VGI แม่ทัพหนีทหาร
หนังสือลงวันที่ 27 มีนาคม 2560 ของบริษัท วี จี ไอ โกลบอล มีเดีย จัด (มหาชน) หรือ VGI แจ้งต่อตลาดฯด้วยข้อความสั้นๆ ว่า นายสุรเชษฐ์ ได้แจ้งความประสงค์ลาออกจากตำแหน่ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ของบริษัท โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2560 เป็นต้นไป
แฉทุกวันทันเกมหุ้น
หนังสือลงวันที่ 27 มีนาคม 2560 ของบริษัท วี จี ไอ โกลบอล มีเดีย จัด (มหาชน) หรือ VGI แจ้งต่อตลาดฯด้วยข้อความสั้นๆ ว่า นายสุรเชษฐ์ ได้แจ้งความประสงค์ลาออกจากตำแหน่ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ของบริษัท โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2560 เป็นต้นไป
ลาออกแล้วให้มีผลภายใน 5 วันหลังการลา เรียกว่า ลาออกกะทันหัน …อย่างนี้ จะบอกว่าเป็นปกติได้อย่างไร และลาจากกันอย่างดียิ่งได้อย่างไร…ผิดวิสัยของบริษัทมหาชนจดทะเบียนอย่างยิ่ง
ก้นหม้อยังไม่ทันจะดำเลย ไปซะแล้ว
ปลายปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนตัวซีอีโอ หรือกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ของ VGI จากนายมารุต อรรถไกวัลวที เป็นนายสุรเชษฐ์ บำรุงสุข พร้อมกับมีการยกระดับ ปรับโพสิชั่นเป็นธุรกิจที่มีชื่อยาวเหยียด จำยากว่า “ศูนย์กลางสื่อโฆษณาภายใต้ฐานข้อมูลแบบครบวงจรเพื่อตอบสนองความต้องการใช้สื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ” (DCMH-Data Centric Media Hypermarket)”
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เป็นมากกว่า “เปลี่ยนม้ากลางลำธาร” ตามธรรมดา แต่เป็นเพราะต้องการทั้งความต่อเนื่อง และการเปลี่ยนแปลงเพื่อพลิกฟื้นความสามารถทำอำไรจากธุรกิจสื่อโฆษณาที่นับวันจะถดถอยลงสวนทางกับรายได้
นับแต่เริ่มต้นธุรกิจ VGI พึ่งพารายได้จากการโฆษณาบนรถไฟฟ้าอย่างใกล้ชิด จนกระทั่งเริ่มตีบตัน จึงหาทางขยับขยายในช่วง 5 ปีมานี้เพื่อลดการพึ่งพา BTS เป็นหลัก โดยล่าสุด รายได้ของการพึ่งพา BTS คิดเป็น 78% ของรายได้รวม และรายได้ส่วนดังกล่าวนับวันจะถดถอยลง
เป้าหมายของ VGI ที่จะเคลื่อนย้ายมาสู่ธุรกิจอื่นๆ ในระยะที่ผ่านมา เช่น รายได้จากการโฆษณาภายในอาคาร หรือโฆษณาสื่อกลางแจ้งอื่นๆ (รวมทั้งการเพิ่มสัดส่วนใน Aero Media และเข้าซื้อ Multi Sign ผ่าน MACO ด้วยวงเงินเกือบ 3,000 ล้านบาท) ที่แม้จะเติบโตดีพอสมควร แต่ยังไม่สามารถชดเชยหรือขึ้นมาเป็นรายได้หลักได้ดีพอ
ความพยายามเมื่อปีที่ผ่านมาเพื่อโตทางลัด ด้วยการเข้าซื้อกิจการของเครือบีทีเอส 2 รายคือ ซื้อหุ้น 90% ในบริษัท บางกอก สมาร์ทการ์ด ซิสเทม จำกัด หรือ BSS และ 90% ในบริษัท บีเอสเอสโฮลดิ้งส์ จำกัด หรือ BSSH เพื่อจัดพอร์ตใหม่ เปิดทางเข้าสู่ 1)ธุรกิจเงินอิเล็กทรอนิกส์ 2)ธุรกิจ e-wallet 3)ธุรกิจออนไลน์อื่นๆ ผ่าน เว็บไซต์คอนเทนต์แรบบิทเดลี่ (Rabbit Daily) และแรบบิทไฟแนนซ์ (Rabbit Finance) ก็เพื่อผ่าทางตันของการเติบโตที่เชื่องช้าให้ทันใจมากขึ้น…กลับไม่ปรากฏผลเป็นชิ้นเป็นอัน ที่แสดงได้ในกำไรสุทธิในงบการเงินงวด 9 เดือน (สิ้นงวด 31 ธันวาคม 2559) ลดเหลือเพียงแค่ 635.07 ล้านบาท
กำไรที่มีแนวโน้มถดถอยลง แม้จะพยายามเข็นกันเต็มที่ ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน แม้ไตรมาสนี้จะได้รวมเอาผลการดำเนินงานของ MACO เข้ามาเต็มไตรมาส จนทำให้รายได้ดูขยายตัวดีมากขึ้นก็ไม่ได้ช่วยมากนัก
กำไรปกติที่ลดลงสวนกับรายได้ สรุปเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลยว่า เกิดจากโครงสร้างการทำกำไรที่อ่อนแอลง เพราะนักวิเคราะห์ระบุว่า อัตรากำไรขั้นต้นปรับตัวลงมาเหลือ 61.6% จาก 63.1% ในไตรมาสก่อน และ 64.3% ในปีก่อน มาจากค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่น่ากังวลเพราะเพิ่มขึ้นจาก 18.1% ในปีก่อน และ 20.6% ในไตรมาสก่อน มาเป็น 26.0% ในไตรมาสนี้ ซึ่งสะท้อนว่า โครงการซื้อกิจการเพื่อโตทางลัด หรือการขยายธุรกิจใหม่ๆ ยังไม่เชื่อมประสานในแง่การสร้างพลังผนึกเพื่อเพิ่มความสามารถในการทำกำไรดีพอ
ที่ร้ายไปกว่านั้น หากพิจารณาเฉพาะกำไรปกติด้วยแล้ว จะเห็นว่ายังไม่มีพัฒนาการอย่างมีนัยสำคัญ…นี่ก็พูดกันแบบให้เลิศหรูเช่นกัน…ผลลัพธ์คือ VGI สร้างความผิดหวัง (มากกว่าสมหวัง) ให้กับนักวิเคราะห์ และนักลงทุนลงไม่น้อย โดยเฉพาะหลังจากการแตกพาร์เป็นต้นมา…ต่างจากเมื่อครั้งที่เข้ามาระดมทุนในตลาดใหม่ๆ ในฐานะดาวรุ่งแห่งอนาคต
ในตอนที่ข้าวใหม่ปลามันของซีอีโอใหญ่คนใหม่อย่างนายสุรเชษฐ์ ใครเลยจะหาญกล้าบอกว่า…เป็นเพราะผู้บริหารยังไม่ “เขี้ยวลากดิน” เพียงพอ
การลาออกอย่างลนลานกะทันหัน โดยไม่มีการชี้แจงรายละเอียดของการร่ำลา ทำให้เกิดคำถามว่าออกไปเพราะสาเหตุอะไร….
ขัดแย้งกันเองในทีมงาน ?
ทำผลงานไม่เข้าเป้า เลยชิงออกก่อนถูกให้ออกเสียประวัติ?
มีปัญหาสุขภาพ?
มีปัญหาส่วนตัว?
หรือ..ได้งานใหม่ที่อื่นที่ดีกว่า?
ทั้งหมดยังไม่มีคำตอบ
อิ อิ อิ