พาราสาวะถีอรชุน
คงเห็นแล้วว่าการโยนหินถามทางไม่ได้ผล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงต้องออกโรงสั่ง วารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ หรือโหรคมช.ให้ปิดปาก ไม่ต้องพูดถึงว่าตัวเองจะอยู่ในตำแหน่งนานถึง 3 ปี เพราะเข้าใจดีว่าไม่เกิดผลด้านบวกต่อตัวท่านผู้นำและรัฐบาลแน่นอน พร้อมๆ กับยืนยันจะอยู่ทำหน้าที่ให้ทุกอย่างจบเสร็จตามกรอบเวลาโรดแม็พที่ได้วางไว้
คงเห็นแล้วว่าการโยนหินถามทางไม่ได้ผล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงต้องออกโรงสั่ง วารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ หรือโหรคมช.ให้ปิดปาก ไม่ต้องพูดถึงว่าตัวเองจะอยู่ในตำแหน่งนานถึง 3 ปี เพราะเข้าใจดีว่าไม่เกิดผลด้านบวกต่อตัวท่านผู้นำและรัฐบาลแน่นอน พร้อมๆ กับยืนยันจะอยู่ทำหน้าที่ให้ทุกอย่างจบเสร็จตามกรอบเวลาโรดแม็พที่ได้วางไว้
ต้องเป็นเช่นนั้น ขืนปล่อยไว้นานจะกลายเป็นไฟลามทุ่ง ยิ่งเสียงวิจารณ์หนักข้อเท่าไหร่ ย่อมไม่ส่งผลดีต่อรัฐบาลโดยตรง โดยเฉพาะจากสายตาต่างชาติที่จับจ้องทั้งการใช้กฎหมายพิเศษและการสืบทอดอำนาจ เหมือนอย่างที่บอกไปวันวาน สถานการณ์การกดดันของนานาประเทศที่มีต่อไทยเวลานี้หนักหน่วงกว่าในช่วงแรกๆ
เหตุผลอีกประการที่หัวหน้าคสช.สั่งให้โหรทหารปิดปาก คงเป็นเพราะหนนี้การโยนหินถามทางไม่ได้มีเสียงสนับสนุนเหมือนเมื่อคราวที่คณะรัฐประหารเข้ามากุมอำนาจในช่วงแรกๆ นาทีนี้หากถามว่าระหว่างความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองกับการอยู่ดีกินดีของพี่น้องประชาชน คนทั่วไปจะเลือกอย่างไหน คงไม่ต้องให้เดาคำตอบ
ขณะเดียวกันต้องไม่ลืมว่า นอกจากบิ๊กตู่จะถูกตั้งแง่และเกิดความคลางแคลงใจต่อการจ้องจะอยู่ต่อ อีกด้านเสียงครหาเรื่องการทำหน้าที่ของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญก็ดังขึ้นตามมาเรื่อยๆ ล่าสุด ก็เกิดประเด็นที่ “ดอกเตอร์ปื๊ด” บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ออกอาการปรี๊ดแตก โทษสื่อว่าไปบิดเบือนคำพูดที่ระบุ คนเรียนสูงเป็นคนชั่ว
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแสดงออกถึงความไม่พอใจที่มีต่อสื่อ ซึ่งหากเกิดขึ้นบ่อยครั้งย่อมไม่เป็นผลดีต่อการทำงานในระยะต่อๆ ไปอย่างแน่นอน สุดท้าย อาจจะกลายเป็นการบั่นทอนความชอบธรรมของคณะผู้ยกร่างกฎหมายสูงสุดของประเทศเสียเอง กับการไม่ได้ดั่งใจจนต้องออกมาตีโพยตีพาย ต้องไม่ลืมว่าวันนี้ข้อครหาเรื่องการล็อกสเปกรัฐธรรมนูญยังไม่หมดไป
อีกด้านเรื่องมาตรา 44 ที่ วิษณุ เครืองาม และ วินธัย สุวารี ช่วยกันชี้แจงต่อคณะทูตและสื่อต่างชาติที่กระทรวงการต่างประเทศเมื่อวานนี้ ทั้งคู่ยืนยัน จะใช้กฎหมายพิเศษนี้ด้วยความระมัดระวังและจะไม่ไปละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนกลุ่มใด เพื่อให้เห็นว่าไม่มีเจตนาปิดกั้นหรือกีดกันคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง คงต้องให้คสช.พิจารณาอนุญาตให้นปช.จัดงานทำบุญให้คนเสื้อแดงที่เสียชีวิตจากเหตุสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 เสียก่อน
เพราะตรงนี้จะถือเป็นจุดตั้งต้นที่แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลนี้มีความจริงใจต่อคนทุกฝ่ายทุกกลุ่ม อะไรที่ไม่ใช่การรวมตัวกันทางการเมืองแล้วมีการชุมนุมปราศรัยก็สมควรจะปล่อยให้ทำได้ ต้องไม่ลืมว่า เมื่อวันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา คสช.เพิ่งปล่อยให้พรรคประชาธิปัตย์และภูมิใจไทย ทำบุญวันครบรอบก่อตั้งพรรคได้ ในกรณีทำบุญของคนเสื้อแดงก็ต้องเข้าข่ายในลักษณะเดียวกัน
หากมีการกระทำที่นอกเหนือจากการทำบุญอุทิศส่วนกุศลปกติ ฝ่ายความมั่นคงก็มีกฎหมายพิเศษที่จะสามารถดำเนินการเอาผิดได้อยู่แล้ว ไม่เห็นต้องกลัวอะไร ยิ่งแสดงความวิตกกังวลยิ่งแสดงให้เห็นว่าคนที่มีอำนาจมีวาระซ่อนเร้นอย่างหนึ่งอย่างใดหรือไม่ ความจริงใจและยุติธรรมเท่านั้น จึงจะนำมาซึ่งความปรองดองอย่างแท้จริง
น่าเห็นใจอยู่ไม่น้อยกับบทสัมภาษณ์ล่าสุดของหัวหน้าคสช.ที่บอกว่าตัวเองเป็นคนอ่านหนังสือเยอะ แต่กลับถูกคนที่อ่านหนังสือน้อยมาวิพากษ์วิจารณ์ คงต้องถามท่านดังๆ ว่า การอ่านน้อยหรืออ่านมากมันชี้วัดความเก่งกาจสามารถกันได้อย่างนั้นหรือ ถ้าเช่นนั้นป่านนี้ คนที่เป็นหนอนหนังสือหลายๆ รายในรัฐบาลนี้ คงแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ดีกว่านี้ไปแล้ว
ตรรกะเช่นนี้มันน่าจะตื้นเกินไป อย่างไรก็ตาม สำหรับคนนี้ที่พูดถึงมาตรา 44 ไม่น่าจะอ่านหนังสือได้น้อยกว่าท่านผู้นำ นั่นก็คือ ดอกเตอร์อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีและคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต สถาบันการอุดมศึกษาที่แสดงจุดยืนชัดเจนว่าไม่เอาระบอบทักษิณและสนับสนุนรัฐบาลคสช.อย่างเต็มตัว
แต่ในรายของอาจารย์อนุสรณ์ต้องเป็นข้อยกเว้น เพราะความเห็นและข้อเสนอแนะนั้นเป็นไปอย่างตรงไปตรงมา ไม่เลือกยืนอยู่ข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด โดยเจ้าตัวมองว่า ผลของการยกเลิกกฎอัยการศึกเกิดผลบวกระยะสั้นต่อการท่องเที่ยวและการลงทุนในตลาดการเงิน แต่การใช้มาตรา 44 ทำให้ผลดีมีข้อจำกัดเนื่องจากยังเป็นการส่งสัญญาณถึงความไม่ปกติและความขัดแย้ง รวมทั้งปัญหาเสถียรภาพการเมืองยังดำรงอยู่
หากสามารถใช้กฎหมายปกติได้จะเป็นการส่งสัญญาณอย่างชัดเจนต่อนักลงทุนว่า เมืองไทยมีเสถียรภาพและสถานการณ์กลับสู่ภาวะปรกติทำให้เกิดผลบวกอย่างมากต่อการท่องเที่ยว การลงทุนและเศรษฐกิจโดยรวม นอกจากนี้ ยังเป็นเตรียมความพร้อมกลับคืนสู่ความเป็นประชาธิปไตย หากจำเป็นต้องใช้มาตรา 44 ขอให้มีการใช้ด้วยความระมัดระวังไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน จำกัดสิทธิเสรีภาพมากเกินไป
สิ่งสำคัญคือต้องสร้างกลไกตรวจสอบถ่วงดุลเป็นการเฉพาะ เพราะอำนาจจากมาตรา 44 นั้นเป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่ขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจ ควบรวมอำนาจไว้เบ็ดเสร็จทั้งอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ โดยผลแห่งการใช้อำนาจตามมาตรา 44 อย่างไม่ระมัดระวังนั้นอาจจะกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจด้วย
โดยอาจารย์อนุสรณ์มองว่า หากใช้มาตรา 44 ไม่ระมัดระวังอาจจะเกิดเงินฝืดได้ เงินลงทุนจะไหลออกและหนีหาย แต่หากใช้อย่างระมัดระวังเท่าที่จำเป็นเพื่อให้เกิดเสถียรภาพความสงบและผลักดันปฏิรูปประเทศโดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจสำคัญๆ จะเป็นการวางรากฐานอันแข็งแกร่งให้ประเทศและไม่มีปัญหาเงินฝืดอย่างแน่นอน นี่คือคนที่อ่านหนังสือมากเหมือนท่านผู้นำ ซึ่งวิจารณ์และเตือนด้วยความหวังดี อยู่ที่ว่าท่านและชาวคณะจะเปิดใจกว้างรับฟังมากน้อยขนาดไหน