กฎของป่า

นานมาแล้วในนิยายเรื่อง The Junggle Book ของ รัดยาร์ด คลิปปิ้ง นักเขียนเจ้าอาณานิคมอังกฤษ ที่ทำให้คนทั่วโลกประทับใจกับชีวิตของเมาคลี เด็กชายที่เป็นลูกหมาป่า มีคำอยู่คำหนึ่งในตอนท้ายของเรื่องเมื่อเมาคลีย่างเข้าวัยหนุ่มฉกรรจ์ พะคีร่า เสือดำที่เลี้ยงเขามา เอ่ยคำหนึ่งที่เปลี่ยนโลกของเมาคลีไปอย่างสิ้นเชิง และทำให้เขาอยู่กับฝูงสัตว์ในป่าต่อไปไม่ได้นั่นคือ “นักล่าอย่างเมาคลี จะตกเป็นผู้ถูกไล่ล่าโดยเมาค


พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

 

นานมาแล้วในนิยายเรื่อง The Junggle Book ของ รัดยาร์ด คลิปปิ้ง นักเขียนเจ้าอาณานิคมอังกฤษ ที่ทำให้คนทั่วโลกประทับใจกับชีวิตของเมาคลี เด็กชายที่เป็นลูกหมาป่า มีคำอยู่คำหนึ่งในตอนท้ายของเรื่องเมื่อเมาคลีย่างเข้าวัยหนุ่มฉกรรจ์ พะคีร่า เสือดำที่เลี้ยงเขามา เอ่ยคำหนึ่งที่เปลี่ยนโลกของเมาคลีไปอย่างสิ้นเชิง และทำให้เขาอยู่กับฝูงสัตว์ในป่าต่อไปไม่ได้นั่นคือ “นักล่าอย่างเมาคลี จะตกเป็นผู้ถูกไล่ล่าโดยเมาคลีเอง”

ประโยคอมตะตาม “กฎของป่า” ที่ว่า “ผู้ล่าจะถูกไล่ล่า” สามารถใช้ได้กับกรณีของ นายทหาร คสช.และคณะที่ทำการยึดอำนาจ โดยพ่วงเอาปฏิบัติการ “ไล่ล่าทักษิณและพวก” อย่างเอาเป็นเอาตายในฐานะ “จุดขาย” เพื่อดำรงอำนาจเผด็จการมานานถึง 3 ปีได้อย่างดี

คดีเก็บภาษีการขายหุ้นชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยเมื่อต้นปี 2549 หรือ 11 ปีก่อน (ซึ่งในอดีตเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ทักษิณ  หมดความชอบธรรมในการใช้อำนาจ) กำลังจะกลายมาเป็น “วินาทีแห่งสัจจะ” ที่อาจจะเป็นฟางเส้นสุดท้ายของอำนาจเผด็จการ ที่ คสช.ใช้มาโดยตลอดได้

เหตุผลก็เพราะ คำว่า “อภินิหารของกฎหมาย” ของนายวิษณุ เครืองาม เนติบริกรระดับ “พ่อมด” ชื่อดังนั่นเอง

ความจริงแล้ว เรื่องเก็บภาษีการขายหุ้นชินนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็น “เหล้าเก่าในขวดใหม่” ที่งัดเอามาใช้เล่นงานทักษิณ และพวกได้ทุกเมื่อที่ต้องการ เพราะความขลังในตัวมันเอง

เพียงแต่ความขลัง กับ ความมีเหตุผลนั้น ไม่จำเป็นและมักจะไม่ไปด้วยกัน  แม้ว่าจะไม่เคยเป็นเรื่องเชยในสังคมไทย

ปีนี้ คดีซื้อ-ขายหุ้นชิน คอร์ปอเรชั่น กลับมาเป็นข่าวใหญ่ เมื่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่กลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญของอำนาจเผด็จการร่วมสมัย ทำหนังสือแจ้งเตือนกรมสรรพากรให้เรียกเก็บภาษีเงินได้จากการขายหุ้น ชินคอร์ป ให้เรียบร้อยก่อนคดีจะขาดอายุความในวันที่ 31 มีนาคม 2560

กรมสรรพากรจึงรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานทั้งหมด ส่งให้ที่ประชุมคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรของกระทรวงการคลังที่มี นายประภาส คงเอียด รองปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานพิจารณาโดยขอให้วินิจฉัยกรณีกรมสรรพากรไม่ได้ออกจดหมายเรียกผู้เสียภาษีมาไต่สวนภายใน 5 ปี ตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากรว่าสามารถทำเรื่องเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ใช้อำนาจขยายเวลาออกจดหมายเรียกผู้เสียภาษีมาไต่สวน ตามมาตรา 3 อัฏฐ วรรค 2 ได้หรือไม่

ข้อสรุปของการประชุมระบุว่า กรมสรรพากรไม่สามารถขยายเวลาในการออกจดหมายเรียกนายทักษิณมาไต่สวนเพื่อประเมินภาษีได้ เนื่องจากประมวลรัษฎากรมาตรา 19 ระบุไว้ชัดเจนว่า อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจออกจดหมายเรียกผู้เสียภาษีมาไต่สวนได้ภายใน 5 ปี…ส่วนข้อหารือเรื่องขยายระยะเวลาในการออกจดหมายเรียกตามเจตนารมณ์ของกฎหมายจะใช้ได้ก็ต่อเมื่อเป็นการให้คุณแก่ผู้เสียภาษีเท่านั้น ไม่สามารถให้โทษได้

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากรก็ออกมาให้สัมภาษณ์ ว่ากรมสรรรพากรคงไม่สามารถดำเนินการอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้อีกเพราะจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า หุ้นที่นายพานทองแท้ และ นางพินทองทา ชินวัตร ถืออยู่เป็นหุ้นของนายทักษิณ ซึ่งคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้ยึดทรัพย์จำนวน 4.6 หมื่นล้านบาท ของนายทักษิณ มาเป็นของแผ่นดิน ทำให้เงินภาษีจำนวนนี้ก็รวมอยู่ในเงินก้อน 4.6 หมื่นล้านบาท และก็ตกมาเป็นของหลวงหมดแล้ว โดยที่เงินทั้งหมดก็อยู่ที่กรมบัญชีกลางแล้ว

มติดังกล่าว ทำให้มีความเคลื่อนไหวเมื่อวันที่ 14 มีนาคม โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือเมื่อวันที่ 13 มีนาคม โดยให้หลักเกณฑ์ว่า 1) ต้องไม่ใช้มาตรา 44 ให้ใช้กฎหมายปกติ 2) ไม่ขยายอายุความ 3) ยืนอยู่บนหลักนิติธรรม 4) ดูเจตนาการขายหุ้นดังกล่าวว่าสุจริตหรือไม่ ถ้าสุจริตทุกอย่างจบ

เพียงแต่ มติที่ประชุม ครม. กลับเกิดแนวทางใหม่ว่า เมื่อปี 2555 ศาลภาษีอากรกลางตัดสินไว้ว่า นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา เป็นนอมินีของนายทักษิณ ดังนั้น การออกหมายเรียกทั้งคู่ในขณะนั้นจึงเหมือนเป็นการออกหมายเรียกนายทักษิณแล้ว

ความหมายโดยนัยคือ แม้จะไล่เบี้ยกับทักษิณไม่ได้ แต่สามารถไล่เบี้ยเอากับลูกทั้ง 2 คนที่เป็นนอมินีได้ (แบบนิทานอีสป)

ในที่ประชุม ครม.นั้น นายวิษณุในฐานะนักกฎหมายที่ช่ำชอง ได้ใช้คำว่าทำไม่ได้ด้วยหลักกฎหมายปกติ “แต่ทำได้ด้วยอภินิหารของกฎหมาย”

ความพยายามของขบวนการไล่ล่าทักษิณ ที่ดำเนินมาโดยอาศัยทั้งเครื่องมือทางอำนาจทุกรายการ รวมทั้งช่องทางกฎหมายทุกช่องที่มีอยู่ อาจจะประสบความสำเร็จจนสามารถเรียกเก็บภาษีการขายหุ้นในปี 2549 ได้ (ไม่ว่าจะมีมูลค่าเท่าใดก็ตาม)  ทำให้เกิดคำถามที่ต้องพึงระวังว่า การเดินล้ำเส้นโดยอาศัย “อภินิหารของกฎหมาย” ที่จะเกิดขึ้นนั้น คุ้มค่าหรือกับการนำมาใช้ เพราะมันหมายถึงการ “ล้ำเส้น” ความพอดีของการลุแก่อำนาจด้วยต้นทุนที่แพงลิ่ว

ในทางทฤษฎีนั้น อำนาจเผด็จการ อาจจะไร้ขีดจำกัด แต่ในทางปฏิบัติ ไม่เคยมีในประวัติศาสตร์

คงไม่ต้องเล่ากันยาวเหยียดเพื่อจะระบุว่ามีตัวอย่างอะไรที่ชี้ว่า การไล่ล่าเพื่อครอบงำสังคมอย่างเบ็ดเสร็จด้วยอำนาจเผด็จการมากเท่าใด ยิ่งบ่อนทำลายความชอบธรรมของอำนาจในตัวเอง ด้วยสัดส่วนที่ผกผันมากและเร็วขึ้นเท่านั้น

กฎแห่งป่า ที่เคยเกิดขึ้นกับเมาคลี  มีโอกาสเกิดขึ้น หากมีการใช้ อภินิหารของกฎหมาย จริง

ไม่เชื่อ อย่าลบหลู่

Back to top button