แหล่งเอราวัณ – บงกช

ความเชื่อของกลุ่มเอ็นจีโอที่ว่า ประเทศไทยมีแหล่งปิโตรเลียมสำรองในระดับสูงเทียบเท่าซาอุดีอาระเบีย แต่ถูกปกปิดไว้จากกลุ่มผลประโยชน์ที่หากินกับการนำเข้า เป็นรากทางความคิดหนึ่งให้ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) ในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม


ขี่พายุ ทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์

 

ความเชื่อของกลุ่มเอ็นจีโอที่ว่า ประเทศไทยมีแหล่งปิโตรเลียมสำรองในระดับสูงเทียบเท่าซาอุดีอาระเบีย แต่ถูกปกปิดไว้จากกลุ่มผลประโยชน์ที่หากินกับการนำเข้า เป็นรากทางความคิดหนึ่งให้ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) ในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม

แทนระบบสัมปทาน ที่ดูเหมือนจะให้ผลตอบแทนเข้ารัฐน้อยกว่า แต่รัฐก็ไม่มีความเสี่ยงในการใช้เงินลงทุน ซึ่งลงทุนขุดเจาะแต่ละหลุมไป 300-500 ล้านบาท ก็อาจจะไม่เจอน้ำมันหรือก๊าซเลยก็ได้ หรือแม้เจอก็อาจจะมีปริมาณไม่คุ้มค่าในเชิงพาณิชย์

ก็ต้องปิดหลุมไปฟรีๆ!

อันที่จริงจะว่าไปแล้ว ระบบสัมปทานที่ใช้อยู่ในปัจจุบันซึ่งเรียกว่า “ไทยแลนด์ พลัส ทรี” ก็ไม่ถือว่าขี้เหร่อะไรมากนักหรอก เป็นระบบที่มาจากรายได้ 3 ทางอันได้แก่

ค่าภาคหลวงแบบขั้นบันไดร้อยละ 5-15, ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมร้อยละ 50 และผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษรายปีแบบขั้นบันไดร้อยละ 0-75

เรื่องนี้เราท่านที่มิได้ศึกษาระบบสัมปทานปิโตรเลียมอย่างใกล้ชิดก็อาจจะไม่รู้ว่า ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมน่ะ เรียกเก็บกันถึงร้อยละ 50 เลยเชียวนะ

ในขณะที่ภาษีเงินได้นิติบุคคลทั่วไปเรียกเก็บกันแค่ร้อยละ 20 เท่านั้น

หรือหากในกรณีผู้รับสัมปทานมีกำไรสูงกว่าปกติมากๆ จากการพบแหล่งปิโตรเลียมขนาดใหญ่ทางหนึ่ง หรือได้รับประโยชน์จากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกสูงขึ้นมาก ก็ต้องจ่ายเงินเข้ารัฐในรูปของผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ

ปัจจุบันรัฐมีรายได้จากระบบสัมปทานปิโตรเลียมปีละ 2.4 แสนล้านบาท ซึ่งก็ไม่น้อยนะ

ปัญหาเฉพาะหน้าในกิจการปิโตรเลียมของเรา ก่อนจะเปิดประมูลสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 นั่นก็คือ แหล่งสัมปทานก๊าซธรรมชาติ 2 แหล่งในทะเล คือ แหล่งบงกชและเอราวัณ ซึ่งจะหมดอายุลงในปี 2565 และ 2566 ตามลำดับ

2 แหล่งนี้ มีกำลังผลิตเป็นสัดส่วนถึง 2 ใน 3 ของการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย

และ 2 แหล่งนี้มีก๊าซไปผลิตไฟฟ้าได้ถึง 2 ใน 3 ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดในประเทศ

จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด และก็มีความล่าช้ามามากแล้วด้วย ซึ่งโดยปกติผู้ชนะการประมูลก็ควรจะมีเวลาเตรียมตัวล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 5 ปี

กระทรวงพลังงานโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ประกาศลดขั้นตอนความอุ้ยอ้ายโดยจะร่างทีโออาร์ประมูลให้แล้วเสร็จในปลายเดือนเม.ย.นี้ จากนั้นจะนำเสนอครม.ภายในเดือนมิ.ย.เพื่อจะสามารถเปิดประมูลได้ในเดือนก.ค.และภายในเดือนธ.ค.ปีนี้ก็คาดว่าจะได้ตัวผู้ชนะประมูลทั้ง 2 แหล่ง

เพียงแต่รูปแบบการประมูลยังต้องนำไปปรึกษาหารือจะดำเนินการในรูปแบบใดระหว่างสัมปทาน แบ่งปันผลผลิต หรือรับจ้างผลิต

ผมค่อนข้างจะเห็นด้วยว่า ควรใช้ระบบสัมปทานแบบ “ไทยแลนด์พลัสทรี” ไปก่อนนะ เพราะเป็นระบบที่ใช้มานานกว่า 30 ปีแล้ว เอกชนรายเก่าก็มีความชำนาญในพื้นที่และมีโครงสร้างพื้นฐานในการขุดเจาะและผลิตอยู่แล้ว

นอกจากนั้น ก็ยังมีผลศึกษาแล้วด้วยว่า เป็นระบบที่ให้ผลประโยชน์ด้านรายได้แก่รัฐมากกว่าเอกชนผู้รับสัมปทานในอัตราส่วนถึง 59.6:40.4

สำหรับปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้าคือแหล่งก๊าซ 2 แหล่งนี้ จึงมีความเหมาะสมด้วยประการทั้งปวงจะให้สานต่องานในระบบสัมปทานไปก่อน โดยไม่ควรเปิดพื้นที่ให้แก่การเสนอระบบอื่นมาเป็นตัวถ่วงให้ชักช้าไปอีก

ไอ้ที่บอกกันว่า ไทยมีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติเทียบเท่าซาอุฯน่ะ ก็เป็นเรื่องความเชื่อล้วนๆ โดยไม่มีผลสำรวจทางการอะไรรับรอง

แต่ของจริงที่สำรวจกันมาโดยองค์กรระดับโลก BP Statistical Review of World Energy น่ะ ราชอาณาจักรซาอุฯเป็นอันดับ 6 ไทยอยู่อันดับ 42 แบบไม่เห็นฝุ่น โดยมีรัสเซียเป็นอันดับ 1 ของโลก

เราชักช้ามามากมายพอสมควรเพราะติดหล่มความเชื่ออันปราศจากผลรับรองทางวิทยาศาสตร์จริงๆ

Back to top button