AQ….กินแห้ว เพราะบิ๊กตุ้ย

แล้วในที่สุด...ของที่สุด แผนการเพิ่มทุนครั้งมโหฬารของบริษัท เอคิว เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ AQ เพื่อหาเงินไปจ่ายหนี้ธนาคารกรุงไทยและดำเนินธุรกิจต่อในอนาคต หลังจากชะงักงันเพราะไม่ยอมส่งงบการเงินจนถึงขั้นต้องถูกตลาดฯพักการซื้อขายยาวนานเกือบ 1 ปีแล้ว ก็มีอาการ “ล่มปากอ่าว”...ไปไม่ถึงฝั่งฝัน


แฉทุกวันทันเกมหุ้น

 

แล้วในที่สุด…ของที่สุด แผนการเพิ่มทุนครั้งมโหฬารของบริษัท เอคิว เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ AQ เพื่อหาเงินไปจ่ายหนี้ธนาคารกรุงไทยและดำเนินธุรกิจต่อในอนาคต หลังจากชะงักงันเพราะไม่ยอมส่งงบการเงินจนถึงขั้นต้องถูกตลาดฯพักการซื้อขายยาวนานเกือบ 1 ปีแล้ว ก็มีอาการ “ล่มปากอ่าว”…ไปไม่ถึงฝั่งฝัน

เหตุเพราะหนังสือจากเลขาธิการ ก.ล.ต. นายรพี สุจริตกุล หรือ “บิ๊กตุ้ย” ลงวันที่ 21 มีนาคม 2560 ฉบับ ก.ล.ต. ที่ พษ. 424/2560 นั่นเอง

หนังสือดังกล่าว มีผลโดยตรงทำให้ความหวังของ AQ ที่ลงมติบอร์ดไปแล้ว พังทลายไปในบัดดล เพราะแผนเพิ่มทุนที่จะกลายเป็นบริษัทที่มีจำนวนหุ้นมากที่สุดเป็นอันดับสองของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย (รองลงมาจากบริษัท อินเตอร์เนชันแนล เอนจิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IEC)

ตัวแทนของ AQ มีหนังสือแจ้งตลาดฯเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2560 เพื่อขอเลื่อนวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นซึ่งเดิมกำหนดในวันที่  7 เมษายน 2560 ออกไป โดยอ้างถึงคำสั่ง ก.ล.ต.ที่ พษ.424/2560 ดังกล่าว

สำหรับคนที่ไม่มีปูมหลังถึงเหตุเบื้องหลังการเพิ่มทุนครั้งมโหฬารพันลึกของ AQ คงงุนงงไม่น้อย ปะติดปะต่อไม่ถูก…ต้องย้อนความเดิมสักเล็กน้อย

AQ ในปัจจุบัน คือ บริษัทที่เปลี่ยนร่างจาก บริษัท กฤษฎามหานคร จำกัด (มหาชน) หรือ  KMC  ที่เคยอยู่ใต้การถือครองส่วนใหญ่โดยตระกูล กฤษฎาธานนท์นั่นเอง

การเปลี่ยนชื่อจาก KMC มาเป็น AQ ไม่ได้เปลี่ยนแค่ชื่อ แต่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ทั้งหมด หลังจากการปรับเปลี่ยนมาแล้ว 2 รอบ แล้วใช้ชื่อใหม่ ตามสูตร “เคล็ดลืมอดีต” ที่ทำกันประจำ

โครงสร้างเดิมเครือข่ายของตระกูล กฤษฎาธานนท์ ในอดีตนั้น ซับซ้อนและสับสนปนเปกัน (จะโดยจงใจ หรือเพราะความพลั้งเผลอก็ตาม) แยกไม่ออกได้ง่ายๆ ว่า ส่วนไหนเป็นกิจการส่วนตัว ส่วนไหนเป็นบริษัทมหาชน ทำให้คนเข้าใจกันไปหมดว่า เป็นเครือข่ายเดียวกัน ทั้งที่ในทางนิตินัยแล้ว หลายบริษัทไม่ได้มีสัมพันธ์อะไรกันในทางนิติกรรมเลย อาจจะมีแค่ผู้ถือหุ้นร่วมกัน หรือ กรรมการบริหารร่วมกัน หรือแม้กระทั่งมีแค่ตำแหน่งสำนักงานเดียวกัน

ชื่อของเครือข่ายธุรกิจภายใต้กลุ่มลูกหนี้ธนาคารกรุงไทย ที่มีนายวิชัย กฤษฎาธานนท์ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังและก่อหนี้จำนวนมหาศาลพัวพันไปหมดนั้น ประกอบด้วย  1) บริษัท อาร์เค โปรเฟสชั่นนัล จำกัด กู้เงิน 500 ล้านบาท  2) บริษัทโกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด กู้เงิน 9,900 ล้านบาท (วงเงินไฟแนนซ์ 8,000 ล้านบาท วงเงินซื้อที่ดินเพิ่ม 500 ล้านบาท และวงเงินพัฒนาโครงการ 1,400 ล้านบาท) ทำโครงการ กฤษดาซิตี้ 4,000 ล้านบาท 3) บริษัท แกรนด์ คอมพิวเตอร์คอมมูนิเคชั่น จำกัด วงเงิน 1,185.735 ล้านบาท

แม้ข้อเท็จจริงจากทางกฎหมายจะปรากฏชัดเจนว่า บริษัททั้ง 3 ดังกล่าว ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับ KMC เลย โดยเฉพาะ โกลเด้นฯ มีบริษัทแม่เป็นตัวเป็นตนชื่อ บริษัท โปรเกรส พรอพเพอร์ตี้ จำกัด และตัวโกลเด้นฯเองก็มีบริษัทย่อยที่ถือครองที่ดินอยู่อีก ชื่อว่า  บริษัท เค แอนด์ วี เอส อาร์ เอส การ์เด้นโฮม จำกัด …แต่ความที่บังเอิญ กรรมการคนหนึ่งของ “โกลเด้นฯ” เป็นกรรมการคนหนึ่งใน KMC ด้วย แถมที่ตั้งสำนักงานก็ใกล้เคียงกัน ก็เลยโยงใยเป็นเครือข่าย KMC ติดร่างแหตกเป็นจำเลยร่วมไปด้วยกับการกู้เงินจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

จำเลยร่วมในรูป “เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง เอากระดูกแขวนคอ” (ไม่ว่าจะด้วยเหตุปัจจัยอะไรก็ตาม) ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้อ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ อม. 3/2555 เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2558 ลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดี “เครือกฤษฎามหานคร” ก็มีคำถามตามมามากมายว่า แล้ว AQ ที่รับ “มรดกบาป” มา ต้องแบกรับการจ่ายหนี้เป็นเงินเท่าใด

แรกสุดเมื่อตอนคำสั่งศาลฯออกมาใหม่ๆ มีความเข้าใจกันว่า  AQ ต้องจ่ายชำระหนี้ร่วมประมาณ 1,635.73 ล้านบาท  แต่จากข้อมูลของ AQ เองในการประชุมบอร์ดเพื่อลงมติเพิ่มทุน ระบุว่า…สูงถึง 10,004.47 ล้านบาท

เป็นที่มาของการเพิ่มทุนมหาศาล จาก 159,418.67 ล้านบาท เป็น 165,756.012 ล้านบาท การออกหุ้นใหม่จำนวน 318,837.34 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (ราคาพาร์) หุ้นละ 0.50 บาท ที่เกิดขึ้น ดังมีรายละเอียด

แม้เจตนาของบอร์ดจะดูดี แต่มีจุดอ่อนที่ ก.ล.ต. อย่างบิ๊กตุ้ย ไม่สามารถให้ผ่านไปได้เพราะการเพิ่มทุนมีรายละเอียดซับซ้อนนั้น มีสาระสำคัญที่ย่นย่อ ออกมาได้ว่า

  • แบ่งหุ้นที่ออกเสนอขายหุ้นให้นักลงทุนเฉพาะเจาะจง (พีพี) จำนวน 1.25 แสนล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 0.198 บาท
  • เสนอขาย ให้กับผู้ถือหุ้นเดิม จำนวน 1.25 แสนล้านหุ้น พร้อมแจกใบสำคัญ แสดงสิทธิ์ซื้อหุ้น (AQ-W4) ให้ ในสัดส่วน 2 หุ้นเดิมต่อ 1 วอร์แรนต์ กำหนดแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญ ในราคาหุ้นละ 0.05 บาท เมื่อวอร์แรนต์มีอายุครบ 1 ปี
  • เงินที่จะได้รับ จากการเพิ่มทุนประมาณ 37,567 ล้านบาทนั้น ส่วนหนึ่งคือ 17,500 ล้านบาท จะถูกนำไปชำระหนี้ธนาคารกรุงไทย ตามคำพิพากษาของศาลฯ จำนวน 10,004.47 ล้านบาท
  • หนี้ธนาคารกรุงไทยดังกล่าว หากสามารถชำระหนี้ได้หมด บริษัทจะได้รับสิทธิ์ซื้อที่ดินที่เป็นหลักประกันจำนวน 4,323 ไร่กลับคืนมา ในราคาประมาณ 1,000-1,500 ล้านบาท

เรื่องนี้ บิ๊กตุ้ย ระบุว่า มติดังกล่าว ทำผิดกติกาของ ก.ล.ต.ถึง 3 ข้อ …แต่ข้อที่ ก.ล.ต. ย้ำว่ายอมไม่ได้เลย คือ การขายหุ้นแบบ PP ที่มีข้อความระบุว่า การเพิ่มทุนนี้จะมี control dilution ต่อผู้ถือหุ้นเดิม 90.97% ซึ่งถือว่า “อาจเข้าข่ายมีลักษณะก่อให้เกิดความเป็นธรรมหรือความเสียหายต่อผู้ถือหุ้นโดยรวม” ตามข้อ 5 ของประกาศที่ ทจ.72/2558 ลงวันที่ 28 ตุลาคม  2558

คำ “ขอเรียน” (ที่จริงคือ คำสั่ง) อย่างสุภาพของบิ๊กตุ้ยดังกล่าว ทำให้ บรรดาบอร์ดของ AQ ต้องถอยร่นไร้กระบวนท่า…หมดรูป

เพียงแต่คนที่ร่วมหงายเงิบไปด้วยกับ AQ หนีไม่พ้น ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)..เพราะที่เคยกระดิกเท้ารอรับชำระหนี้ นับหมื่นล้านบาท กลายเป็นแค่…แห้วกระป๋อง ธรรมดา

อิ อิ อิ

Back to top button