ข้อเสนอย้อนยุค
สัปดาห์ที่แล้ว ผมได้มีโอกาสเดินทางไปดูงานการปฏิรูปพลังงาน ณ ประเทศสหรัฐเม็กซิโก ภายใต้คำเชื้อเชิญของ บมจ. ปตท. จำกัด (มหาชน)
ขี่พายุ ทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์
สัปดาห์ที่แล้ว ผมได้มีโอกาสเดินทางไปดูงานการปฏิรูปพลังงาน ณ ประเทศสหรัฐเม็กซิโก ภายใต้คำเชื้อเชิญของ บมจ. ปตท. จำกัด (มหาชน)
ไปให้มันเห็นว่า ทำไมเขาต้องปฏิรูปกิจการพลังงานขนานใหญ่ในช่วง 4-5 ปีมานี้
ไปให้มันเห็นว่า ประเทศที่มีแหล่งน้ำมันสำรองเป็นอันดับ 9 ของโลก ทำไมถึงปล่อยให้ประชาชนฝ่ายข้างมากมีรายได้ต่ำได้อย่างไร (ค่าแรงขั้นต่ำยังอยู่ที่ 150 บาท/วัน)
และก็ไปให้มันเห็นว่า ภายใต้ระบบผูกขาดโดยรัฐ ประชาชนยังจะได้ใช้น้ำมันหรือก๊าซในราคาถูกต่อไปได้หรือไม่
ขนาดเป็นราคาน้ำมันในระบบอุดหนุนแล้วนะ ปรากฏว่า น้ำมันสำเร็จรูปขายปลีกของเม็กซิโกยังมีราคาแพงกว่าน้ำมันไทยเสียอีก ยกตัวอย่างเช่น ราคาน้ำมันดีเซลเม็กซิโกตกลิตรละ 28 บาท ในขณะที่ของไทยอยู่ในระดับแค่ 25 บาทเท่านั้น
ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกของไทย 25.49 บาท ก็ยังเป็นราคาหน้าโรงกลั่นอันเป็นต้นทุนแค่ 15.49 บาทเอง ที่เหลืออีก 10 บาทก็เป็นภาษีสรรพสามิตบวกกับภาษีและกองทุนอื่นๆ และภาษีมูลค่าเพิ่ม
ทำไมราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลเม็กซิโกถึงแพงกว่าไทยก็ไม่รู้ ถ้านโยบายชาตินิยมที่ใช้มา 80 ปีมันทรงพลังจริง
ฉะนั้น ถ้าจะเชิดฉิ่งนโยบายชาตินิยม ผูกขาดกิจการพลังงานกันต่อไป ก็คงไม่มีทางจะทำให้ราคาพลังงานทั้งน้ำมัน ก๊าซ และค่าไฟ มีราคาถูกกว่านโยบายเสรีนิยมไปได้หรอก
ข้อเสนอในประเทศของเราจากคนกลุ่มหนึ่งที่ทรงอิทธิพล ให้รัฐจัดตั้ง NOC หรือ “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” โดยมีภาคประชาชน หรือ NGO เข้าร่วมด้วย ก็คงไม่ต่างอะไรไปจาก PEMEX ที่เห็นในเม็กซิโกหรอก
พีเม็กซ์คือหัวรถจักรใหญ่ของนโยบายชาตินิยมและ Nationalization ดำเนินการกิจการทั้งในสายโซ่ต้นน้ำ (อัพสตรีม) คือ สำรวจและผลิตปิโตรเลียม ก็เหมือนปตท.สผ.ของเรา
กลางน้ำหรือมิดสตรีม ก็คือโรงกลั่นน้ำมันดิบ โรงแยกก๊าซ โรงปิโตรเคมี และปลายน้ำหรือดาวน์สตรีมก็คือ สถานีบริการน้ำมัน
เรียกว่าไม่ว่าจะย่างก้าวไปแห่งหนไหน ก็เห็นแต่ปั๊มน้ำมันตราพีเม็กซ์เต็มไปหมด ไม่มีทางเห็นตราน้ำมันอื่นๆ ที่จะมาแข่งขันด้วยทั้งด้านราคา ความสะอาดห้องน้ำ สิ่งอำนวยความสะดวก และคุณภาพบริการ
เหมือนปั๊มน้ำมันในประเทศไทยเราเด็ดขาด
แรกๆ ประชาชนเม็กซิกันก็นิยมชมชอบ เพราะมีการยึดกิจการต่างชาติมาเป็นของรัฐและรัฐให้การชดเชยอุดหนุนราคาจากรายได้ส่งออกน้ำมันดิบซึ่งว่ากันว่าตอนนั้นเม็กซิโกเป็นอันดับ 4 ของโลก
แต่นานวันเข้า นโยบายชาตินิยมก็เป็นกับดักตนเองเพราะเงินทุนก็ไม่เข้ามา และเทคโนโลยีก็ไม่มี การผลิตปิโตรเลียมเริ่มลดน้อยถอยลง ในขณะที่ความต้องการบริโภคในประเทศขยายตัวอย่างรวดเร็ว
กระทั่งโรงกลั่นน้ำมันก็ยังขาดแคลน ต้องส่งออกน้ำมันดิบไปกลั่นในสหรัฐอเมริกาและส่งกลับเข้ามาเป็นน้ำมันสำเร็จรูป
ในปีค.ศ.2013 เม็กซิโกทำการปฏิรูปพลังงานครั้งใหญ่ถึงกับเขียนไว้เป็นรัฐธรรมนูญ มีการออกกฎระเบียบต่างๆ เพื่อรองรับแผนปฏิรูป และพรรคการเมือง 3 พรรคใหญ่ก็ได้ทำข้อตกลงร่วมกันว่าจะต้องเดินหน้าการปฏิรูปอย่างแน่วแน่จริงจัง
เนื้อหาใหญ่ใจความคือมีการแยกแยะระหว่างฝ่ายปฏิบัติ (โอเปอเรเตอร์) ฝ่ายนโยบายคือกระทรวงพลังงาน และฝ่ายเรกกูเลเตอร์ กำกับดูแล ซึ้งแต่ก่อนพีเม็กซ์ค่อนข้างจะรวบรวมอำนาจทั้งหมดไว้ที่ตัวเอง
แผนปฏิบัติการปฏิรูปเริ่มต้นอย่างรวดเร็วในงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมตั้งแต่ปีค.ศ.2015 จนถึงสิ้นปี 2016 มีการเปิดประมูลให้เอกชนเข้าร่วมแล้วถึง 4 ครั้ง
ผิดกับของไทยเลยที่บัดนี้การเปิดประมูลสำรวจปิโตรเลียมรอบที่ 21 ก็ยังเปิดไม่ได้
รูปแบบการลงทุนในยุคปฏิรูปของเม็กซิโกก็มีให้อย่างหลากหลายทั้งในรูปแบบสัมปทาน การแบ่งปันผลผลิต (PSC) และแบ่งปันตามผลกำไร
แต่กลุ่มเรียกร้องฝ่ายไทย จะเรียกร้องเอาแต่ระบบ PSC เท่านั้น ทั้งที่แหล่งปิโตรเลียมของไทยมีขนาดเล็กกว่าเขามาก ก็เลยยังต้องยื้อยุดฉุดกระชากพ.ร.บ.ปิโตรเลียมฉบับใหม่กันอยู่นั่นแหละ
สรุปว่าเม็กซิโกสลัดอดีต 80 ปีมาสู่อนาคตที่พ้นความลำเค็ญทั้งในเรื่องของทุน เทคโนโลยีและผลผลิต ส่วนของไทยยังจะมีกลุ่มคนเรียกร้องกดดันให้ย้อนกลับเข้าไปสู่ยุคมืด 80 ปีเม็กซิโกกันอีกหรือ
บทเรียนความพินาศจาก “เวเนซุเอลา โมเดล” ที่เคยเชิดชู ยังไม่สำนึกกันอีกหรือว่าหลงผิด