผลตอบแทนที่พึงได้รับ
ช่วงเวลาอัตราดอกเบี้ยขาลง ความเข้าใจฝ่ายเดียวของคนที่ขาดแคลน ก็คือการผ่อนคลายของคนที่มีภาระหนี้ แต่ในมุมตรงข้าม มันคือผลตอบแทนที่ถดถอยของผู้มีเงินออม
ภายใต้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว ธนาคารกลางโดยเฉพาะเฟดของสหรัฐฯ ไม่ได้ทำหน้าที่แค่รักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศอย่างเดียว แต่ต้องดูแลค่าเงินสกุลของประเทศไม่ให้แข็งเกิน หรืออ่อนเกิน จนกระทบต่อการค้าและการลงทุน
อัตราดอกเบี้ยที่แพงกว่าชาติรอบข้าง จะทำให้เงินทุนไหลเข้าจากการทำแครี่เทรดของกองทุนเก็งกำไร จนกระทั่งเงินทุนไหลเข้าแรง ค่าเงินแข็งมากเกินขนาด ส่งผลเสียต่อดุลการค้าและการส่งออก แต่อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเกินไป จะทำให้ทุนไหลออก และค่าเงินอ่อนเกินไป ส่งผลเสียต่อการลงทุนภาคการผลิตต่อตลาดหุ้น และตลาดตราสารหนี้ของประเทศขนาดเล็ก
การลดดอกเบี้ยต่ำมากในช่วงวิกฤตซับไพรม์ ทำให้เกิดยุคสมัยของดอกเบี้ยทั่วโลกต่ำติดพื้น หรือ ดอกเบี้ยติดลบ หรือเงินฝืดตามมาจนถึงปัจจุบัน มีผลข้างเคียงสำคัญคือ ผู้มีเงินออมได้รับความเสียหายอย่างหนักจากดอกเบี้ยต่ำของตลาดเงิน จนต้องเลี่ยงเข้าไปหาประโยชน์จากเงินออมทั้งทางตรงและทางอ้อมจากตลาดทุนแทน แม้จะมีความเสี่ยงสูงกว่า
ในยามยากลำบาก ค่าดอลลาร์ของสหรัฐเคยถูกเสียงค่อนแคะว่า มีมูลค่าสูงเกินจริงมากกว่า 25-30% แต่สถานการณ์ดอกเบี้ยขาขึ้นนับจากนี้ไป จะทำให้แนวคิดของนักคิดด้านนโยบายการเงินที่ว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ย ไม่เคยทำให้เศรษฐกิจพังพินาศ แต่ป้องกันฟองสบู่เศรษฐกิจและตลาดหุ้นได้บางส่วน และการขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกได้รับผลกระทบเพียงระยะสั้น เพราะผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนทั้งหลาย จะเข้ามากลบเกลื่อนปัญหาในภายหน้า
ค่าดอลลาร์ที่หล่นฮวบหลังเฟดขึ้นดอกเบี้ย แทนที่จะแข็งขึ้น ถือเป็นสัญญาณบางอย่างที่ตอกย้ำแนวความเชื่อดังกล่าวได้พอสมควร