EFORL ย้อมแมว
คำชี้แจงต่อตลาดหุ้นลงนามโดยนายธีรวุทธิ์ ปางวิรุฬห์รักข์ ผู้ถือหุ้นใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร EFORL ว่าด้วยที่มาและที่ไปของ "วุฒิศักดิ์ คลินิก" ทำให้คนเข้าใจความยากลำบากของผู้บริหารที่กำลังหันรีหันขวางกับธุรกิจเจ้าปัญหาว่าจะทำอย่างไรให้เสียหายน้อยสุด
แฉทุกวันทันเกมหุ้น
คำชี้แจงต่อตลาดหุ้นลงนามโดยนายธีรวุทธิ์ ปางวิรุฬห์รักข์ ผู้ถือหุ้นใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อี ฟอร์ แอล เอม จำกัด (มหาชน) หรือ EFORL ว่าด้วยที่มาและที่ไปของ “วุฒิศักดิ์ คลินิก” ทำให้คนเข้าใจความยากลำบากของผู้บริหารที่กำลังหันรีหันขวางกับธุรกิจเจ้าปัญหาว่าจะทำอย่างไรให้เสียหายน้อยสุด
ไม่ต่างอะไรจากนักลงทุนที่ติดหุ้น แล้วกำลังชั่งใจว่าจะ “คัตลอสส์” ตรงไหนดี
เรื่องมันเริ่มมาจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สั่งการให้ผู้บริหารของ EFORL ชี้แจงข้อมูลในงบการเงินสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2559 ที่ปรากฏการขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ 2 รายการ ได้แก่ การด้อยค่าความนิยมธุรกิจบริการความงามซึ่งบริษัทลงทุนในบริษัท ดับบลิวซีไอ โฮลดิ้ง จำกัด (WCIH) จำนวน 838 ล้านบาท และการด้อยค่าเงินลงทุนทั้งจำนวนในบริษัท แดทโซ เอชีย คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด (แดทโซ) จำนวน 36 ล้านบาท ทำให้มีผลขาดทุนสุทธิ 614 ล้านบาท ขณะที่ปีก่อนมีกำไรสุทธิ 210 ล้านบาท โดยที่บริษัทเพิ่งเข้าลงทุนในปี 57
พร้อมกันนั้น ยังขอให้ EFORL ชี้แจงการพิจารณาตัดสินใจเข้าลงทุนในวุฒิศักดิ์ คลินิก โดยเฉพาะประเด็นการแข่งขันในธุรกิจบริการความงาม เนื่องจากบริษัทเพิ่งเข้ามาลงทุนได้ไม่นาน แต่ผลการดำเนินงานลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และต้องตั้งด้อยค่าความนิยมที่เกิดจากการเข้าซื้อกิจการจำนวนมาก รวมถึงให้ชี้แจงการตั้งค่าเผื่อด้อยค่าของเงินลงทุนในแดทโซด้วย
อย่างที่ทราบกันดี นับตั้งแต่ผู้บริหารของ EFORL ตัดสินใจกู้เงินมากว่า 2 พันล้านบาทจากธนาคารกสิกรไทย เพื่อทุ่มซื้อกิจการของ WCIH ที่มี “วุฒิศักดิ์ คลินิก” อยู่ใต้ร่มธง โดยหวังว่าจะสร้างโมเดลธุรกิจเติบโตทางลัดสามารถทำให้ราคาหุ้นของ EFORL หวือหวาเป็นที่นิยมของแมงเม่าวิ่งขึ้นไปสูงสุดที่ระดับ 2 บาท ในปี 2557 แต่ก็ถดถอยลงต่อเนื่องเพราะกำไรที่พลาดเป้าต่อเนื่องจนถึงขั้นขาดทุนหนักในปี 2559 ต้องทำการเพิ่มทุนเมื่อต้นปีนี้ เพราะเงินที่ได้จากการแปลงสภาพวอร์แรนต์เมื่อกลางปี 2559 ไม่เพียงพอ
สาเหตุหลัก ล้วนมาจาก วุฒิศักดิ์ คลินิก ที่เคยถูกคาดหวังว่าจะเป็น “ไข่ทองคำ”…ได้กลายเป็น “ไข่เน่า” เพราะการลดลงของรายได้และกำไร…เปลี่ยนเป็น “ลูกล้างลูกผลาญ” โดยปริยาย
ความหวังลมๆ แล้งๆ ของนายธีรวุทธิ์ ที่พยายามเสนอต่อนักลงทุนบังเกิดผลลัพธ์เดียว …ผิดหวังซ้ำซาก
คำชี้แจงของนายธีรวุทธิ์ มีสาระสำคัญว่า
– การด้อยค่าสินทรัพย์รวม 874 ล้านบาทดังกล่าว ส่วนใหญ่เกิดจากการลงทุน WCIH ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของวุฒิศักดิ์ คลินิก และเป็นการตั้งด้อยค่าจากการลงทุนในบริษัท แดทโซฯ อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งการลงทุนดังกล่าวคณะกรรมการบริษัทดำเนินการด้วยความระมัดระวังตามหลักสุจริตด้วยความละเอียดรอบคอบ และดำเนินการตามขั้นตอนซึ่งเป็นตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการเข้าทำรายการซึ่งเข้าข่ายเป็นรายการได้มาซึ่งสินทรัพย์ ทุกขั้นตอน
– สำหรับการแข่งขันในทางธุรกิจบริการความงามนั้น บริษัทพิจารณาจากความเห็นของที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ ซึ่งมีความเห็นเกี่ยวกับภาพรวมของอุตสาหกรรมคลินิกเสริม ความงามว่าแม้เป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาในตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากแนวโน้มการเติบโตของจำนวนกลุ่มเป้าหมายที่สนใจด้านความสวยความงามเพิ่มขึ้น โดยภาพรวมตลาดความงามในประเทศไทยมีมูลค่าประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งคลินิกผิวหนังมีสัดส่วนร้อยละ 65 หรือประมาณ 14,000 ล้านบาท แบ่งเป็นลูกค้าในกลุ่มระดับกลางประมาณร้อยละ 60 และอีกประมาณร้อยละ 40 เป็นลูกค้าในกลุ่มระดับพรีเมียม
– WCIG เป็นผู้นำธุรกิจเสริมความ งามภายใต้ชื่อแบรนด์ วุฒิ-ศักดิ์ คลินิก ซึ่งเป็นแบรนด์อันดับ 1 มีจำนวน 120 สาขาซึ่งมากที่สุดในประเทศไทย เป็นที่รู้จักของผู้บริโภค และเป็นบริษัทที่มีแผนการตลาดเข้มแข็ง มีผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐาน มีทีม แพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ และมีผลประกอบการในอดีตที่ดี มีโอกาสขยายทางธุรกิจเสริมความงามไปในต่างประเทศเพิ่มขึ้นด้วย และ คณะกรรมการบริษัทพิจารณาแต่งตั้งที่ปรึกษาด้านต่างๆ เพื่อให้คณะกรรมการมีข้อมูล ประกอบการพิจารณาการเข้าทำรายการและสามารถนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วนสมบูรณ์ ต่อผู้ถือหุ้น ซึ่งการเข้าทำรายการซื้อกิจการของวุฒิศักดิ์ฯนั้น บริษัทได้รับการอนุมัติให้เข้าทำรายการโดยมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นด้วย คะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ 100%
– การพิจารณาการด้อยค่าของค่าความนิยมนั้น บริษัทได้แต่งตั้ง บริษัท 15 ที่ปรึกษาธุรกิจ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประเมินอิสระที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตามคำแนะนำของผู้สอบบัญชีรับอนุญาตเพื่อทำการประเมินมูลค่าธุรกิจของ WCIG ทุกปี ซึ่งในปี 59 ผลการประเมินมูลค่าธุรกิจมีมูลค่าจำนวน 4,908 ล้านบาท ซึ่งหากพิจารณาเปรียบเทียบกับราคาตามบัญชี (Carrying value) บริษัทพิจารณาแล้วเห็นว่ายังไม่เข้าเกณฑ์ที่จะต้องมีการตั้งสำรองการด้อยค่าความนิยม
-การด้อยค่าของค่าความนิยมที่ปรากฏในงบการเงินนั้น เป็นการด้อยค่าที่เกิดจากการพิจารณามูลค่าธุรกิจ โดยการคำนวณมูลค่ากิจการโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาตของ WCIG โดยผู้สอบบัญชีพิจารณาโดยใช้หลักความระมัดระวัง (Conservative) ของผู้สอบบัญชี ซึ่งผลการคำนวณมูลค่าธุรกิจด้วยหลักการดังกล่าว เป็นมูลค่าที่น้อยกว่ามูลค่าธุรกิจซึ่งประเมินโดยผู้ประเมินอิสระ และเป็นมูลค่าที่ต่ำกว่ามูลค่า ณ วันที่บริษัทฯ เข้าทำรายการซื้อกิจการของ WCIG ในช่วงปลายปี 57 และบันทึกบัญชีในวันที่เข้าทำรายการได้มาซึ่งสินทรัพย์ ส่งผลกระทบต่องบการเงินรวมของบริษัทฯ ซึ่งต้องรับรู้การด้อยค่าของค่าความนิยม จำนวน 838 ล้านบาท ในงบการเงินปี 59
– การตั้งค่าเผื่อด้อยค่าของเงินลงทุนในแดทโซนั้น บริษัทฯ ใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับการพิจารณาการด้อยค่าของค่าความนิยมบริษัท 15 ที่ปรึกษาธุรกิจ จำกัด ตามคำแนะนำของผู้สอบบัญชีรับอนุญาต เพื่อทำการประเมินมูลค่าธุรกิจของแดทโซ เช่นเดียวกัน ซึ่งผลการประเมินมูลค่าธุรกิจในปี 2559 แดทโซมีมูลค่าธุรกิจจำนวน 0 บาท หรือ ไม่มีมูลค่า และ ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตก็ใช้หลักความระมัดระวัง (Conservative) ประกอบกับการใช้ตัวเลขที่เกิดจากการคำนวณของผู้ประเมินอิสระมาใช้ในการพิจารณาการตั้งค่าเผื่อด้อยค่าเงินลงทุนในแดทโซ ซึ่งเป็นเหตุผลทำให้ต้องมีการพิจารณาตั้งสำรองเงินลงทุนทั้งจำนวน 36 ล้านบาทดังกล่าว
ที่ชี้แจงมาทุกข้อนั้น สรุปได้ว่า แม้วุฒิศักดิ์ฯจะเข็นไม่ขึ้น แต่ยังยืนยันว่ามีอนาคตต่อไป
จะให้พูดเป็นอย่างอื่นได้อย่างไรกัน… ก็คิดจะหาพันธมิตรมาร่วมลงขันผ่องถ่ายเอาเงินสดกลับมาอยู่ จะทุบให้เสียราคาได้อย่างไร
คำชี้แจงดังกล่าว แตกต่างจาก หลายสัปดาห์ก่อน นายธีรวุทธิ์ให้สัมภาษณ์ยอมรับเสียทีว่า “ทุกขลาภ” จากการเข้าซื้อกิจการเสริมความงาม ในเครือข่ายของ บริษัท ดับบลิวซีไอ โฮลดิ้ง จำกัด (WCIH) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ บริษัท วุฒิศักดิ์ คลินิก อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด (WCIG) นั้น สร้างปัญหาเดือดร้อนเกินกว่าจะทานทนต่อไป หลังจากที่ WCIH ผิดนัดชำระหนี้ตั๋วแลกเงินที่ครบกำหนดชำระเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2560 จำนวน 150 ล้านบาท ต่อเจ้าหนี้
งานนี้ ทำให้ภาพลักษณ์ของ EFORL เสียหายยับเยิน ทั้งที่หนี้ของบริษัทแม่เองยังชำระเรียบร้อยตามเงื่อนเวลา ไม่มีขาดมีเกิน
อยากขายน่ะอยากจนตัวสั่น แต่จะขายถูก ก็ขาดทุน
อิ อิ อิ