บรรษัทน้ำมันมวย
ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมกลายเป็นประเด็นร้อน เมื่ออดีตรองนายกฯ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ออกมาเรียกร้องให้ตัดมาตรา 10/1 เรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ที่ “งอกได้” ทั้งที่ไม่มีในร่างของรัฐบาล แต่มาโผล่ในขั้นกรรมาธิการวิสามัญ
ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง
ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมกลายเป็นประเด็นร้อน เมื่ออดีตรองนายกฯ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ออกมาเรียกร้องให้ตัดมาตรา 10/1 เรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ที่ “งอกได้” ทั้งที่ไม่มีในร่างของรัฐบาล แต่มาโผล่ในขั้นกรรมาธิการวิสามัญ
หม่อมอุ๋ยเล่าว่าตอนร่างผ่าน ครม. นายกฯ บอกให้ชี้แจงกรรมาธิการพลังงานก่อน ซึ่งก็ได้เชิญมาพบ 7 คน ในนั้น 6 คนเป็นอดีตบิ๊กทหาร ต้องการให้เพิ่มบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ แต่หม่อมอุ๋ยไม่ยอม หลังจากนั้นมีปรับ ครม. รัฐมนตรีใหม่ก็ยังเสนอร่างเดิม แต่ที่ไหนได้ หลังสภารับหลักการ กรรมาธิการวิสามัญกลับมาแก้ไขหลักการ เพิ่มบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ แล้วถามกลับไปที่ ครม. ปรากฏว่า ครม.ก็ยอมตาม เป็นเรื่องที่ไม่มีรัฐบาลไหนเคยทำ
ผลก็คือเพิ่มมาตรา 10/1 ให้มีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เป็นผู้ถือสิทธิ์ในทรัพยากรปิโตรเลียมทุกชนิดของประเทศ โดยหม่อมอุ๋ยอ้างว่ามีบทเฉพาะกาล ให้กรมพลังงานทหารบริหารบรรษัทน้ำมันแห่งชาติไปก่อน เท่ากับย้อนยุค “น้ำมันสามทหาร”
คนระดับหม่อมอุ๋ยออกมาซัด ย่อมเป็นข่าวโด่งดัง ทั้งรัฐบาลทั้ง สนช.โต้กันวุ่น ถ้าฟังจาก พล.อ.ประยุทธ์ ท่านก็ยืนยันว่าไม่ได้ต้องการให้ทหารเข้ามาดูแล หรือเอามาเป็นประโยชน์ของทหาร แต่ที่เพิ่มเรื่องบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ก็เพื่อบรรเทาความขัดแย้ง เพราะเป็นข้อเสนอของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ซึ่งแต่แรกก็เสนอให้มีทั้งระบบสัมปทานและแบ่งปันผลผลิต แล้วก็มากดดันให้มีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ
“ผมเคยพูดมาหลายครั้งแล้วว่ายังไม่พร้อม และยังไม่มีความจำเป็น ….ปรากฏว่าฝ่ายนั้นก็กดดันมาก ครั้งนี้กดดันมาอีกแล้วว่า ถ้าออกมาแล้วไม่มีบรรษัทน้ำมันก็จะมาล้อมรัฐสภา ล้อมทำเนียบรัฐบาล แบบนี้ผมถามว่าถูกต้องหรือไม่ ….ใช้วิธีกดดันแบบนี้ประเทศชาติเสียหาย เสียประโยชน์ และกลุ่มนี้ก็ยึดโยงไปสู่โรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่ด้วย คือทุกที่ในเรื่องพลังงาน ผมก็ไม่เข้าใจ”
อ้าว เป็นงั้นไป ไหงโอละพ่อ เป็นว่าบรรษัทน้ำมันมาจากแรงกดดันของ คปพ. ก๊วนปานเทพ & รสนา ซึ่งเมื่อวันอังคารก็แถลงไม่พอใจที่การจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเขียนไว้แค่ “ให้จัดตั้งเมื่อมีความพร้อม” ซึ่ง สนช.หยุย บอกว่าอาจเป็นอีก 100 ปี
ชาวบ้านทั่วไปฟังท่านโต้กันแล้วก็มึนหลายตลบ แม้พอจับความได้ว่า หม่อมอุ๋ยอยู่ข้างหนึ่ง ไม่เห็นด้วยกับการยัดไส้บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ คปพ.อยู่อีกข้างหนึ่ง ฮึ่มๆ ไม่พอใจเงื่อนไขการจัดตั้งบรรษัทว่าอาจนานเป็นชาติ ขณะที่รัฐบาล สนช.อยู่ตรงกลางแบบเอนไปเอนมา
“ผมก็ไม่เข้าใจ” ยืมคำท่านนายกฯ มาใช้ ไม่ทราบจะเกรงอกเกรงใจพวก คปพ.อะไรนักหนา ขี้เกียจพูดว่านี่ถ้าเป็นพวกเรียกร้องประชาธิปไตยนะ แค่อ้าปากก็โดน ม.44 แล้ว แต่หลักการอยู่ตรงไหน ก็ว่าไปตามหลักสิครับ อาทิเช่น ถ้าเห็นว่าบรรษัทน้ำมันเป็นเรื่องสำคัญ ก็แยกออกมาร่างกฎหมายอีกฉบับ รับฟังความเห็นประชาชนให้รอบด้านไม่ใช่ฟังแต่กลุ่มขาประจำที่ซัดกันไปซัดกันมาจนเปลืองน้ำมันมวย
ว่าที่จริง เรื่องใหญ่ยังเป็นเพราะ สนช.จะรีบผ่านกฎหมายให้มากที่สุด จนเรียกประชุม 3 วันรวด 29-31 มี.ค. เพราะกลัวว่าถ้ารัฐธรรมนูญประกาศใช้ จะติด ม.77 ที่ต้องกลับไปรับฟังความเห็นศึกษาผลกระทบ ก็เลยต้องรวบรัดทั้งที่มีกฎหมายสำคัญหลายฉบับ เช่น ระเบียบข้าราชการอัยการ
กลัวอะไรกันนักหนา กับการรับฟังความเห็น ไม่ใช่กลัวช้าหรอก กลัวไม่ได้ดังใจมากกว่า