เรื่องจากรัสเซีย
สัปดาห์ก่อนหน้านี้ หนังสือพิมพ์ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” พาพนักงานที่มีอายุงานเกิน 10 ปี จำนวนกว่า 30 คน ไปทัศนศึกษา ณ กรุงมอสโคว์ (มอสโก) ประเทศรัสเซีย
ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร
สัปดาห์ก่อนหน้านี้ หนังสือพิมพ์ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” พาพนักงานที่มีอายุงานเกิน 10 ปี จำนวนกว่า 30 คน ไปทัศนศึกษา ณ กรุงมอสโคว์ (มอสโก) ประเทศรัสเซีย
คณะของเรานั่งเครื่องบินของ “การบินไทย” ไปกัน
ใช้เวลาราวๆ 10 ชั่วโมง
สนามบินที่เครื่องบินลง คือ โดโมเดโดโว (Domodedovo International Airport) หรือ รหัสท่าอากาศยาน DME
กรุงมอสโคว์ มีสนามบินอยู่ทั้งหมด 6 แห่ง
แบ่งเป็นสนามบินพาณิชย์ 3 แห่ง คือ DME
แห่งที่ 2 คือ สนามบินนานาชาติเชเรเมติเยโว หรือ Sheremetyevo International Airport รหัส SVO
และแห่งที่ 3 มีรหัสว่า VKO หรือ วนูโคโว หรือ Vnukovo International Airport
ถามว่าทั้ง 3 สนามบินแตกต่างกันอย่างไร
คำตอบคือ SVO เป็นสนามบินใหญ่สุด มีนักเดินทางเข้ามาใช้บริการมากสุด จากเดิมคือ DME
ทว่า DME อยู่ระหว่างการสร้างในเฟสใหม่ และมีกำหนดการแล้วเสร็จในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า ซึ่ง DME เป็นสนามบินที่บริหารโดยภาคเอกชน
ส่วน VKO เป็นสนามบินเล็กสุด แต่อยู่ใกล้กรุงมอสโคว์มากสุด หรือห่างจากใจกลางเมืองเพียง 28 กม.
ต่างกับสนามบิน DME และ VKO ที่อยู่ห่างออกไปกว่า 42 กม. และ 30 กม.
ใครอยากใช้บริการสนามบินแห่งใด ก็ต้องเช็กข้อมูลกับสายการบินต่างๆ ดูว่า เขาบินไปลงยังสนามบินแห่งใด
อีก 3 สนามบินที่เหลือในมอสโคว์ จะใช้ในทางการทหาร และสนามบินเอกชนที่เป็นผู้ประกอบการด้านน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ
พิธีการตรวจคนเข้าเมือง (immigration) ที่ DME ค่อนข้างช้าทั้งขาเข้า และขาออก
อาจเพราะเขามีความเข้มงวดมาก มองหน้าเรา มองรูปในพาสปอร์ต เพ่งแล้วเพ่งอีก
รายได้หลักของรัสเซียมาจากธุรกิจก๊าซธรรมชาติ และน้ำมัน
อย่างที่ทราบกัน รัสเซีย เป็นมหาอำนาจด้านน้ำมันของโลก เป็นทั้งผู้ผลิต และค้าน้ำมันรายใหญ่
แต่รัสเซียอยู่นอกกลุ่มโอเปก
ในช่วงก่อนปลายปี 2559 ที่กลุ่มโอเปกต้องการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันลง เพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคาเอาไว้
เรื่องนี้โอเปกต้องได้รับความร่วมมือจากรัสเซียด้วย
เพราะหากรัสเซียส่ายหน้า ความพยายามของโอเปกก็ไร้ผล
ปัจจุบันรัสเซียมีกำลังการผลิตน้ำมันดิบราวๆ 11 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ขณะที่กลุ่มโอเปกมีกำลังการผลิตประมาณ 32 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งจะเห็นว่า กำลังการผลิตน้ำมันของรัสเซียคิดเป็น 1 ใน 3 ของกลุ่มโอเปก
แม้รัสเซียจะผู้ประเทศผู้ผลิต และส่งออกน้ำมันรายใหญ่
ทว่าราคาขายปลีกน้ำมันภายในประเทศก็ไม่ได้ขายถูก ให้ประชาชนมาใช้กันแบบฟุ่มเฟือยนะ
เพราะรัฐบาลเขาเองก็ต้องนำเงินจากภาษีน้ำมันไปใช้เพื่อการพัฒนาประเทศ
เช่น น้ำมัน ออกเทน 95 ราคาขายปลีกอยู่ที่ 38.65 รูเบิล/ลิตร คิดเป็นเงินไทยราวๆ 23.51 บาท
หรือออกเทน 92 ราคาต่อลิตร 34.55 รูเบิล คิดเป็นเงินไทยก็ตกที่ 21.02 บาท
ส่วนออกเทน 98 ต่อลิตรอยู่ที่ 45.89 รูเบิล เป็นเงินไทยก็ 27.92 บาท
ธุรกิจน้ำมันของรัสเซียจะอยู่ภายใต้การบริหารของ Rosneft เป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติของรัสเซีย ที่ทาง “กลุ่ม ปตท.” เพิ่งจะจับมือเป็นพันธมิตรเมื่อปี 2559
แต่การที่ราคาน้ำมันของรัสเซียไม่ได้แพงมากนัก
ก็ไม่แน่ใจว่าเป็นเหตุที่ทำให้การจราจรในกรุงมอสโคว์ติดขัดอย่างหนัก ไม่เว้นแม้แต่วันหยุด แม้ว่ารัสเซียจะมีระบบขนส่งมวลชน ทั้งรถราง และรถไฟฟ้าใต้ดินที่วิ่งทับกันเป็นใยแมงมุม หรือมีจำนวนหลายสายอย่างมาก
ว่ากันว่า คนรัสเซียมีความรู้สึกที่ดีต่อคนไทยพอสมควร
พวกเขารู้จักกรุงเทพฯ พัทยา และภูเก็ตเป็นอย่างดี
ขณะที่ไทยกับรัสเซียเองนั้น ก็มีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาแล้วกว่า 120 ปี
วลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำของรัสเซีย ก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับราชวงศ์ของประเทศไทยหลายพระองค์
แม้รัสเซียจะเป็นมหาอำนาจในหลายๆ ด้านของโลก
ทว่า ก็มีประเด็นน่าสนใจว่า คนรัสเซียจะมีกลุ่มคนรวย กับกลุ่มคนรายได้น้อย
ส่วนกลุ่มระดับกลางแทบไม่มี หรือมีไม่มากนัก
กลุ่มคนรวยส่วนใหญ่จะทำธุรกิจ หรือทำงานเกี่ยวกับด้านน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ
ส่วนกลุ่มคนรายได้ต่ำ ซึ่งอาจมีการเรียกว่าคนจน แต่จริงๆ แล้วไม่ได้จน เพียงแต่ว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีรายได้ที่เพียงพอต่อการใช้จ่าย และเก็บออมบ้าง ไม่ได้ร่ำรวยอะไร
ปัจจุบัน มีกลุ่มคนไทยไปท่องเที่ยวรัสเซียมากขึ้นครับ
แต่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในรูปของกรุ๊ปทัวร์มากกว่าจะเป็นแบบแบ็กแพ็ก (Backpack)