ได้เวลาหุ้นธนาคาร
ช่วงนี้ บรรดาหุ้นธนาคารทั่วโลก ได้รับคำแนะนำจากนักวิเคราะห์ให้เข้าซื้อด้วยหตุผลว่า ได้รับประโยชน์จากความผันผวนของตลาดทุนและตลาดเงินดีกว่าใคร
พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล
ช่วงนี้ บรรดาหุ้นธนาคารทั่วโลก ได้รับคำแนะนำจากนักวิเคราะห์ให้เข้าซื้อด้วยหตุผลว่า ได้รับประโยชน์จากความผันผวนของตลาดทุนและตลาดเงินดีกว่าใคร
ที่ตลาดหุ้นนิวยอร์ก คำแนะนำมุ่งเน้นว่า กำไรไตรมาสแรกของปีนี้ของหุ้นธนาคารจะโดดเด่นจากการที่เศรษฐกิจฟื้นตัวจากการจ้างงาน และการผลิตที่เพิ่มขึ้นของโรงงาน
ส่วนที่ยุโรปวานนี้ แรงซื้อหุ้นกลุ่มธนาคารกลายเป็นประเด็นครอบงำบรรยากาศของตลาดหุ้นทั่วยุโรป จากผลของความคืบหน้าเกี่ยวกับการเตรียมใช้มาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอนของรัฐบาลอังกฤษ และการคาดเดาว่า อัตราเงินเฟ้ออังกฤษจะขยับขึ้นเหนือระดับเป้าหมาย 2% ในเดือนกุมภาพันธ์
ส่วนในตลาดหุ้นไทย นักวิเคราะห์ยามนี้พากันเชียร์ให้ซื้อหุ้นธนาคาร โดยให้เหตุผลว่าพ้นจุดต่ำสุดมาแล้ว และ NPs ก็ควบคุมให้ดีขึ้นได้ ทำให้ความจำเป็นต้องตั้งสำรองลดลงไปอย่างมาก ดีต่อการทำกำไร
ผลลัพธ์ที่ทำให้หุ้นธนาคารกลับมาได้รับความสนใจจากนักวิเคราะห์ และนักลงทุนระลอกใหม่นี้ ไม่ใช่เรื่องประหลาดใจ เพราะเป็นปกติธรรมดาของรอบการเล่นราคาในเกมตลาดหุ้นตามปกติ
โดยทั่วไปแล้ว เวลาที่พิจารณาจุดเด่นด้อยของหุ้นธนาคาร จะอาศัยตัวแปรหลายด้านประกอบกัน ได้แก่ 1) ผลประกอบการในรูปรายได้ และกำไรสุทธิ โดยเฉพาะหากลงลึกก็จะต้องดูอัตรากำไรสุทธิประกอบด้วย 2) สุขภาพทางการเงินของลูกค้า อันได้แก่ ผู้ประกอบการในภาคการผลิตและบริการทั้งหลาย ที่เชื่อมโยงเข้ากับตัวเลขกำลังซื้อของผู้บ้ริโภค ที่ส่งผลเป็นห่วงโซ่ของลูกค้าธนาคาร 3) แนวโน้มหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ของธนาคารในการรับมือกับปัญหาของลูกค้าที่มีปัญหาทางการเงินในแต่และช่วงเวลา 4) ราคาหุ้นของธนาคารในปัจจุบัน เทียบกับพื้นฐานของหุ้นกลุ่มอื่นในตลาดอุตสาหกรรมเดียวกันทั่วโลก
2 ปีที่ผ่านมา ประเด็นว่าด้วยหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ได้รับการพูดถึงมากจากนักวิเคราะห์ เพราะในปัจจุบัน กฎที่เข้มงวดของบาเซิล 3 ทำให้ธนาคารถูกบังคับต้องตั้งสำรองในกรณีมีหนี้สงสัยจะสูญ (หรือพูดให้ไพเราะคือ สินเชื่อจัดชั้น) ว่าด้วยอัตราส่วนสำรองต่อหนี้สงสัยจะสูญ หรือ coverage ratio per NPL ซึ่งกำหนดไว้เบื้องต้นว่ายิ่งมากยิ่งดี คือ มากกว่า 150% ซึ่งการตั้งสำรองส่วนนี้ ถือว่ามีส่วนสำคัญในการรบกวนความสามารถในการทำกำไรของธนาคารค่อนข้างมาก ทำให้ธุรกิจธนาคารมีอัตรากำไรสุทธิต่ำมาโดยตลอดเมื่อเทียบกับธุรกิจการเงินอื่นที่ไม่ใช่ธนาคาร
หลายไตรมาสที่ผ่านมา (และคาดว่าจะเกิดขึ้นในครึ่งแรกของปีนี้) ตัวเลข NPL ของธนาคารพาณิชย์ไทยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างผิดสังเกต จนทำให้เริ่มมีคำถามย้อนกลับมาว่า ยุคสมัยของการถดถอยของธนาคารกำลังหวนย้อนมา (หลังจากที่ฟื้นกลับแข็งแกร่งปลอดจากการขาดทุนเมื่อปี 2554 เป็นต้นมา)
ต้นปีนี้ การเพิ่มทุนของ CIMBT (หลังจากขาดทุนอย่างหนักจาก NPLs) ที่เป็นธนาคารขนาดเล็ก ทำให้ความกังวลเรื่องนี้เข้มข้นขึ้นอย่างไม่อาจปฏิเสธได้เลย
ปีที่ผ่านมาธนาคารขนาดกลางและเล็กส่วนใหญ่ ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่น่าผิดหวัง เพราะมีกำไรสุทธิเติบโตต่ำลงมาก กำไรสุทธิที่เติบโตต่ำมาก มีคำอธิบายสารพัด แต่ที่หนีไม่พ้นก็คือ บรรดาลูกค้าที่เป็น SME ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและการส่งออกที่ชะลอตัว ทำให้ไม่เพียงแต่ธนาคารจะทำกำไรลดลง หรือทรงตัว หรือเพิ่มต่ำกว่าคาดเท่านั้น หากยังส่งผลต่อปัญหาของธนาคารในการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น รบกวนการทำกำไรของธนาคารอย่างมีนัยสำคัญ
โดยทั่วไปแล้ว เวลาที่นักวิเคราะห์พูดถึงหุ้นของธนาคาร เรามักจะได้เห็นจุดเน้นสำคัญของ
- ตัวเลขสินเชื่อด้อยคุณภาพ GROSS NPL ทั้งในปัจจุบันเมื่อเทียบกับคู่แข่งขัน และในอดีตเมื่อเทียบกับตัวเอง สินเชื่อด้อยคุณภาพที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง มีความหมายอันดับแรกสุด
- สินเชื่อรวมต่อ NPL สัดส่วนของ NPL เมื่อเทียบกับสินเชื่อรวมของแต่ละธนาคาร สะท้อนคุณภาพผู้บริหารในการปล่อยสินเชื่อ และการทวงหนี้
- ตัวเลขการตั้งสำรองต่อ NPL ของธนาคาร ถือหลักว่า การตั้งสำรองสูงกว่า 100% ซึ่งทำให้มีความปลอดภัย เพราะมีกันชนสำรองให้ความปลอดภัยล่วงหน้าเอาไว้ ไม่ต้องมีปัญหาขาดสภาพคล่อง แต่รบกวนกำไรสุทธิ
ในช่วงเศรษฐกิจไทยเป็นขาขึ้น กำไรของธุรกิจธนาคารจะเพิ่มขึ้นเหนือกว่าอัตราเติบโตของภาคธุรกิจการผลิตและพาณิชยกรรมเสมอ แต่กำไรของธนาคารจะเกิดขึ้นมาจากรายจ่ายของธุรกิจในภาคการผลิตและพาณิชยกรรมเป็นสำคัญ บรรดาผู้บริหารธนาคารส่วนใหญ่มักจะใช้สูตร “จีดีพี+5” ในการสร้างเป้าหมายการเติบโตของรายได้และกำไรสุทธิ เพื่อให้คำอธิบายกันอย่างง่ายๆ
ส่วนในช่วงขาลง รายได้จากดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ไทย มักจะมีสัดส่วนลดลง เนื่องจากธุรกิจบางส่วน มีความสามารถหาแหล่งเงินทุนของตนเองได้มากขึ้นจากตลาดทุนที่เติบโตต่อเนื่อง ทำให้รายได้จากธุรกรรมที่มิใช่ดอกเบี้ยของธนาคารเพิ่มความสำคัญมากขึ้น
การที่ธนาคารมีกำไรเพิ่มขึ้นมากทั้งจากรายได้ใหม่และเก่า รวมทั้งมีตัวเลขการเติบโตที่โดดเด่น บางครั้งมากกว่าธุรกิจในภาคการผลิตที่แท้จริง สำหรับคนบางกลุ่ม อาจจะถือเป็นสัญญาณอันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามเศรษฐกิจกำลังผันผวนอย่างรุนแรง
ความสามารถรู้เท่าทันและเข้าใจเบื้องหลังที่มาของคำชี้แนะให้ซื้อหุ้นธนาคารของบรรดานักวิเคราะห์ จึงมีความสำคัญที่นักลงทุน ต้องค้นคว้าทำการบ้าน ไม่ใช่เพื่อเชื่ออย่างสุดจิตสุดใจ ที่อาจจะเป็นมายาคติได้ทุกเมื่อ