ORI หลุดกับดักสภาพคล่องหุ้น
เช้าวันจันทร์ที่ผ่านมา ผู้ถือหุ้นใหญ่ ตระกูลจรูญเอก ของบริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI แจ้งต่อตลาดว่า ได้ทำการขายหุ้นออกจากมือของนางอารดา จรูญเอก จำนวน 12 ล้านหุ้น ในราคาเฉลี่ยหุ้นละ 11.30 บาท คิดเป็นมูลค่าซื้อขาย 135.60 ล้านบาท
แฉทุกวันทันเกมหุ้น
เช้าวันจันทร์ที่ผ่านมา ผู้ถือหุ้นใหญ่ ตระกูลจรูญเอก ของบริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI แจ้งต่อตลาดว่า ได้ทำการขายหุ้นออกจากมือของนางอารดา จรูญเอก จำนวน 12 ล้านหุ้น ในราคาเฉลี่ยหุ้นละ 11.30 บาท คิดเป็นมูลค่าซื้อขาย 135.60 ล้านบาท
การขายบิ๊กล็อตในราคาสูงกว่ากระดาน ถือเป็นความ “ฉลาดขาย” อย่างมีนัยสำคัญ เพราะสะท้อนว่า คนซื้อต้องการซื้อ และคนขายไม่เต็มใจขาย…แต่ที่ขายเพราะเหตุผลอื่น ที่มากกว่าแค่ความต้องการเงิน
ผลของการซื้อขายดังกล่าว ทำให้ กลุ่มตระกูลจรูญเอก ที่เคยถือหุ้นเมื่อปิดสมุดบัญชีผู้ถือหุ้นสิ้นงวดปี 2559 กลุ่มจรูญเอกมีสัดส่วนการถือหุ้นใน ORI รวมทั้งหมด 66.15% จะถือครองหุ้นลดลงเหลืออยู่มากถึง 65.15% ซึ่งเพียงพอต่อการควบคุมธุรกิจต่อไปในระยะยาว
ส่วนผู้ซื้อ ไม่ใช่คนอื่นไกลที่ไหน กองทุนต้นโพธิ์ ซึ่งเดิมถือหุ้นใน ORI อยู่แล้วในสัดส่วนราว 3% เมื่อสิ้นปี 2559 มีสัดส่วนการถือหุ้นใน ORI เพิ่มเป็น 4%
ถ้าเรามองข้ามคำพูดที่ประดิษฐ์สวยหรูเกินจริงของฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ ORI ที่ออกมาระบุว่า “…มั่นใจในศักยภาพว่า บริษัทมีทิศทางในการเติบโตได้อย่างดีในอนาคต และมีแผนธุรกิจที่จะกระจายรายได้ในหลากหลายทาง นอกเหนือจากรายได้จากการพัฒนาและขายอสังหาริมทรัพย์เพียงอย่างเดียว…” ก็จะเห็นได้ว่า การซื้อขายดีลนี้ มีข้อสังเกตบางประการไว้ คือ
1) กองทุนต้นโพธิ์ น่าจะเชื่อมโยงกับ บจล.ในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ รุกคืบเข้ามาในเขตอิทธิพลของเครือข่ายธนาคารกสิกรไทย ที่เป็นคนแต่งตัว ORI เข้าระดมทุนในตลาดเมื่อ 2 ปีก่อน
2) การขายครั้งนี้ ปลดล็อกเรื่องสภาพคล่องและการถือครองหุ้นของตระกูลจรูญเอกลงไป ตามหลักการของบริษัทมหาชนจดทะเบียน ที่จำนวนหุ้นฟรีโฟลตในตลาดรอง ต้องมีสภาพคล่องมากพอสมควร เพื่อให้มีการซื้อขายคล่องตัว
ข้อสังเกตดังกล่าวสะท้อนว่า คนในตระกูลจรูญเอก นำโดย คุณโด่ง นายพีระพงศ์ จรูญเอก เริ่มซึมซับสัจธรรมของการถือหุ้นใหญ่เป็นบริษัทมหาชนจดทะเบียนในตลาดหุ้นชัดเจนว่าบางครั้งก็เป็นทุกขลาภได้
อดีตเมื่อเริ่มต้นเข้ามาในตลาดปลายปี 2558 ปัญหาใหญ่ที่ชวนปวดหัวของหุ้น ORI คือ มีฟรีโฟลตต่ำ (โดยพฤตินัย) และขาดสภาพคล่อง จนเข้าข่าย “หุ้นดี ราคาแย่” นานหลายเดือนเลยทีเดียว
รากเหง้าของปัญหาขาดฟรีโฟลตโดยพฤตินัย เกิดจากการที่นักลงทุนระดับ “ขาใหญ่” 2 ราย อย่าง นายนเรศ งามอภิชน และ เสี่ยปู่ นายสมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล โผล่มาเข้าซื้อหุ้นรายนี้ด้วยตั้งแต่แรกเข้าตลาดทั้งซื้อบางส่วนจาก IPO และซื้อในกระดานยามที่ราคาหุ้นโรยตัว แถมยังซื้อมากจนเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ระดับ 1-20 อันดับแรกไปเลย เพราะใช้กลยุทธ์ถือชนิด “กอดไม่มีปล่อย”
ผลลัพธ์ของการทำให้สภาพคล่องของหุ้น ORI เหลืออยู่ไม่ถึง 8% ในยามนั้น คือ แม้จะมีผลดีในระยะแรก แต่ก็เป็นผลเสียในระยะยาว เพราะทำให้วอลุ่มซื้อขายบนกระดาน หดหายไปเยอะ…เข้าข่ายตลาดวายเอาดื้อๆ
ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นยามนั้น ทำให้กลุ่มผู้ก่อตั้ง ถือหุ้นใหญ่ และผู้บริหาร ไม่สบายใจมาก แต่ก็พูดไม่ออก….เมื่อเห็นว่า หุ้นรวมในกำมือของ 2 ขาใหญ่อย่าง เสี่ยนเรศและเสียปู่ มีสัดส่วนเกินกว่า 22%
กว่าจะใช้เวลาแก้ไขปัญหาหุ้นขาดฟรีโฟลตโดยพฤตินัยได้ ก็ต้องรอถึงปลายปี 2559
เมื่อไตรมาสสี่ บอร์ดของ ORI ตัดสินใจสำคัญทำการจ่ายปันผลพิเศษ เป็นหุ้นบางส่วน และเงินสดบางส่วน โดยทำการจ่ายในอัตราส่วน หุ้น ORI เดิม 1.5 หุ้น ต่อหุ้นปันผล 1 หุ้น และแถมพ่วงด้วยเงินสดเพื่อจ่ายภาษีปันผลอีก 0.0371 บาทต่อหุ้น
การจ่ายปันผลในครั้งนั้น ทำให้มีการเพิ่มทุนโดยปริยายถึง 66% ซึ่งนอกจากแก้ปัญหาหุ้นขาดสภาพคล่องลงไปได้มาก ก็ต้องยอมแลกกับการปล่อยให้ราคาหุ้นร่วงแรง สู่การคำนวณใหม่หรือ dilution effect ที่ระดับ 8.00 บาทนานหลายเดือน ก่อนที่นักลงทุนจะพากันเข้าใจซึมลึกว่า มีผลดีเช่นไร เพราะ “ทองแท้ ไม่เคยกลัวไฟลน”
เท่านั้นยังไม่พอ หลังจากสิ้นงวดปิดบัญชีปี 2559 ที่ ORI แม้จะมีกำไรสุทธิสวยงาม แต่กำไรต่อหุ้นที่ลดลงเพราะการเพิ่มจำนวนหุ้นมากมาย โดยไม่มีเงนสดเข้ามาเพิ่มเติม ทำให้สมาชิกบอร์ดบริษัทก็ยังเห็นว่าควรสงวนเงินสดเพื่อการลงทุนในระยะต่อไป จึงตัดสินใจจ่ายปันผลเป็นหุ้น (บวกเงินสดเพื่อเสียภาษี) อีกครั้ง เมื่อต้นเดือนมีนาคมนี้เอง โดยจ่ายปันผลในอัตรา (หุ้นเดิม:หุ้นปันผล) 2.50 : 1 และพ่วงจ่ายเงินสดอีกหุ้นละ 0.04 บาท
งานนี้ หากไม่ใช่บริษัทที่กำลังเติบโตเป็นขาขึ้น เช่น ORI…. ถือว่าเข้าข่าย จ่ายอ่วมอรทัยเลยทีเดียว…บริษัทโทรม แต่ผู้ถือหุ้นยิ้ม แม้จะเจอกับปัญหา dilution effect บ้างก็ยอมรับได้
การขายหุ้นจากมือของตระกูลจรูญเอก (ในช่วงเวลาก่อนขึ้น XD) นอกจาก “ฉลาดขาย” แล้ว ยังได้ประโยชน์เพิ่มเติม เพราะการปล่อยหุ้นไปอยู่ในมือกองทุนรวม ย่อมดีกว่าปล่อยมือให้กับ “ขาใหญ่” ทำให้ไม่ต้อง “นอนสะดุ้ง” ว่าจะถูก “รุกคืบ” เข้ามาขออำนาจร่วมบริหารกิจการ ….หากกองทุนจะขายในอนาคต ย่อมขายในตลาด ที่ทำให้ฟรีโฟลตเพิ่มขึ้น
ยิงกระสุนนัดเดียว ได้นกหลายตัวอย่างนี้ ห้ามลอกเลียนแบบ หากไม่มีความสามารถพิเศษ
“อิ อิ อิ”