APX พี่ไม่ได้มาคนเดียว
นายพงษ์พันธ์ สัมภวคุปต์ หรือ พี่น้อย เป็นมากกว่านักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีเกลื่อนกลาดในตลาด แต่เป็นที่ยอมรับว่าเป็น 1 ในตำนาน ทั้งจากคนในวงการอสังหาริมทรัพย์ ผู้บริหารของสถาบันการเงิน และ สื่อธุรกิจ
แฉทุกวันทันเกมหุ้น
นายพงษ์พันธ์ สัมภวคุปต์ หรือ พี่น้อย เป็นมากกว่านักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีเกลื่อนกลาดในตลาด แต่เป็นที่ยอมรับว่าเป็น 1 ในตำนาน ทั้งจากคนในวงการอสังหาริมทรัพย์ ผู้บริหารของสถาบันการเงิน และ สื่อธุรกิจ
ในวงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของไทย พี่น้อย ไม่ใช่แค่เป็นผู้ที่มองตลาดได้ขาด การเลือกทำเลที่ตั้ง และประเภทของโครงการที่จะก่อสร้าง แต่เหนือชั้นกว่าตรงที่เป็นผู้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ๆ ให้กับวงการ
เขาทำให้คำว่า “ทาวน์เฮาส์” (โครงการที่พักอาศัยแนวราบ ที่มีพื้นที่ไม่มากนัก) เป็นที่รู้จักดีติดปากจาก “หลังสวนทาวน์เฮาส์” ต้นกำเนิดแห่งแรกของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2518
ตามมาด้วยโครงการ สีลม พลาซ่า พ่วงต่อด้วย สีลมคอมเพล็กซ์ และ สุขุมวิท พลาซ่า อันลือลั่นในแต่ละยุค รวมทั้งอีกหลายโครงการ อาทิ อาคารอรกานต์ อาคารสีลมเซ็นเตอร์ บ้านสาทร บ้านพร้อมพงศ์ บางนาเรสซิเดนท์ ปาล์มฮิลส์ กอล์ฟ และคันทรี คลับ ฯลฯ รวมถึง วิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด
แต่…ในความลือลั่นของฝีมือในธุรกิจอสังหาฯ ระดับ 1 ในตำนานที่ยังมีชีวิต พี่น้อย กลับดูอาภัพอย่างยิ่ง เมื่อพยายามระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์ฯ หลายครั้ง แต่มีลักษณะ “เข้าๆ ออกๆ” ขาดความต่อเนื่อง กลายเป็น “เด็กประถม” อย่างช่วยไม่ได้
จะด้วยสาเหตุใดก็ตาม…ชื่อของ พงษ์พันธ์ สัมภวคุปต์ กลับลดมูลค่าลง ในมุมมองของนักลงทุน ไม่สามารถ “สร้างมนตร์ขลัง” เรียกแขกได้ฮือฮา เท่าวงการอสังหาฯ
จะบอกว่า “ผิดกลิ่น” คงไม่ใช่… แต่ถ้าบอกว่า “ผิดเวที” ก็คงจะว่าได้
ปี 2547 ตอนที่พี่น้อย แต่งตัวนำหุ้นบริษัท แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ GRAND ซึ่งเขาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ความประหม่ากับตลาดหุ้น ทำให้เขาสูญเสียความเชื่อมั่นในพลัง “นักสร้างตำนาน” ของตนเอง ถึงขั้นมอบหมายความไว้วางใจทั้งหมดไว้ที่บริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน และบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นผู้รับประกันการจำหน่ายหุ้นหรือ อันเดอร์ไรเตอร์มากเกิน
ผลลัพธ์คือ ราคาหุ้น GRAND ไม่สามารถสร้างความประทับใจได้มากนัก หลังจากเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ และเมื่อผลการดำเนินงานแย่ลง เมื่อสิ้นงวดปี 2549 มีผลขาดทุนสุทธิหลังหักภาษีจำนวน 104.0 ล้านบาท (เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิหลังหักภาษีในปี 2548 ที่มีจำนวน 47.3 ล้านบาท) จากสาเหตุหลักคือ การเพิ่มขึ้นของต้นทุนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเกิดจากความล่าช้าของ 2 โครงการคือ คราวน์ พลาซ่า และ หัวหิน บลูลากูน ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา
ในปี 2550 หลังจากเข้าตลาดมาได้แค่ 3 ปี กลุ่มสัมภวคุปต์ ตัดสินใจขายทิ้งหุ้นแกรนด์ แอสเสทที่ถือครองทั้งหมด 16.98% ในราคา 5.70 บาท รวมมูลค่ากว่า 1,211 ล้านบาท ให้แก่พันธมิตรธุรกิจ กลุ่มบริษัท โฮเทล แอนด์ พร็อพเพอร์ตี้ฯ …. หายหน้าไปจากตลาดหุ้นยาวนานถึง 7 ปี
ก่อนที่ผู้คนในตลาดจะลืมชื่อไปสนิท พี่น้อยนำตระกูลสัมภวคุปต์ หวนย้อนกลับมาอีกครั้ง ด้วยการเจียดเงินทุน 785.84 ล้านบาท เข้าไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนของ บริษัท ซันเทคกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ SUNTEC ที่เดิมถือหุ้นใหญ่โดยกลุ่ม หอรุ่งเรือง คิดเป็นสัดส่วน 78% ของมูลค่าหุ้นทั้งหมด และอยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการ หลังจากหยุดการซื้อขายยาวนานตั้งแต่ปี 2542 ในราคาสุดท้าย 2.80 บาท
จากนั้นก็แปลงธุรกิจมาเป็นพัฒนาอสังหาฯ อันเป็นงานถนัด เปลี่ยนชื่อเอาเคล็ดกลายเป็น บริษัท เอเพ็กซ์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ APX พร้อมกับใช้เวลา “ก้มหน้าก้มตาทำงาน” จนสามารถออกจากแผนฟื้นฟู กลับมาทำกำไร 3 ปีซ้อนต่อเนื่อง แม้ว่าจะยังมีขาดทุนสะสมเหลือติดค้างให้ปรากฏ ในงบการเงินงวดสิ้นปี 2559
ความสามารถในการเทิร์นอะราวด์ จากขาดทุนมาเป็นกำไรต่อเนื่อง แม้ยังไม่มากพอจนสามารถจ่ายปันผลได้ ก็เพียงพอที่ ก.ล.ต. จะยอมรับให้ APX กลับมาสร้างสีสันให้ตลาดได้
พี่น้อยนำ APX กลับมาคราวนี้ แม้ว่าจะมีกำไร และมีโครงการที่ดีเกือบ 10,000 ล้านบาทถึง 4 โครงการทั้งที่พัทยา 2 แห่ง ภูเก็ตอีก 2 แห่งเป็นแบ็กล็อก รออยู่ในอนาคต มีทั้งทำเพื่อขาย และทำเพื่อเช่า อย่างสมดุลตามสูตรอสังหาริมทรัพย์ร่วมสมัย แต่ก็… เกิดเสียงทำลายความมั่นใจไม่น้อยว่าราคาหุ้นที่จะเข้ามาเทรดวันแรกจะดีแค่ไหน เพราะโครงการในอนาคตยังต้องการเวลาในการรับรู้รายได้ และล้างขาดทุนสะสมเพื่อกลับมาปันผลใหม่
พี่น้อย …ที่ยอมรับ (อย่างถ่อมตน) ว่า ไม่ถนัดเรื่องหุ้น และไม่เล่นหุ้น …จึงตัดสินใจเรียกความมั่นใจจากนักลงทุน ด้วยการเปิดทางให้ผู้ช่ำชองวงการเข้ามาร่วมถือหุ้นใน APX
เหตุผล จะเพื่อ “เรียกแขก” หรือ “ตอกย้ำอนาคต” อันสดใส ก็ได้ทั้งนั้น….ขึ้นกับจะตีความ
ดูรายชื่อผู้ถือหุ้นใน “รายงานการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้น” ของ APX ที่แจ้งตลาดลงวันที่ 14 มีนาคม 2560 จะเห็นชื่อรายใหญ่…. เรียกเสียงซี้ดซ้าดได้เกินระดับปกติ
รายชื่อดังกล่าว นอกจากคนในกลุ่มสัมภวคุปต์ (ที่มีหลานชายนามกุล ณ ระนอง แทรกมาด้วย) ยังมีรายชื่อต่อไปนี้ปะปน
เสี่ยปู่ นายสมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล ถือหุ้น 4.95% หรือ 148.52 ล้านหุ้น
ภริยาบังเกิดเกล้าของเสี่ยจึง นางวรพรรณ จึงทรัพย์ไพศาล ถือหุ้น 4.85% หรือ 145.39 ล้านหุ้น
นายวิวัฒน์ วิฑูรย์เธียร ผู้ถือหุ้น และซีอีโอของ SGF ในปัจจุบัน ถือหุ้น 4.24% หรือ 127.10 ล้านหุ้น
น้องเขยเฮียฮ้อ นายอรรณพ ลิ้มประเสริฐ ถือหุ้น 3.20% หรือ 95.85 ล้านหุ้น
ทั้ง 4 ชื่อเซียนหุ้น “ขาใหญ่” นี้ ยังแสดงควมจำนงชัดเจนว่า “จะเข้าลงทุนถือหลักทรัพย์เท่านั้น” ไม่ประสงค์จะเข้ามายุ่มย่ามเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหาร…. จึงหมดห่วงเรื่องแย่งกันเป็นกรรมการเหมือนบางบริษัทที่ฉาวโฉ่ยามนี้…. สบายใจได้
4 รายข้างต้นยังไม่พอ มีชื่อของที่ปรึกษาการเงินที่เป็นนิติ บุคคลชื่อดัง บมจ.บรุ๊คเคอร์ กรุ๊ป จำกัด… ใครย่อมรู้ดีว่า เบื้องหลังรายนี้คือพ่อมดการเงินมือเก๋า นายชาญ บุลกุล หรือ มา ชาน ลี อันโด่งดังข้ามทศวรรษนั่นเอง
ดังนั้นการกลับมาเทรดรอบใหม่ของ APX เริ่มวันแรกจันทร์ที่ 27 มีนาคมนี้ ซึ่งตามกติกาแล้ว ราคาจะไม่มีซิลลิ่ง ไม่มีฟลอร์ เปิดทางกันเต็มที่ จึงน่าสนใจและน่าลุ้นว่า การจับมือกันเป็น “แพ็กใหญ่” ของมือเก๋าอสังหาฯ กับ เซียนหุ้นขาใหญ่ จะ “เวิร์ก” เกินปกติ หรือ ต่ำกว่าปกติ
งาน “ลุยไถเรียกแขก” รอบล่าสุด ในนาม APX เริ่มต้นเช้านี้ ในยามที่ดัชนีตลาดเหนือ 1,570 จุด พี่น้อย หรือ พงษ์พันธ์ ….ไม่ได้มาคนเดียวเดี่ยวโดด เหมือนแต่ก่อนอีกแล้ว
อิ อิ อิ
…