เรียบร้อยโรงเรียน BEM
เมื่อวานนี้ มีข่าวสั้นๆ จากมติคณะรัฐมนตรีว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี อนุมัติให้เอกชนรายเดิมเดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค, บางซื่อ-ท่าพระ ได้ โดยมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้คือ
พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล
เมื่อวานนี้ มีข่าวสั้นๆ จากมติคณะรัฐมนตรีว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี อนุมัติให้เอกชนรายเดิมเดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค, บางซื่อ-ท่าพระ ได้ โดยมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้คือ
- เอกชนผู้ลงทุนจะได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)
- เอกชนจะเข้ามาลงทุนในรูปแบบ PPP Net Cost เพื่อลดภาระการลงทุนของภาครัฐ
- มีการขยายระยะเวลาการเดินรถสายสีน้ำเงินหรือสายเฉลิมรัชมงคลที่วิ่งอยู่ปัจจุบันให้สิ้นสุดระยะเวลาเดียวกับสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย
มติคณะรัฐมนตรีนี้ คนที่อยู่วงนอกอาจจะงุนงงว่าหมายถึงอะไร แต่คนที่ติดตามมาตลอดจะรู้ดีว่า นี่คือ ปฏิบัติการฉากสุดท้ายที่เรียกว่า “เรียบร้อยโรงเรียน BEM” นั่นเอง
มติดังกล่าว จะติดตัวคนกรุงเทพฯ และคนไทยไปอีกยาวนาน เพราะนี่คือสุดยอดของการออกแบบวางแผนที่แนบเนียนยิ่งนักของหน่วยงานรัฐไทยและภาคเอกชนที่ได้รับประโยชน์ร่วมกัน
นัยสำคัญคือมติคณะรัฐมนตรีอยู่ที่ว่า นับจากนี้ไป สัญญาสัมปทานทางรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีน้ำเงิน (ส่วนต่อขยาย) ทีมีชื่อเต็มเป็นทางการเรียกว่า รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล สีน้ำเงิน (พุทธมณฑล-หลักสอง-หัวลำโพง-บางซื่อ-ท่าพระ หรือ MRT Blue Line) จะตกอยู่ในกำมือของ บริษัท รถไฟฟ้าและทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ในเครือ ช.การช่าง เต็มรูป
ที่สำคัญเป็นการต่อยอดของคำสั่ง โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะ คสช. เป็นประธานที่ประชุม คสช. ที่ได้ออกคำสั่งตามมาตรา 44 ให้ รฟม. ทำสัญญาก่อสร้างรถไฟฟ้ามหานคร สายสีม่วง ส่วนต่อขยาย 1 กม.เศษที่ค้างอยู่ให้เสร็จโดยเร็ว โดยมีเงื่อนไขว่า สัญญาดังกล่าว รฟม.จะดำเนินการก่อสร้างทั้งหมด แต่ให้ BEM มาบริหารการเดินรถ หรือรับจ้างเดินรถ
มาตรา 44 ของ คสช. ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2559 ไม่เคยพูดถึงข้อเท็จจริงว่า สัญญาสายสีม่วงแบบพ่วงต่อดังกล่าว เป็นการอำพรางความลับที่มีการวางหมากอย่างแนบเนียน เพราะโครงสร้างทางกายภาพของเส้นทาง 1 กม.เศษดังกล่าว คือ ส่วนที่เชื่อมกับ รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล สีน้ำเงิน (พุทธมณฑล-หลักสอง-หัวลำโพง-บางซื่อ-ท่าพระ หรือ MRT Blue Line) ตามสีที่กำหนดในแผนแม่บทโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครและพื้นที่ต่อเนื่อง
คำนิยามว่า รถไฟฟ้ามหานครสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย แท้ที่จริงคือ สายสีน้ำเงินทั้งสายนั่นเอง ไม่ได้มีการขยายอะไรเพิ่มเติม แต่เป็นการประดิษฐ์ถ้อยคำให้รู้สึกว่า มันเป็นส่วนที่ต่อพ่วงเข้ากับสายสีม่วงส่วนต่อขยายที่มีความยาวเพียงแค่ 1 กม.เศษ เท่านั้น
ข้อเท็จจริงก็เท่ากับว่า สัญญาสัมปทานเดินรถสายสีน้ำเงินที่มติคณะรัฐมนตรีผ่านมาบังคับใช้วานนี้ (เดิมคาดว่าจะเข้าพิจารณาในเดือนเมษายน) ที่เคยบอกว่าจะมีการประมูลเพื่อหาผู้ให้บริการก็ไม่ต้องมีอีกต่อไปแล้ว เพราะว่าเป็นการยกสัญญาสัมปทานให้แก่ BEM โดยปริยาย
หากย้อนกลับไป การออกแบบสัญญาให้สัมปทานประหลาดดังกล่าว จะเห็นว่าไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่ได้รับการออกแบบมานานตั้งแต่เริ่ม เพราะรถสายสีน้ำเงินนั้นควรจะประมูลก่อน เนื่องจากโครงสร้างจะต้องเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินบางซื่อ แต่กลับพลิกแพลงให้มีการประมูลทีหลัง แล้วโยกส่วนของสายสีน้ำเงินที่จะเชื่อมต่อกับสถานีบางซื่อ ไปไว้เป็นสัญญาพ่วงต่อของสายสีม่วง
ไม่มีใครที่อยู่วงนอกเข้าใจว่า ทำอย่างนั้นทำไม จนกระทั่งมีคำสั่ง คสช.ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2559
ข้อสังเกตที่น่าสนใจอยู่ที่ว่า สัญญาการให้เอกชนมาเดินรถไฟฟ้าที่มี 2 รูป คือ แบบสัมปทานเดินรถ แบ่งผลประโยชน์ กับแบบเอกชนรับจ้างเดินรถ แตกต่างกันในสาระอย่างมาก
สัมปทานเดินรถแบบแบ่งผลประโยชน์ เอกชนต้องลงทุนในระบบเดินรถทั้งหมด แล้วเก็บเงินแบ่งประโยชน์กับรฟม. เข้าข่ายเสี่ยงสูง กำไรสูง ส่วนสัญญารับจ้างเดินรถโดยเอกชน รฟม.จะลงทุนทั้งหมด เอกชนจะได้เฉพาะค่าจ้างบริหารการเดินรถ เข้าข่ายเสี่ยงต่ำ กำไรต่ำ
เวลาที่รถสายไหนขาดทุนมาก เอกชนจะอยากได้สัญญาแบบหลัง แต่สายไหนที่มีแนวโน้มกำไรสูง เอกชนจะอยากได้สัมปทาน
กรณีสายสีม่วง (รวมทั้งสัญญาพ่วง 1 กม.เศษ) เป็นสัญญาให้ BEM รับจ้างเดินรถ ปล่อยให้ รฟม.บักโกรก ต่างจากสายสีน้ำเงิน (ส่วนต่อขยายที่ผ่านครม.วานนี้) ที่ผ่านกลางเมือง มีคนเยอะ จะเป็นสัญญาสัมปทาน
นี่ความชาญฉลาดของผู้บริหาร BEM และเครือ ช.การช่าง รวมทั้งความชาญฉลาดของหน่วยงานรัฐไทยด้วยเช่นกัน
ขอใช้ทุกนิ้ว กดไลค์ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเลย