พาราสาวะถี

เข้าสู่โหมดหยุดยาวอย่างเต็มตัว สงกรานต์ปีนี้ประชาชีผู้เดินทาง คงหวังจะมีความปลอดภัยกันเต็มที่ เนื่องจากได้มาตรา 44 มาช่วงป้องกันเหตุร้าย หวังใจไว้ว่ามันจะช่วยขจัดปัดเป่าการบาดเจ็บ ล้มตายจากอุบัติเหตุในช่วง 7 วันอันตรายได้เป็นอย่างดี แม้จะมีเสียงต่อต้านจนต้องใส่เกียร์ถอยกันไม่เป็นท่าต่อการสั่งห้ามนั่งท้ายรถกระบะและในแค็บของรถปิกอั


อรชุน

 

เข้าสู่โหมดหยุดยาวอย่างเต็มตัว สงกรานต์ปีนี้ประชาชีผู้เดินทาง คงหวังจะมีความปลอดภัยกันเต็มที่ เนื่องจากได้มาตรา 44 มาช่วงป้องกันเหตุร้าย หวังใจไว้ว่ามันจะช่วยขจัดปัดเป่าการบาดเจ็บ ล้มตายจากอุบัติเหตุในช่วง 7 วันอันตรายได้เป็นอย่างดี แม้จะมีเสียงต่อต้านจนต้องใส่เกียร์ถอยกันไม่เป็นท่าต่อการสั่งห้ามนั่งท้ายรถกระบะและในแค็บของรถปิกอัพ

ยอมรับแบบแมนๆ แทนน้องสุดที่รัก พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ยึดอกยืนยันเป็นคนคิดเองเรื่องมาตรการเจ้าปัญหา ไม่ต้องไปด่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าจะใครเป็นคนคิด แต่จุดติดคือกระแสต่อต้าน เนื่องจากเรื่องดังกล่าวมันไม่ใช่ปมว่ามีกฎหมายบังคับใช้หรือเปล่า แต่ปัญหาใหญ่คือคนเขาไม่เข้าใจ ในเมื่อมีระเบียบที่ห้ามไว้ตั้งแต่ปี 2522 แล้วปล่อยปละละเลยกันมาจนถึงพ.ศ.นี้ได้อย่างไร

นั่นเป็นเพราะวิถีแบบไทย หยวนๆ กันไป ไม่จับก็ไม่เห็นจะมีใครเดือดร้อนอะไร ที่สำคัญคนส่วนใหญ่ก็เห็นและปฏิบัติกันจนเป็นภาพชินตา ปิกอัพกับคนนั่งท้ายกระบะเป็นของคู่กัน เรื่องนี้ไม่มีใครถูกหรือผิด แต่ถ้าจะคิดเล่นงานกันด้วยกฎหมาย ต้องให้เวลาทั้งการทำความเข้าใจ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รวมไปถึงเวลาในการติดตั้งหลังคาให้เรียบร้อย

ทางที่ดีรัฐบาลควรจะมีมาตรการสร้างแรงจูงใจ จะด้วยสินเชื่อราคาถูกหรืออะไรก็สุดแท้แต่ให้คนมีรถกระบะและจำเป็นต้องบรรทุกคน กู้ยืมไปติดตั้งหลังคากันให้เรียบร้อย จะใช้เวลาครึ่งปีหรือ 1 ปีแล้วค่อยบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด คิดกันให้เป็นระบบอย่างนี้ คงไม่ต้องถูกด่าและกลายเป็นกระแสให้สังคมสมเพชคนคิดเพราะสุดท้ายทำอะไรไม่ได้เหมือนอย่างที่เป็นอยู่

เป้าหมายเรื่องลดอุบัติเหตุ คงเป็นตัวเลขลมๆ แล้งๆ เหมือนเช่นทุกเทศกาลที่ผ่านมา เพราะเอาเข้าจริงตัวเลขเจ็บ ตาย อยู่ที่คนใช้รถใช้ถนนจำนวนมากยังประมาท และด้วยความที่คิดว่าเป็นเทศกาลสำคัญจึงต้องเมา แล้วขับรถรากันด้วยความเลินเล่อ หากเจ้าหน้าที่ไม่จริงจัง บังคับใช้กฎหมายที่ควรจะเป็น ก็ยากที่จะแก้ได้ตรงจุด อีกเรื่องที่จำเป็นต้องกวดขันคือ ถนนสายรองและบรรดาเด็กแว้นทั้งหลายแหล่

ขนาดกำหนดโซนนิ่งและบังคับให้บางแห่งที่เคยจัดเล่นน้ำสงกรานต์กันคึกคักต้องหยุดจัดกิจกรรม กับอีแค่เรื่องตั้งด่านตรวจในถนนสายรองที่มีสถิติอุบัติเหตุบ่อยครั้ง คงไม่ใช่เรื่องยากหากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตั้งใจจะลดอุบัติเหตุกันอย่างแท้จริง สิ่งเหล่านี้ถ้าไม่มีเรื่องลูบหน้าปะจมูกหรือเกรงว่าการปฏิบัติงานจะไปขัดขวางความสุขของประชาชน เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ก็สนับสนุนและพร้อมให้ความร่วมมือ

เป็นกระแสส่งท้ายก่อนหยุดยาว เรื่องราวของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่ทางสปท.ชงเรื่องเสนอขอแก้ไขกฎหมาย จากเดิมที่จะอยู่กันจนเกษียณเปลี่ยนเป็นให้อยู่ในตำแหน่งจากการเลือกตั้งวาระ 5 ปี พิเศษหน่อยคือ ผู้ใหญ่บ้าน จะต้องมีการประเมินผลงานทุก 3 ปี งานนี้ไม่ต้องถามว่าจะได้รับการหนุนหรือปฏิเสธจากผู้ได้รับผลกระทบ

แต่อย่างที่รู้กันในยุคสมัยนี้เคลื่อนไหวไปมีแต่เจ็บตัว ด้วยเหตุนี้จึงได้ยิน ยงยศ แก้วเขียว นายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย บอกเพียงว่า การปฏิรูปกำนันและผู้ใหญ่บ้านเป็นหนึ่งในเรื่องปฏิรูปของรัฐบาล แต่การปฏิรูปจะต้องไม่ทำให้เกิดการกระทบกับองค์กรนั้นๆ เมื่อสปท.ผ่านรายงานฉบับนี้ไปแล้วก็ต้องอยู่ที่รัฐบาล

หากให้เลือกตั้งก็ต้องเลือกตั้ง สำหรับตัวเองไม่หวั่นอยู่แล้ว ซึ่งกำนันผู้ใหญ่บ้าน ก็มีสมาชิกจำนวนมากเหมือนเช่นนักการเมืองในท้องถิ่น ส่วนความเคลื่อนไหวของสมาคมนั้นยืนยันว่าจะไม่มีการเคลื่อนไหว หรือจัดการชุมนุมใดๆ ทั้งสิ้น และจะไม่สร้างความวุ่นวาย ความเดือดร้อน หรือทำอะไรที่จะกระทบความมั่นคง

มันก็คงต้องเป็นเช่นนั้นแล ฟังเสียง พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นไปในท่วงทำนองแยกเขี้ยวขู่ กำนันผู้ใหญ่บ้านที่อยู่ในพื้นที่ มีหน้าที่สร้างความสงบเรียบร้อยไม่ควรรวมตัวกันแสดงความคิดเห็น เพราะทุกอย่างดำเนินไปตามขั้นตอน และเป็นแนวทางของสปท. ที่ต้องดำเนินการ เชื่อว่า กำนันผู้ใหญ่บ้านส่วนใหญ่จะเข้าใจ

ฟังน้ำเสียงของมท.1 ก็ถือเป็นคนยึดมั่นในหลักการดีอยู่หรอก หากไม่บังเอิญว่า ถ้าย้อนกลับไปดูที่มาของการแก้ไขให้กำนันผู้ใหญ่บ้านอยู่ในตำแหน่งจนเกษียณ จะเกิดขึ้นในยุคของคมช.ซึ่งบิ๊กป๊อกเองก็มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ในเวลานั้น ตอนนั้นครม.จากปลายกระบอกปืนอนุมัติให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ 2457 ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สามารถดำรงตำแหน่งไปจนถึงเกษียณอายุคือ 60 ปี

ทว่าก็พอจะเข้าใจ คนเราเมื่ออำนาจเปลี่ยน สถานะเปลี่ยน จุดยืนก็สามารถที่จะปรับเปลี่ยนตามกันไปได้ เหมือนอย่างรายของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งออกมายกมือหนุนแนวทางดังกล่าวของสปท. ก็อยากจะชวนให้กลับไปดูในยุครัฐบาลเทพประทาน ที่เวลานั้นมีการเสนอแก้ไขให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านอยู่ในวาระ 5 ปีแทนอยู่ต่อจนเกษียณ

ปรากฏว่ากระทรวงมหาดไทยภายใต้การนำของ ชวรัตน์ ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ต้องการได้แรงหนุนจากกำนัน ผู้ใหญ่บ้านจึงยืนกระต่ายขาเดียวให้อยู่ในตำแหน่งจนเกษียณเหมือนเดิม ซึ่งอภิสิทธิ์ในฐานะผู้มีอำนาจสูงสุดขณะนั้นก็เห็นดีเห็นงาม ไม่หือไม่อือใดๆ คงไม่ต่างจากการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 เปลี่ยนวิธีการเลือกตั้งส.ส.เพราะหวังว่าตัวเองจะได้ประโยชน์นั่นแหละ

พอมาพ.ศ.นี้กลับเป็นหนังคนละม้วน คงไม่ต้องไปถามถึงหลักการหรือจุดยืนใดๆ จะว่าไปแล้วกรณีของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ก็มีการปรับเปลี่ยนเรื่องวาระกันมาโดยตลอด เพียงแต่อยากให้พูดความจริงให้ชัดแก้ไขไปแล้วมันจะดีขึ้นอย่างไร คนเหล่านั้นจะไม่ตกเป็นเครื่องมือของนักการเมืองฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเลยอย่างนั้นใช่ไหม คำตอบมันมีอยู่แล้วว่ายาก แม้แต่ยุคของอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ก็ยังใช้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านเป็นเครื่องมือทางการเมือง ดังนั้น อย่าอ้างเหตุผลโยนขี้ให้นักการเมืองแบบมักง่าย

สปท.ด้านสื่อสารมวลชน ยืนยันนักข่าวต้องมีใบประกอบวิชาชีพ ต่อไปใครทำข่าวแล้วไร้ใบอนุญาตมีโทษจำคุก 2 ปี ปรับ 6 หมื่นบาท สมาคมวิชาชีพทั้งหลายจะว่าอย่างไร แล้วเรื่องที่ต้องไปสอบพร้อมอบรม สังคมตั้งคำถามจะใช้อะไรเป็นมาตรฐาน เพราะวงการสื่อวันนี้ยังมีประเภทสื่อแท้ สื่อเทียม สื่อเสี้ยม และคนกำกับดูแลก็ยังไร้บรรทัดฐาน แค่นึกภาพก็เห็นความวุ่นวายแล้ว รอดูกันว่าที่พากันฮึ่มๆ ก่อนหน้านี้ ถึงเวลาจริงจะสู้เพื่อปกป้องศักดิ์ศรีของตัวเองหรือยอมตามความต้องการของแป๊ะ

Back to top button