พาราสาวะถี
วันนี้ วาระร้อนชวนให้จับตามองอยู่ที่การประชุมสนช.เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม(ฉบับที่...) พ.ศ. ... และ ร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม(ฉบับที่...) พ.ศ. ... โดย พรเพชร วิชิตชลชัย ยืนยันจะเป็นการประชุมโดยเปิดเผย พร้อมให้จับตาดูว่าสมาชิกสนช.จะอภิปรายสนับสนุนหรือคัดค้านร่างกฎหมายทั้งสองฉบับ โดยเฉพาะร่างกฎหมายปิโตรเลียม
อรชุน
วันนี้ วาระร้อนชวนให้จับตามองอยู่ที่การประชุมสนช.เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่…) พ.ศ. … และ ร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่…) พ.ศ. … โดย พรเพชร วิชิตชลชัย ยืนยันจะเป็นการประชุมโดยเปิดเผย พร้อมให้จับตาดูว่าสมาชิกสนช.จะอภิปรายสนับสนุนหรือคัดค้านร่างกฎหมายทั้งสองฉบับ โดยเฉพาะร่างกฎหมายปิโตรเลียม
ที่เป็นประเด็นร้อน จากการเปิดเผยของ หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลประยุทธ์ 1 ว่า มีการสอดไส้ยัดเรื่องตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติไว้ในร่างกฎหมายดังกล่าว พร้อมๆ กับเปิดข้อมูลว่า ในพิจารณากฎหมายฉบับนี้ไม่เคยมีใครพูดถึงบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ กระทรวงพลังงานไม่มีนโยบายในเรื่องนี้
ยิ่งเมื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มอบหมายให้หม่อมอุ๋ยร่างกฎหมาย ก็ไม่ได้พูดถึงเรื่องบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ แต่ที่น่าสนใจคือการเข้าพบของตัวแทนคณะกรรมาธิการพลังงานสนช. ที่มีอดีต 6 นายพลพร้อม 1 พลเรือนมาพบอดีตรองนายกฯ กลับยืนยันว่าควรเพิ่มเติมเรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเข้าไปด้วย ซึ่งทำให้เจ้าตัวประหลาดใจเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ประธานสนช.ยืนยันว่ากรรมาธิการพลังงานไม่มีการสอดไส้หรือลักไก่บรรจุเรื่องดังกล่าวในร่างกฎหมายพลังงานอย่างแน่นอน พร้อมอ้างหลักการในการปรับเปลี่ยนแก้ไขเป็นภาระหน้าที่ของรัฐบาล แต่งานนี้หม่อมอุ๋ยมีแนวร่วมคือ มนูญ ศิริวรรณ อดีตสมาชิกสปช.ที่ย้ำว่า กรณีดังว่าเป็นเรื่องที่เข้ามาในวาระ 2 โดยที่ไม่มีการพูดกันในวาระแรก เป็นการเสนอเข้ามาโดยไม่มีที่มาที่ไป
ถือว่าเป็นการเสนอเข้ามาโดยไม่มีที่มาที่ไป และการที่จะเสนอเรืองบรรษัทน้ำมันแห่งชาติในการจัดการบริหารทรัพย์สินที่มีมูลค่า 5 แสนล้านบาท ควรมีรายละเอียดประกอบการพิจารณาว่ามีหลักการ เหตุผลและข้อดีข้อเสนอย่างไร แต่นี่ไม่มีอะไรเลย ลอยเข้ามาเฉยๆ เป็นไปไม่ได้ที่จะให้สนช.พิจารณาเรื่องใหญ่ขนาดนี้โดยไม่มีหลักการและข้อมูลประกอบ
โดยที่มนูญชี้แนะว่า หากอยากจะเสนอเข้ามาควรเสนอเป็นพ.ร.บ.ต่างหาก มีข้อดีข้อเสียให้ชัดเจน ไม่ใช่สอดไส้เข้ามา และหากสนช.ให้ร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมผ่านก็ต้องเอาเรื่องที่แถมมานี้ออกไป เพราะเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เป็นการเปลี่ยนแปลงการบริหารกิจการพลังงานของประเทศ ซึ่งในต่างประเทศที่มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติก็ล้มเหลวมาแล้ว
ข้อสังเกตที่น่าสนใจอีกประการ คงเป็นเรื่องแรงยุจากภายนอกที่ไม่พอใจปตท. จึงเสนอให้ผู้มีอำนาจผลักดันเรื่องการจัดตั้งบรรษัทดังกล่าวขึ้นมา แน่นอนว่า ในประเด็นนี้คงพอจะคาดเดาได้จากท่าทีของ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย ที่แถลงการณ์ตอบโต้หม่อมอุ๋ยซึ่งคัดค้านการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เพียงแต่ว่ากลุ่มนี้คงไม่ใช่ผู้ที่จะเสนอให้มีการดำเนินการในร่างกฎหมายครั้งนี้
เนื่องจากทางกลุ่มก็ได้แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับกฎหมายทั้งสองฉบับเหมือนกัน พร้อมประกาศว่าจะไปยื่นหนังสือถึงประธานสนช.ในวันนี้ หากไม่ได้รับการตอบสนองจะไปร้องต่อบิ๊กตู่ไปขั้นต่อไป สำหรับความเห็นของกลุ่มนี้มองว่า ร่างกฎหมายพลังงานทั้งสองฉบับเป็นกฎหมายอัปยศปล้นกลางแดด ทิ้งมรดกบาปไว้ให้ลูกหลาน
ต้องติดตามว่าบทสรุปจากที่ประชุมสนช.จะออกมาอย่างไร ที่ต้องย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ก็เหมือนอย่างที่หม่อมอุ๋ยบอกไว้ จำได้ว่าเมื่อ 50 ปีก่อน ขณะที่กรมพลังงานดูแลกิจการน้ำมัน เรามีน้ำมันสามทหาร ของไทยที่มีส่วนการตลาดน้อยมากและถูกครอบงำโดยบริษัทน้ำมันต่างชาติเป็นสำคัญ พอไปดูรายชื่อของกรรมาธิการพลังงาน สนช.แล้วก็มีทหารมาจากทั้ง 3 เหล่าทัพ เท่ากับว่า ความกังวลที่จะมีการนำพาประเทศถอยหลังลงคลองมองแล้วมีโอกาสที่จะเป็นความจริง
ยิ่งไปดูปูมหลังของการเกิดปั๊มสามทหารแล้วก็มาในยุคทหารครองเมือง อำนาจรัฐประหารปกครองประเทศนั่นเอง โดยปี 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยกเลิกข้อผูกพันที่ทำไว้กับบริษัทต่างชาติเรื่องห้ามมิให้รัฐบาลจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมแก่ประชาชนและตั้งองค์การเชื้อเพลิง เป็นรัฐวิสาหกิจในวันที่ 27 มกราคม 2503 โดยใช้สัญลักษณ์ตราสามทหาร เพื่อดำเนินสถานีบริการน้ำมัน จัดหาและกลั่นน้ำมัน
จนกระทั่งในปี 2511 องค์การเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่ดูแลกิจการปั๊มน้ำมันสามทหารขณะนั้น ถูกปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร กลายมาเป็นรัฐวิสาหกิจใหม่คือ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หรือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในปัจจุบัน ปั๊มสามทหารจึงถูกเปลี่ยนชื่อตามเจ้าสังกัดมาเป็นปั๊มปตท. ตราบจนทุกวันนี้
มานับนิ้วดูนี่เรากำลังจะย้อนกลับไปไกลเกือบ 50-60 ปีเชียวหรือ เช่นนี้แล้วรัฐบาลจะมาเสียเวลาอธิบายเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีไปเพื่ออะไร คราวร่างรัฐธรรมนูญที่มีบทบัญญัติเรื่องส.ว.ลากตั้งถึง 250 คน พร้อมเปิดช่องให้ดึงคนนอกมาเป็นนายกฯได้ ที่ใครต่อใครก็มองว่าล้าหลังเต็มที นี่กลับยังมีสิ่งที่ล้าหลังยิ่งกว่า อะไรมันจะอะเมซิ่งขนาดนั้น
กระนั้นก็ตาม ที่มีการมองว่าการเดินหน้าในลักษณะนี้ของผู้มีอำนาจ เป็นไปเพื่อหวังที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือผลกระทบอะไรกับปตท.ในฐานะที่ถูกเขม่นจากบรรดาม็อบคนดีทั้งหลายแหล่หรือเปล่า ในมุมของมนูญ ศิริวรรณ ยังมองโลกในแง่ดีว่า ปตท.ไม่ถึงกับเสียหายอะไร เพราะปตท.จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯแล้ว สิทธิประโยชน์ก็ไม่มีอะไร การจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติขึ้นมาก็ไปรับซื้อก๊าซแทนปตท.
แต่นั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่จะมาการันตีได้ว่า ปตท.อยู่รอดปลอดภัย เพราะยังมีการบ้านที่ต้องพิจารณาว่าหากผู้มีอำนาจอยากจะให้บรรษัทดังว่าไปแทนปตท. ในส่วนที่ปตท.รับผิดชอบอยู่ อย่าคิดว่ามันจะเกิดขึ้นไม่ได้ อภินิหารกฎหมายกับหุ้นชินคอร์ปก็งัดมาใช้แล้ว แม้จะเป็นเหมือนการดำเนินการที่ไปตายเอาดาบหน้าก็ตาม กรณีนี้ก็เช่นเดียวกัน การพลิกแพลงข้อกฎหมายคงไม่ใช่เรื่องยากสำหรับเหล่าเนติบริกร เพียงแต่ว่าหากจะมาแทนปตท. ถ้าไม่กลับไปใช้ชื่อปั๊มสามทหาร ขอเสนอว่าเปลี่ยนเป็นปั๊มสามพี่น้องก็คงจะเข้าที (ฮา)