ปัญหาของ IFEC

กรณีหุ้น IFEC หรือ บมจ.อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น ยังไม่จบง่ายๆ


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

 

กรณีหุ้น IFEC หรือ บมจ.อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น ยังไม่จบง่ายๆ

ผ่านมาถึงวันนี้หุ้นตัวนี้ก็ยังถูกขึ้นเครื่องหมาย SP

หรือพักการซื้อขายมาเกือบจะครบ 3 เดือนแล้ว

ตลาดหลักทรัพย์ฯ เอง ก็รอการชี้แจง การแก้ปัญหาต่างๆ  รวมถึงแนวทางแก้ไขหนี้ทั้งหุ้นกู้ และตั๋วบี/อี ของ IFEC

อย่างที่รับทราบกันนะ

ปัญหา IFEC เกิดขึ้นจากความขัดแย้งของกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ 2 ฝ่าย คือ ฝั่งของ “หมอวิชัย” นพ.วิชัย ถาวรวัฒนยงค์และ “เสี่ยอ๋า” หรือคุณสิทธิชัย พรทรัพย์อนันต์

จากเพื่อนรัก กลายมาเป็นเพื่อนแค้น

กระทั่งนำไปสู่เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด

แม้ IFEC จะสามารถประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น (ที่ต้องประชุมถึง 2 ครั้ง) และเลือกตั้งกรรมการได้ครบ 9 คน

แต่พอมาถึงการประชุมบอร์ดนัดแรกก็มีปัญหาซะแล้ว

นั่นเพราะมีการวอล์กเอาต์ออกจากที่ประชุมจากกลุ่มของเสี่ยทวิช “ทวิช เตชะนาวากุล” เจ้าของนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค และผู้ถือหุ้นมากเป็นอันดับ 1 ใน IFEC

เสี่ยทวิช มองว่า หมอวิชัย “เล่นเกม”

และบอกว่า หมอวิชัย ไม่ยอมร่วมมือกับกรรมการชุดใหม่เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ของ IFEC

เสี่ยทวิช มีมุมมองอีกว่า ตามหลักการของการบริหารในบริษัทใด ฝ่ายที่ถือหุ้นใหญ่ ย่อมมีอำนาจในการบริหารงานมากกว่า เช่น ตนเองถือหุ้นรวมกว่า 10%

แต่ฝั่งของหมอวิชัยถือหุ้นเพียง 2%

ส่วนฝั่งของหมอวิชัยก็ตอบโต้เช่นกัน

โดยบอกว่า พร้อมให้ความร่วมมือกับเสี่ยทวิชในการแก้ปัญหาต่างๆ

ตรงไหนไม่เห็นด้วย ก็ให้มาเสนอเพื่อหาทางออกร่วมกัน ไม่เคยปิดกั้น

พร้อมกับโยงไปถึงเรื่อง CG Code หรือการยึดหลักธรรมาภิบาลในการบริหารงานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

เรื่องของ CG Code นั้น จะมีการเปิดตัวเป็นทางการเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ

ในวันนั้นมี รมว.คลัง คุณอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ มากล่าวเรื่องนี้เกือบ 1 ชั่วโมง

กระทั่งมีเรื่องสำคัญหลุดออกมานั่นคือ จะให้มีการแก้กฎหมาย เพื่อเพิ่มอำนาจให้กับคณะกรรมการ ก.ล.ต. เพื่อเข้าไปปลดผู้บริหารของ “บจ.” ได้ หากมีการกระทำความผิด และสร้างความเสียหายต่อบริษัท

ส่วนคุณรพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต.ก็ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้เช่นกัน

และมีการยกตัวอย่างบางบริษัทที่กำลังมีปัญหาตั้งแต่การประชุมผู้ถือหุ้น และประชุมบอร์ด และอาจนำไปสู่การสร้างความเสียหายของบริษัท

กรณีเช่นนี้ ก.ล.ต.ก็จะเข้าไปปลดผู้บริหารได้

แต่ไม่ใช่ว่า ก.ล.ต.จะเข้าไปบริหารเอง

เพียงแค่ต้องการ “คืนอำนาจ” ให้กับ “ผู้ถือหุ้น” เพื่อให้เลือกกรรมการชุดใหม่เข้ามาบริหารงาน

หรือสรุปง่ายๆ ปัญหาของ IFEC ที่เกิดขึ้น กลับกลายเป็นกรณีศึกษา และนำไปสู่กรณีที่ทางการหรือหน่วยงานกำกับดูแล ต้องหาวิธีการแก้ไข และนำไปสู่การแก้กฎหมาย

นัยสำคัญว่า เพื่อไม่ให้เกิดกรณีเช่นนี้ขึ้นอีก

หรือเป็นการปกป้องนักลงทุนรายย่อยไปในตัวด้วย

ณ วันนี้ และวันต่อๆ ไป ยังไม่มีใครรู้ว่า ปัญหาของ IFEC จะจบลงแบบใด

หุ้นจะได้กลับมาซื้อขายอีกครั้งเมื่อไหร่

หมอวิชัย เสี่ยทวิช และอาจรวมถึงเสี่ยอ๋า จะจับเข่าคุยกันได้ไหม

เวลาช้างสารชนกันนั้น

หญ้าแพรกก็แหลกลาญ

Back to top button