ฉลามเงินกู้ซามูไร
ยามนี้ ธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ในกัมพูชาถือเป็น"วัวให้น้ำนมทองคำ"อันดับ1 ของประเทศนั้น ทั้งที่ สัดส่วนของธุรกิจยังเล็ก เพราะมีสัดส่วนสินเชื่อเป็นแค่ 12.1% ของระบบธนาคาร ด้วยเหตุผลคือ 1) ระบบธนาคารพาณิชย์ยังไม่พัฒนาได้ทันกับอุปสงค์ของตลาด ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินยากมาก 2) กติกาที่รัฐบาลฮุนเซน เปิดกว้างให้หากำไรได้เต็มที่
พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล
ยามนี้ ธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ในกัมพูชาถือเป็น”วัวให้น้ำนมทองคำ”อันดับ1 ของประเทศนั้น ทั้งที่ สัดส่วนของธุรกิจยังเล็ก เพราะมีสัดส่วนสินเชื่อเป็นแค่ 12.1% ของระบบธนาคาร ด้วยเหตุผลคือ 1) ระบบธนาคารพาณิชย์ยังไม่พัฒนาได้ทันกับอุปสงค์ของตลาด ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินยากมาก 2) กติกาที่รัฐบาลฮุนเซน เปิดกว้างให้หากำไรได้เต็มที่
จากสถิติในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจนี้ในกัมพูชา มีอัตราเติบโตทั้งเงินฝากและสินเชื่อ เฉลี่ยปีละ 30% แต่ในปี 2558 เติบโตแรงขึ้นแบบเอกซโปแนนเชียล เป็นปีละ 40% และปี 2559 โตเป็น 45%) ขณะที่หนี้เสียอยู่ที่ระดับต่ำเพียง 1.17% ของวงเงินปล่อยกู้รวม 2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากฐานผู้กู้ยืม 2 ล้านคน (33% ของจำนวนประชากร) โดยมีมูลค่าเฉลี่ยการกู้ยืมต่อคนอยู่ที่ 1,460 ดอลลาร์สหรัฐ
แม้ธุรกิจไมโครไฟแนนซขาขึ้นจะทำกำไรมาก แต่การที่ดอกเบี้ยเงินฝากในประเทศสูงไปด้วย ทำให้แหล่งเงินต้นทุนต่ำจากภายนอกเป็นกุญแจชี้ขาดในการแข่งขัน
ทุนต่างชาติสบช่องหาทางระดมทุนไปร่วม “แบ่งเค้ก” ในกัมพูชา ยอมเสี่ยงกับปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนและหนี้สูญจากกลุ่มลูกค้าที่นำไปปล่อยต่อ กลุ่มทุนต่างชาติเข้ามาอุดช่องว่างขาดแคลนทุนดังกล่าวได้ดีคือทุนจากญี่ปุ่น ที่เริ่มพบทางตีบในในญี่ปุ่นเองมากขึ้น
แค่ช่องว่างของดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคารในญี่ปุ่นที่ต่ำแค่1.5%ต่อปี ที่ห่างจากร ะดับ 25-30% ในกัมพูชา ก็ว่าคุ้มและสมเหตุสมผลอย่างยิ่ง
ในบรรดาทุนเงินกู้ญี่ปุ่นที่เข้าไปหาโอกาสในธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ในกัมพูชานั้น มีแอบแฝงด้วยกลุ่มทุนที่ช่ำชองกับการหารายได้ในรูปแบบที่เรียกันด้วยสำเนียงถากถางในโลกตะวันตก และในญี่ปุ่นเอง
…
ค่าเฉลี่ยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในตลาดกัมพูชา (คิดเป็นเงินท้องถิ่น และดอลลาร์สหรัฐฯ)
…
ในโลกตะวันตก คำว่า ฉลามเงินกู้ หรือ loan sharks ถิอเป็นคำกล่าวหาที่ต่อพฤติกรรมปล่อยเงินกู้แบบป่าเถื่อน(ทั้งเงื่อนไขเงินกู้ ดอกเบี้ย และวิธีการทวงหนี้) อันน่ารังเกียจ
ส่วนในญี่ปุ่น มี 2 คำที่โยงกันกับธุรกรรมปล่อยเงินกู้ คือคำว่า ยะมิกินิว (Yamikinyu) และ สะระคิน (Sarakin)
คำแรก มีความหมายเดียวกับนิยามโลกตะวันตก เรื่อง ฉลามเงินกู้ แต่เรียกว่าไฟแนนซด้านมืด (dark finance) เพราะคนในธุรกิจนี้ อาศัยจุดอ่อนของช่วงที่ธนาคารพาณิชย์เข้มงวดสินเชื่อส่วนบุคคล จะทำการปล่อยเงินกู้ในรูป”ตกเขียวค่าจ้างล่วงหน้า” หรืออื่นๆ โดยเรียกดอกเบี้ยมหาโหดจากลูกค้าที่หน้ามืดถึง 30-50% ต่อ10 วัน (โต-ซัง หรือ โต-โกะ)
ส่วนคำหลัง มีความหมายที่ผ่อนปรนลง เพราะ หมายถึงระบบปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อการบริโภค สำหรับลูกค้าที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบเงินกู้ธนาคารพาณิชย์เพราะขาดหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่มีตนเองและเงินเดือนเป็นหลักประกันแทน ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่เป็นมนุษย์เงินเดือนรุ่นใหม่ที่เพิ่งมีงานทำแต่ยังมีเงินออมไม่มากพอสร้างหลักทรัพย์มาขอสินเชื่อธนาคารได้
ธุรกิจในคำนิยามหลังนี้แหละที่เป็นฐานของการอุดช่องโหว่ในการเข้าถึงแหล่งทุนของคนกู้ส่วนบุคคลที่ไร้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ประเมินกันว่ามีฐานลูกค้าธุรกิจนี้ในญี่ปุ่นปัจจุบันมากถึง 14 ล้านคน หรือ 9-10 ประชากรที่มีรายได้ โดยมีผู้ประกอบการมากถึง 10,000 รายทั่วประเทศ
อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยของธุรกิจนี้ ในญี่ปุ่นคือสามารถเรียกได้สูงถึงระดับ 28-29% ต่อปี แต่ปัจจุบันถูกเงื่อนไขบังคับของกฎหมายให้ลดลงมาที่ระดับเพดานไม่เกิน 20% ต่อปี พร้อมควบคุมพฤติกรรมการทวงหนี้ที่ “ไร้วัฒนธรรม” ต่อลูกค้าที่ผิดนัดชำระ
จำนวนบริษัทให้กู้ไมโครไฟแนนซแบบ Sarakin ของญี่ปุ่นที่มีอยู่นี้ถือว่าลดลงมากจากระดับกว่า 30,000 รายเมื่อทศวรรษก่อน เหตุผลเพราะการแข่งขันที่รุนแรง ทำให้มีการฮุบกิจการโดยรายใหญ่หรือระดับ TOP10 ที่ปัจจุบันสร้างเครือข่ายครอบงำธุรกิจมากถึง 70% ของตลาดรวมที่มีมูลค่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
หนึ่งในรายใหญ่ที่ว่าคือ อีออน (จัสโก้เดิม) ที่ปัจจุบันขยายอาณาจักรมาที่เมืองไทยด้วย
ที่น่าสนใจคือ ธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ Sarakin ของญี่ปุ่น มีการผูกพันธมิตรแนบแน่นกับธนาคารพาณิชย์ชนิด “เคียงคู่ขนาน” แต่ก็ยังถูกบรรดาธนาคารพาณิชย์ทั้งหลาย มีมุมมองว่าเป็น “น้องข้างบ้านที่น่ารังเกียจ” ต่อไป เพราะพฤติกรรมการทวงหนี้ที่ยังแตกต่างกันมาก
มีตำนานการฆ่าตัวตายของคนหนุ่มสาวและแม่บ้านจำนวนมากในญี่ปุ่นที่ทำให้ภาพลักษณ์ของ Sarakin มีด้านลบแบบเดียวกับ ยะมิกินิว (โดยเฉพาะช่วงที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเผชิญกับภาวะ”ฟองสบู่แตก” ในช่วงคริสต์ศตวรรษ 1980) เพราะแม้จะมีกฎหมายและพัฒนาการทางการแข่งขันมากมาย แต่ก็ยังมีผู้ประกอบการหลายรายยังคงมีพฤติกรรมดิบเถื่อน ทำให้มีฉายา sarakin-jigoku หรือ “นรกของฉลามเงิกู้” เป็นตัวอย่างเป็นระยะๆ บนสื่อญี่ปุ่นต่อไป
ที่น่าจับตาเป็นพิเศษก็คือ เมื่อใดก็ตามที่มีการขุดคุ้ยเรื่องอื้อฉาวของทุนเงินกู้ส่วนบุคคลในธุรกิจของ Sarakin ทุกกรณีในญี่ปุ่น ไม่ว่ากี่ปีผ่านไป ท้ายที่สุดก็จะถูกนำไปโยงใยเข้ากับธุรกรรมของพวกยากูซ่าในญี่ปุ่นเสมอ ทั้งในฐานะพันธมิตร หรือมีพวกนี้อยู่เบื้องหลัง
ภาพลักษณ์ที่มักจะถูกโยงใยเข้ากับกลุ่มนักเลงยากูซ่า นี้เองทำให้บรรดาทุนญี่ปุ่นที่มองหาทางทำธุรกิจสินเชื่อเงินกู้ในอาเซียน โดยเฉพาะในกัมพูชา มีความหวั่นไหวเปราะบางกับข้อกล่าวหานี้มากเป็นพิเศษ เข้าข่าย “วัวสันหลังหวะ” ทั้งที่ข้อกล่าวหาเป็นทางการยังไม่เคยเกิดขึ้น
การย้ายแหล่งทำมาหากินจากญี่ปุ่นมาที่กัมพูชา ของทุนญี่ปุ่น ที่พยายามสร้างภาพลักษณ์ให้สวยงามว่า ไม่ได้ทำธุรกรรมด้านมืด ถือเป็นพลวัตที่มีความหมายหลายด้าน
เรื่องที่ว่ามาทั้งหมดนี้ ยังไม่ถือว่า เกี่ยวข้องอะไรเลยกับ ทุนญี่ปุ่นเบื้องหลัง บริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) หรือ GL แม้แต่น้อย
อย่าได้เข้าใจไขว้เขวเป็นอย่างอื่นๆ