D หมอ(กลัวถูก)ฟัน

มีคำถามในวงสุราของบรรดาชายจริงทั้งหลายว่า “พยาบาลกลัวอะไร?”


แฉทุกวันทันเกมหุ้น

 

มีคำถามในวงสุราของบรรดาชายจริงทั้งหลายว่า “พยาบาลกลัวอะไร?”

คำตอบที่ถูกต้อง…(สำหรับคนในวงนั้น)…คือ กลัว(ถูก)หมอฟัน….(ฮาา)

มุกตลกบ้านๆ ดังกล่าว  ไม่สามารถปิดบังข้อเท็จจริงได้เลยว่า  อาชีพหมอฟันหรือทันตแพทย์ ซึ่งยามนี้ เป็นที่ยอมรับกันโดยเอกฉันท์ว่า คือ อาชีพอันดับหนึ่งของยุคสมัย …ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่เป็นทั่วโลก… เหตุผลก็เพราะอาชีพนี้ ทำรายได้ดีที่สุด

หมอฟันที่เปิดร้านหรือคลินิกแล้วขาดทุน หรือ เจ๊ง …ไม่ได้เพราะเกิดจากอาชีพนี้แน่นอน แต่ต้องเป็นเหตุอื่นๆ

วันที่ 3 เมษายนปีนี้ บริษัท เดนทัล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ D ไอพีโอน้องใหม่รายล่าสุด ดำเนินธุรกิจให้บริการทางทันตกรรมแบบครบวงจร ภายใต้ 3 แบรนด์ตามตำแหน่งทางการตลาด “BIDC”, “Dental Signature” และ “Smile Signature” จะได้เวลา “ขึ้นโต๊ะเชือด”…เอ๊ย ไม่ใช่…ลงสนามซื้อขายวันแรก หรือ first debut ในตลาดหลักทรัพย์ mai ในหมวดธุรกิจบริการ

กว่าจะมาถึงวันนี้ D ใช้เวลานาน 3 ปี แต่งตัวและใช้วิศวกรรมการเงิน แปลงเป็นบริษัทมหาชน โดยมีที่ปรึกษาการเงิน โดยมี บล.เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และเป็นอันเดอร์ไรเตอร์หลัก แล้วก็ประสบความสำเร็จในการเสนอขายจองในตลาดแรก จำนวน 50 ล้านหุ้น (ราคาพาร์หุ้นละ 0.50 บาท) ในราคาหุ้นละ 6.00 บาท

คิดแค่จำนวนและราคาหุ้นจองถือว่า ถูกอย่างมากเมื่อเทียบกับจุดเด่นของ D ในหลายๆ ด้าน …แบบว่าถ้าเป็นนางงามก็ขั้นต่ำต้องขวัญใจช่างภาพเป็นอย่างต่ำ …โดยเฉพาะ โมเดลธุรกิจเยี่ยมยอด

การสร้างแบรนด์ของ D ในช่วงที่ผ่านมา ถือว่า มีแบ่งกลุ่มลูกค้าทันตกรรมเป้าหมายที่ชัดเจนตามราคา และคุณภาพ รองรับลูกค้ากลุ่มเกรด A, B+ และกลุ่มระดับพรีเมียมที่มีรายได้สูง… (ไม่ถึงกับเขียนป้ายน่าเกลียดว่า คนจนห้ามเข้าเด็ดขาด)

แบรนด์ของบริการของ D ก็เลยต้องแยกออกตามเป้าหมาย โดยที่ 1) แบรนด์ BIDC เป็นศูนย์ทันตกรรม จำนวน 1 สาขา 2) แบรนด์ Dental Signature เป็นคลินิกทันตกรรม จำนวน 3 สาขา 3) แบรนด์ Smile Signature เป็นศูนย์ทันตกรรม จำนวน 1 สาขา และเป็นคลินิกทันตกรรม ในรูป ไฟติ้งแบรนด์ จำนวน 7 สาขา

รวมแล้ว D มีสาขาเครือข่ายแตกต่างกันรวมทั้งหมด 12 สาขา เป็นศูนย์ทันตกรรม จำนวน 2 สาขา และคลินิกทันตกรรม จำนวน 10 สาขา แบ่งเป็นสาขาในกรุงเทพฯ จำนวน 10 สาขา และในจังหวัดภูเก็ต จำนวน 2 สาขา

โมเดลของ D จึงถือว่าเป็นการตลาดแบบบูติก หรือ niche… ไม่ใช่การตลาดแบบ mass ซึ่งบริษัทให้บริการทันตกรรมรายแรกของตลาดหุ้นไทยคือ  บริษัท แอลดีซี เดนทัล จำกัด (มหาชน) หรือ LDC ของหมอหนึ่ง หรือ ทพ.วัฒนา ชัยวัฒน์ ทำมาก่อน…ต่างกันลิบลับ ต้องลองถึงรู้นะจ๊ะ

จุดขายของธุรกิจทันตกรรมที่มักจะงัดกันออกมาโชว์คือ 1) เทคโนโลยีและวัสดุอุปกรณ์ที่ทันสมัย 2)แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 3) มาตรฐานการรักษาในระดับสากล ทำให้ปัจจุบัน D ถือเป็นกลุ่มบริการทันตกรรมที่มีรายได้เป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทย…ยังไม่เพียงพอ ต้องมี “ไม้ตาย” มาโชว์ความแตกต่างที่เหนือกว่า

“ไม้ตาย” อันดับหนึ่งไร้เทียมทาน คือ BIDC ซึ่งเป็นศูนย์ทันตกรรมที่เป็นรายแรกของประเทศไทยที่ได้รับมาตรฐานคุณภาพจาก Joint Commission International (JCI) ของสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2555 และเป็นรายที่สองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ที่เป็นมาตรฐานระดับสากล และเป็นที่ยอมรับระดับโลก ทำให้กลุ่มชาวต่างชาติ..มาเมืองไทย ต้องไปที่ BIDC

JCI (เรียกให้ถูกต้องเต็มอัตราคือ JCI accreditation) สำคัญอย่างไร

คำตอบคือ JCI ถือเป็นมาตรฐานรับรองคุณภาพระดับ “ทองคำ” (gold standard) ในระดับโลกเพื่อการันตีว่า สถานพยาบาลแห่งไหน (ซึ่งมีถึง 8 ระดับ ที่เข้มงวด) มีมาตรฐานสากล นับตั้งแต่ สถานพยาบาล การบริการที่บ้านลูกค้า รถพยาบาล และ ฯลฯ

จุดเด่นดังกล่าว ยังถูกเสริมแรงด้วยผลประกอบการที่ดีเด่น เพราะมีรายได้เติบโตต่อเนื่อง โดยปี 2557 มีรายได้รวม 408.26 ล้านบาท ปี 2558 มีรายได้รวม 418.55 ล้านบาท และปี 2559 มีรายได้รวม 446.52 ล้านบาท

รายได้ที่โตต่อเนื่องอาจจะดูสวนทางกับกำไรที่ไม่ค่อยนิ่ง (เพราะอยู่ในระหว่างแต่งตัวเข้าตลาดที่ต้องจัดโครงสร้างใหม่และมีต้นทุนปรับตัวสูง) เช่นปี 2557 มีกำไรสุทธิ 25.59 ล้านบาท ปี 2558 มีกำไรสุทธิ 12.31 ล้านบาท และปี 2559 กำไรสุทธิ 42.52 ล้านบาท

ส่วนในปี 2560 นี้ D คาดจะเติบโตมากขึ้นทั้งรายได้และกำไรสุทธิ จากการขยายสาขา เทรนด์การใช้บริการของลูกค้าต่างชาติเพิ่มมากขึ้น รวมถึงจากการบริหารจัดการต้นทุนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

กระนั้น คนเจ้าละเอียดประสาหมอฟัน คนที่มีของดีในมือครบถ้วนอย่าง ทันตแพทย์ พรศักดิ์ ตันตาปกุล ก็ยังปริวิตกว่า  อาจจะติดเชื้อ “หลุดจอง” ในกระแสโลหิต ได้

เหตุผลก็ไม่มีอะไรมาก เพราะจากการทำโรดโชว์ มีคำถามที่ตามมาชวนให้ฝันร้ายไม่เว้นวาย ทั้งจากนักวิเคราะห์ และนักลงทุนว่า “จะซ้ำรอยเดิมของ LDC หรือไม่

คำถามประเภท “ยังไม่เห็นกระรอก รีบโก่งหน้าไม้” อย่างนี้ ใครไม่คุ้นเคยก็มีอาการ ป.ส.ด. ….ได้ไม่ยาก

ทั้งที่ว่าไปแล้ว คนถามอาจะลืมไปด้วยซ้ำว่า ตอนที่ LDC เข้าตลาดฯนั้น ทำราคา “ชนซิลลิ่ง” 3 วันซ้อน เชียวนะ

ที่สำคัญ หุ้นในการดูแลของ บล.เอเซีย พลัส มักจะมีประวัติเก่าๆ ว่า….วิ่งขึ้นมากกว่าวิ่งลง หลังจากเทรดวันแรกผ่านไป (ตัวอย่าง TKN ก็ประจักษ์กันแล้ว)

ถ้าบังเอิญ จะซ้ำรอยทั้ง 2 อย่างที่ว่ามา ก็น่าปลื้ม มากกว่าน่ากลัว..มิใช่หรือ…เพราะโดยพื้นฐานอนาคต โมเดลธุรกิจของ D ย่อมไม่เหมือน LDC อยู่แล้วทางใครทางมัน

อิ อิ อิ

Back to top button