IFEC – ECF ลับ ลวง พราง
เรื่องเล็กๆ ถูกเปิดเผยเมื่อวานนี้ แต่เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้น เมื่อเดือนธันวาคม 2559
แฉทุกวันทันเกมหุ้น
เรื่องเล็กๆ ถูกเปิดเผยเมื่อวานนี้ แต่เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้น เมื่อเดือนธันวาคม 2559
เนื่องจากงบการเงินของบริษัท อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค จำกัด (มหาชน) หรือ ECF สิ้นงวดปี 2559 ระบุว่า ได้ให้เงินกู้ยืมระยะสั้นแก่กิจการอื่น จำนวน 50 ล้านบาท
ตัวเลขวงเงินกู้แก่บริษัทลึกลับดังกล่าว ถูกตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้ ECF ชี้แจงรายการดังกล่าวเพื่อความกระจ่างชัด
คำชี้แจงของ ECF ถูกทำให้ชัดเจนแล้วว่า จริงเป็นมากกว่าเงินกู้ยืม แต่เป็น…เงินมัดจำการซื้อขายกิจการ ที่มีลักษณะพิเศษ
ข้อเท็จจริง (ตามคำชี้แจงของ ECF) ระบุว่า เมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2559 บริษัท ได้รับการเสนอขายโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล ขนาด 7.5 เมกะวัตต์ (MW) ใน จ.ลพบุรี ซึ่งเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าแล้ว ของบริษัท ทรู เอ็นเนอร์ยี่ เพาเวอร์ ลพบุรี จำกัด (TRUE) จากผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัทดังกล่าว จึงได้เกิดความสนใจที่จะเข้าศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ โดยเบื้องต้นผู้บริหาร ECF ได้พิจารณา และตัดสินใจเข้าศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการโดยละเอียด เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาตัดสินใจเข้าลงทุนต่อไปหรือไม่
ทั้งนี้ ทรู เอ็นเนอร์ยี่ เพาเวอร์ ลพบุรี หรือ TRUE ดังกล่าว ….ไม่ได้เป็นอะไรเกี่ยวข้องกับบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาขน) แต่อย่างใดเลย …หากเป็นบริษัทย่อยของบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เทอมอล พาวเวอร์ จำกัด (IFEC-T) ที่ถือหุ้นใน TRUE 99.99%
ขณะที่ IFEC-T ก็เป็นบริษัทที่ถือหุ้นโดยบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน)หรือ IFEC จำนวน 99.99% อีกต่อหนึ่ง
โครงสร้างที่ซับซ้อนตะบักตะบวยโดยไม่จำเป็นเช่นนี้ มีไว้ทำอะไร…ต้องถามนายแพทย์วิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ประธานกรรมการ และนายสิทธิชัย พรทรัพย์อนันต์ ซีอีโอของ IFEC ในยุคนั้น กันเอาเอง…อะแฮ่ม! อะแฮ่ม!!
ดีลดังกล่าว เกิดขึ้น โดย TRUE ที่เป็นผู้จะขาย และECF ที่เป็นผู้จะซื้อ ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อวางเงินมัดจำสำหรับการเข้าศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการจำนวน 50 ล้านบาท ในรูปแบบเงินมัดจำที่เรียกคืนได้ (refundable deposit) ซึ่งสามารถเรียกคืนได้หากการเข้าศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการไม่เป็นที่น่าพอใจที่จะเข้าลงทุน
การศึกษาความเป็นไปได้ รวมความถึง การตรวจสอบฐานะกิจการ (Due Diligence) โดยว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญ 3 ด้าน ทั้งด้านบัญชีการเงิน เทคนิค และที่ปรึกษาทางการเงิน เพื่อประเมินความสมเหตุสมผลของการเข้าลงทุนเป็นเวลา 1.5 เดือนภายหลังได้รับเอกสารครบถ้วน
ที่ต้องวางมัดจำในลักษณะดังกล่าว ECF ระบุว่า เนื่องจากขณะนั้นทาง IFEC ต้องการเงินจำนวน 50 ล้านบาทไปชำระหนี้เจ้าหนี้…ซึ่งน่าจะเกี่ยวข้องกับกรณีตั๋วบี/อี ที่ผิดนัดชำระมาระยะหนึ่งแล้ว…จึงขอให้ECFจัดทำสัญญาในรูปแบบเงินกู้ยืมระยะสั้นไม่เกิน 90 วันขึ้นมาระหว่าง IFEC และบริษัท คิดอัตราดอกเบี้ย 6.25% ต่อปี โดยเสนอหลักประกันคือหุ้นที่ IFEC ถืออยู่ใน IFEC-T จำนวน 5 ล้านหุ้น หรือ คิดเป็น 8.3% มาจำนำ (ในฐานะหลักทรัพย์ค้ำประกัน) และให้ระบุไว้ในเงื่อนไขสัญญาว่า สามารถใช้แทนการวางเงินมัดจำตามสัญญาได้
เงินมัดจำโดยนิตินัยที่มีเงื่อนไขจ่ายดอกเบี้ยกำกับ…แต่โดยพฤตินัยก็คือ เอกสารกู้ยืมเงิน ที่มีใบหุ้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน…ก็เกิดขึ้นด้วยประการฉะนี้
คำชี้แจงของ ECF ระบุว่า โดยปกติการวางเงินมัดจำในลักษณะดังกล่าวสำหรับการเข้าศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการอื่นทั่วไป ทางผู้สนใจจะซื้อจะไม่ได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยในระหว่างการวางเงินมัดจำและไม่มีหลักประกันแต่อย่างใด แต่ “…ในกรณีนี้บริษัทจะได้รับอัตราดอกเบี้ยและได้รับหลักประกัน ประกอบกับสัญญาเงินกู้ยืมจะสามารถใช้ประโยชน์ได้ในทางกฎหมาย จึงมีความได้เปรียบหากเทียบกับกรณีการวางเงินมัดจำแบบทั่วไป…”
หากผลสรุปความเป็นไปได้ น่าพอใจ (โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปไม่เกินไตรมาส 2/2560) เงินมัดจำดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งของราคาซื้อขาย แต่หากไม่เป็นที่น่าพอใจ ทางด้าน IFEC จะต้องคืนเงินมัดจำดังกล่าวภายในวันที่ 26 มีนาคม 2560 …ตรงกับวันอาทิตย์ที่จะถึงนี้
หากดู เงื่อนไข และเงื่อนเวลา จะเข้าใจได้ว่า ทำไป “ให้หรู” เพื่อให้ดู “เป็นมืออาชีพ” เท่านั้น ความจริงแล้ว คนให้กู้ยืมเงินก็รู้ดีว่า ท้ายสุดจะออกมาว่า ECF จะสรุปว่า ผลการศึกษา“…ไม่เป็นที่น่าพอใจ…”
ข้อเท็จจริงดังกล่าว เห็นได้ว่า เงิน 50 ล้านดังกล่าว ที่หมอวิชัยเคยระบุถึงว่า ได้เอา “เงินส่วนตัว” ไปชำระหนี้ตั่วบี/อี ของ IFEC ในเดือนธันวาคมนั้น..เอาเข้าจริง มาจากการ “กู้ยืม” ด้วยเงื่อนไขที่เอาทรัพย์สินของ IFEC และบริษัทในเครือ ไปทำข้อตกลง…โดยมีปริศนาว่า ใช้อำนาจอะไรไปกระทำการ
คำถามคือ ที่หมอวิชัยเคยป่าวประกาศไปทั่วว่า หัวเด็ดตีนขาด จะไม่มีวันขายโรงไฟฟ้า..แต่จะขายเฉพาะโรงแรมดาราเทวีเท่านั้น…มันจริงหรือโกหก
คำถามต่อมา… ECF จะได้เงินสดให้กู้ยืม 50 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยคืน หรือ จะได้ใบหุ้นของ IFEC-T จำนวน 5 ล้านหุ้น ที่เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันไปแทน ….อีกไม่นานก็จะมีคำตอบสำหรับจุดจบของ ลับ-ลวง-พราง
อิ อิ อิ