พาราสาวะถี
“เค้ายิ่งไล่ผมก็ยิ่งอยู่ ใครเห็นด้วยขอให้ยกมือ ผมไม่ใช่นักการเมืองคงไม่ต้องหาเสียงแต่อยากถามความคิดเห็นพวกคุณเท่านั้น” เป็นคำพูดของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา บนเวทีซึ่งมีประชาชนต้อนรับกว่า 3 พันคน ในการเดินทางไปปฏิบัติงานที่จังหวัดนครพนมเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา นี่ถือเป็นการโยนหินถามทางเพื่อจะอยู่ต่อได้หรือไม่
อรชุน
“เค้ายิ่งไล่ผมก็ยิ่งอยู่ ใครเห็นด้วยขอให้ยกมือ ผมไม่ใช่นักการเมืองคงไม่ต้องหาเสียงแต่อยากถามความคิดเห็นพวกคุณเท่านั้น” เป็นคำพูดของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา บนเวทีซึ่งมีประชาชนต้อนรับกว่า 3 พันคน ในการเดินทางไปปฏิบัติงานที่จังหวัดนครพนมเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา นี่ถือเป็นการโยนหินถามทางเพื่อจะอยู่ต่อได้หรือไม่
ประสาคนคิดมากก็อาจจะเป็นเช่นนั้น แต่หากมองว่านี่คือหนทางระบายความอัดอั้นตันใจของท่านผู้นำ ที่อยู่ในตำแหน่งมาเกือบจะ 3 ปี ปรากฏว่าเจอแรงต่อต้านหรือด่าทอจากฝ่ายเห็นต่างอยู่ทุกวัน ก็พอจะเข้าใจได้ มาถึงตรงนี้หันซ้ายแลขวา สถานการณ์ความเคลื่อนไหวทางการเมืองถือว่าเอาอยู่ทั้งกฎหมายพิเศษและมาตรายาวิเศษ
แต่ปัญหาใหญ่อย่างเศรษฐกิจยังเป็นเครื่องหมายคำถาม ภาพรวมคงไม่ต้องพูดถึง เอาแค่ปากท้องของประชาชนประเภทหาเช้ากินค่ำ มนุษย์เงินเดือนทั้งหลาย น่าจะให้คำตอบได้ว่าเป็นอย่างไร สิ่งนี้ต่างหากที่มันคือความท้าทายของผู้ได้อำนาจมาโดยไม่ผ่านการเลือกตั้ง จะบริหารจัดการอย่างไร อุตส่าห์ใช้หัวหน้าทีมที่เคยผ่านงานสร้างชื่อมากับ ทักษิณ ชินวัตร แล้วก็ยังมองไม่เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์เสียที
จากที่เคยหวังว่าเศรษฐกิจต่างประเทศน่าจะกระเตื้อง จะได้เผื่อแผ่อานิสงส์มาถึงประเทศไทยบ้าง ดูยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา ภายใต้การนำของ โดนัลด์ ทรัมป์ หลังถูกหักหน้าด้วยคำพิพากษาของศาลตีตกคำสั่งห้ามคนชาติมุสลิมเดินทางเข้าประเทศ ล่าสุดก็ถูกตอกหน้าหงายอีกกระทอกจากการต้องถอนกฎหมายประกันสุขภาพฉบับใหม่ เพราะไม่ได้รับเสียงสนับสนุนในสภา
ทำให้เกมการล้มนโยบายโอบามาแคร์ ต้องทอดเวลาออกไป ส่งผลให้นักลงทุนในสหรัฐฯผวากันหนัก เมื่อความเป็นจริงเป็นเช่นนี้ที่หวังและพึ่งได้ก็ต้องหันกลับมาดูการลงทุนในประเทศ งบประมาณที่ใช้ไปกับเรือดำน้ำจากจีนแบบซื้อ 2 แถม 1 อันนั้นไม่จัดอยู่ในหมวดหมู่นี้ เพราะไม่ได้เกิดประโยชน์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ขณะที่การลงทุนโครงการสำคัญๆนอกจากรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ที่เดินหน้าได้ตามกรอบเวลา โครงการขนาดใหญ่อื่นๆ ที่เคยโหมประโคมข่าวกันก่อนหน้าไม่ว่าจะรถไฟไทย-จีน หรือรถไฟความเร็วสูงไทย-ญี่ปุ่น มีแต่อาการสะดุด มองไม่เห็นฝั่ง ล่าสุด ญี่ปุ่นออกมาปฏิเสธที่จะใช้รางร่วมกับรถไฟไทย-จีน ยิ่งเป็นปัญหาใหญ่
เพราะนั่นจะกระทบต่อความคืบหน้าในโครงการทั้งการปรับแบบ เปลี่ยนแผนและคำนวณงบประมาณกันใหม่ แน่นอนว่าเม็ดเงินที่จะใช้ลงทุนย่อมจะสูงขึ้นตามมา ทว่าสิ่งที่น่าสนใจมากไปกว่านั้นคือ การปฏิเสธของญี่ปุ่น เป็นเรื่องของเทคโนโลยีต้องการแยกระบบรางของโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เป็นรางเฉพาะของรถไฟชินคันเซ็น เพื่อใช้ระบบอาณัติสัญญาณควบคุมความปลอดภัยและง่ายต่อบริหารการเดินรถเท่านั้นหรือมีประเด็นอื่นแอบแฝงด้วย
แน่นอน ความเป็นไม้เบื่อไม้เมากันมายาวนานระหว่างญี่ปุ่นกับจีนเป็นที่รับรู้ไปทั่ว ขณะเดียวกันรัฐบาลไทยก็กำลังจะซื้อเรือดำน้ำจากจีน มิหนำซ้ำ ก่อนหน้านั้นและจนถึงปัจจุบันก็ยังคงทำตัวเป็นลูกคู่ลูกไล่ที่ดีต่อจีนเสมอมา เลยไม่รู้ว่านี่เป็นเหตุผลหลักที่พี่ยุ่นนำมาเป็นข้ออ้าง ตั้งการ์ดสูงต่อกระบวนการลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงดังกล่าวหรือไม่
เมื่อเกิดประเด็นเช่นนี้ หนีไม่พ้นต้องใช้การเจรจาเพื่อหาข้อสรุปที่ดีที่สุดสำหรับการลงทุนในเมกะโปรเจ็กต์ดังว่า สิ่งที่ตามมาคือเงื่อนเวลาที่ผ่านไปในแต่ละวัน จากที่เคยหวังจะสร้างเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงมันจะกลายเป็นสิ่งตรงข้าม
ส่วนที่ท่านผู้นำบอกว่าเป็นนายกฯทานข้าวมื้อละ 100 กว่าบาท จะกินอะไรก็อร่อยเหมือนกัน กินก๋วยเตี๋ยวชามเดียวก็อร่อย ก็ต้องยินดีที่เรามีผู้นำทำตัวติดดินกินง่ายอยู่ง่าย แต่นั่นมันไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ทุกอย่างมันต้องคิดทั้งระบบไม่ใช่ขึ้นอยู่กับตัวผู้นำเพียงคนเดียว เรื่องประหยัดมัธยัสถ์นั้นเชื่อได้ว่า คนที่ไม่มีอันจะกินหรือคนส่วนใหญ่ก็ทำกันอยู่แล้ว
เรื่องเศรษฐกิจมันไม่ใช่แค่วางแผนหรือลอกแนวทางจากรัฐบาลที่เคยทำสำเร็จแล้วเท่านั้น หากแต่มันอยู่ที่การเจรจาว่าความและการยอมรับจากต่างประเทศด้วย ตามที่ พิชัย นริพทะพันธุ์ ยกตัวอย่างเมื่อวันวาน ก็น่าจะเป็นเครื่องพิสูจน์อะไรบางอย่างได้ อาลีบาบา ยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจออนไลน์ประกาศไปตั้งศูนย์กระจายสินค้าในมาเลเซีย แทนที่จะตั้งในไทย ทั้งๆ ที่ไทยมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมกว่า และ แจ๊ค หม่า เจ้าของบริษัทก็ยังเคยมาเยือนไทยถึง 2 หน
รัฐบาลอ้างเสมอว่าสนิทสนมมากกับแจ๊ค หม่า แต่รัฐบาลกลับไม่สามารถชักชวนให้อาลีบาบามาตั้งในประเทศไทยได้ แต่แจ๊ค หม่า บอกว่าได้คุยกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย 10 นาที ก็ตัดสินใจเลย แสดงให้เห็นความแตกต่างของวิสัยทัศน์ของผู้นำที่เขามองออก นอกจากนั้น เหตุผลที่หม่าบอกว่ามาเลเซียมีความเป็นมิตรทางธุรกิจมากกว่านั้น มันน่าจะสะท้อนอะไรได้มากพอสมควร
ต้องไม่ลืมว่า ธุรกิจหลักของอาลีบาบาเกี่ยวข้องเกี่ยวพันกับโซเชียลมีเดีย ขณะที่ประเทศไทยเพิ่งผ่านการบังคับใช้กฎหมายคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ แม้ว่าจะมีการอธิบายว่าเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจออนไลน์ แต่นักลงทุนระดับโลก ไม่น่าจะมองเห็นช่องทางเช่นนั้น หากไร้ความเสี่ยงและเกื้อกูลให้กับธุรกิจจริง สิ่งนี้น่าจะเป็นตัวเลือกแรกให้เขาตัดสินใจมาลงทุน
ความเห็นอีกประการของพิชัยคือ อภินิหารกฎหมาย ที่สื่อต่างประเทศมองว่าเป็นการใช้ภาษีเป็นเครื่องมือทางการเมือง ที่จะเรียกเก็บภาษีจากกำไรของหุ้นที่รัฐยึดกำไรไปหมดแล้วอีก ประเด็นนี้คงไม่เกี่ยวกับการตัดสินใจของแจ๊ค หม่า แต่ก็น่าคิดอยู่ไม่น้อย นักลงทุนรายไหนจะมั่นใจได้ว่าตัวเองจะได้รับการดูแลอย่างดีโดยเฉพาะเรื่องภาษี ขนาดขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯแล้วยังเป็นปัญหา ถ้าหลักนิติธรรมยังเป็นเครื่องหมายคำถามก็ยากที่จะมีใครกล้ามาร่วมหอลงโรงลงทุนกับประเทศไทย