วิกฤติต้มกบ
คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ จัดเสวนาวิชาการ “เศรษฐกิจไทย 2560: SOMTUM Crisis?!?” ชี้ว่า เศรษฐกิจไทยแม้อยู่ในภาวะซึมเซา แต่กำลังเชิดหัวขึ้นช้าๆ ในระยะสั้นจะไม่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ไม่ซ้ำรอยต้มยำกุ้ง แต่ปัญหาคือ ในระยะยาวเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อาจทำให้ไทยค่อยๆ ตายทีละส่วนอย่างช้าๆ
ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง
คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ จัดเสวนาวิชาการ “เศรษฐกิจไทย 2560: SOMTUM Crisis?!?” ชี้ว่า เศรษฐกิจไทยแม้อยู่ในภาวะซึมเซา แต่กำลังเชิดหัวขึ้นช้าๆ ในระยะสั้นจะไม่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ไม่ซ้ำรอยต้มยำกุ้ง แต่ปัญหาคือ ในระยะยาวเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อาจทำให้ไทยค่อยๆ ตายทีละส่วนอย่างช้าๆ
“มันจะไม่ใช่ ‘ส้มตำ Crisis’ แต่เราอาจจะเผชิญกับ ‘ต้มกบ Crisis’ คือเราไม่ได้ใส่กบตัวนี้ลงในน้ำเดือดจนเกิดวิกฤติแบบทันที แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือเรากำลังปล่อยให้กบตัวนี้อยู่ในหม้อต้มที่อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ กบเป็นสัตว์เลือดเย็น มันไม่รู้ตัวหรอกว่ามันกำลังจะตาย แต่พอวันหนึ่งที่น้ำอุณหภูมิถึง 100 องศา มันจะต้องตายอยู่ดี เหมือนกับเศรษฐกิจไทยที่เราอยู่ในภาวะเติบโตแบบช้าๆ หลายอย่างเราปรับตัวไม่ทัน เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ ยานยนต์ รวมถึงภาคบริการต่างๆ ที่กำลังจะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี ถ้าเราปรับตัวไม่ทัน เราจะค่อยๆ ตายทีละส่วนอย่างช้าๆ”
นั่นเป็นคำกล่าวของ ดร.สุทธิกร กิ่งแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาผู้บริหารทางธุรกิจ ซึ่งฟังน่ากลัว แต่ก็น่าเชื่อเพราะเห็นได้ไม่ไกลตัว รู้ๆ กันอยู่ว่าเรามีปัญหาเรื่องการศึกษา การพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน ที่เพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม กำลังจะแซงหน้า
เศรษฐกิจระยะสั้นน่ะใช่ ปีนี้ดูเหมือนจะดีขึ้น ด้วยอานิสงส์เศรษฐกิจโลก และการกระตุ้นของรัฐบาล ที่ใช้เม็ดเงินมหาศาล (แต่ก็สร้างภาระ กระทั่งจะมีการเก็บภาษีเพิ่มในหลายกลุ่ม)
ศ.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เพิ่งดีอกดีใจว่า เศรษฐกิจโลกขาขึ้นมาถึงแล้ว เศรษฐกิจไทยไม่แย่ลง มีแต่จะดีขึ้น ต่อจากนี้ รัฐบาล คสช.ทำอะไรก็จะเข้าเป้า กว่าจะถึงเลือกตั้ง ภาพอาจเป็นว่า รัฐบาลทหารฟื้นเศรษฐกิจได้ “ดวง ใครคิดว่าไม่สำคัญ” (อ้าว ยกให้ดวง ไม่ใช่ฝีมือรัฐบาลหรือ)
แต่อย่าย่ามใจนะครับ เพราะ ดร.สุทธิกรมองว่าแม้เศรษฐกิจโลกดีขึ้น ก็เป็นแบบ New Normal คือเติบโตน้อยๆ ไม่หวือหวา ไม่ใช่โตพรวดพราดฉับพลัน นักวิชาการคนอื่นๆ ก็มองว่าปัจจัยภายในยังพึงระวังอีกหลายอย่าง เช่น หนี้ครัวเรือน ภัยแล้ง รายได้เกษตรกร
ถามจริง การบอกว่าเศรษฐกิจดีขึ้นแน่ แต่ก้าวไม่พ้นกับดัก อนาคตจะตายอย่างช้าๆ น่าดีใจไหม บางคนอาจบอกว่ารัฐบาลวางยุทธศาสตร์ชาติไว้แล้วไง ไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 เปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม
แต่ถ้ามองภาพกว้างขึ้น ก็มีคำถามว่า “วิกฤติต้มกบ” นี่เฉพาะทางเศรษฐกิจหรือ แล้วการเมือง สังคม วัฒนธรรม การศึกษาล่ะ ไม่ได้อยู่ใน “วิกฤติต้มกบ” หรือ
กบในหม้อต้ม ที่อุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ ไม่รู้ตัวว่าจะตาย ปรับตัวไม่ทัน ตายทีละส่วนอย่างช้าๆ การเปรียบเทียบนี้ใช้ได้ทุกเรื่องไหม
ทางการเมือง ถึงวันนี้ยังไม่รู้เลย ประเทศนี้จะเป็นเผด็จการหรือประชาธิปไตย รู้นะ ว่าอยู่ใต้ระบอบ คสช.ไปอย่างนี้เรื่อยๆ ไม่ได้ แต่มองไปข้างหน้า กลัวมีเลือกตั้งก็วุ่นวาย ปรองดองก็หาทางลงไม่เจอ เออ แล้วจะอยู่กันยังไง
สังคมไทยติดกับดักทุกด้าน เพราะใช้ต้นทุนบุญเก่าหมดแล้ว หลังการ “ปรองดอง” เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบในทศวรรษ 2520 ยุคป๋าเปรม ทำให้เศรษฐกิจก้าวกระโดดโชติช่วงชัชวาล แล้วเปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตยใต้การควบคุม
แต่ 40 ปีผ่านไปก็ถึงทางตัน ติดกับ ไปข้างหน้าก็ไม่ได้ ย้อนอดีตก็ไม่ได้ กบเลือกนายก็ได้แต่อยู่ในหม้อต้มไปวันๆ เท่านั้นเอง