ฝันที่เหลือเชื่อ

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ถือว่าเป็นนักล่าฝันคนสำคัญในวงการธุรกิจคนหนึ่ง แต่ความฝันของเขา มักจะบรรลุได้เสมอ ไม่เลื่อนลอย


พลวัต ปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

 

นายสมโภชน์  อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ถือว่าเป็นนักล่าฝันคนสำคัญในวงการธุรกิจคนหนึ่ง แต่ความฝันของเขา มักจะบรรลุได้เสมอ ไม่เลื่อนลอย

ความสามารถในการทำให้บริษัทที่มีทุนจดทะเบียนเพียงแค่ 373.00 ล้านบาท สามารถมีส่วนของผู้ถือหุ้นในปัจจุบันมากถึง 1.1 หมื่นล้านบาทเศษ และมีสินทรัพย์ถึง 4.1 หมื่นล้านบาทเศษเช่นกัน เป็นเครื่องยืนยันว่า ถ้าหากไม่ฝันเลื่อนลอยเพ้อเจ้อ คนเราก็สามารถทำฝันให้เป็นจริงได้ แม้ว่าอาจจะดูเหลือเชื่อสำหรับคนภายนอก

ปีก่อนนี้ EA เคยประกาศยุทธศาสตร์สำคัญมาแล้วครั้งหนึ่งในเดือนพฤศจิกายน ว่าคณะกรรมการบริษัทได้มีมติอนุมัติในหลักการให้บริษัทเข้าลงทุนใน Amita Technologies Inc. (Amita) ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนภายใต้กฎหมายของสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และเป็นบริษัทจดทะเบียนใน Emerging Stock Market (ESM) ของตลาดหลักทรัพย์ไต้หวัน ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการพัฒนาและผลิตแบตเตอรี่ ประเภท ลิเที่ยม-ไอออน โพลีเมอร์ (Lithium-Ion Polymer)

EA จะเข้าลงทุนใน Amita ในสัดส่วน 35.20% ของจำนวนหุ้นที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ Amita โดยวิธีการจองซื้อหุ้นออกใหม่ที่เสนอขายโดย Amita รวมมูลค่าการลงทุนไม่เกิน 618,915,115.00 ดอลลาร์ไต้หวัน ประมาณ 683.85 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของบริษัท

เป้าหมายของธุรกรรมคราวนั้นคือ ขานรับแนวทางของกระทรวงพลังงานไทยที่ต้องการให้เอกชนที่ผลิตกระแสไฟฟ้าส่งกำลังไฟเข้าสู่ระบบอย่างสม่ำเสมอในแต่ละช่วงตลอด 24 ชั่วโมงให้สอดคล้องกับความต้องการของกระแสไฟฟ้า ไม่ใช่ตามเงื่อนไขของผู้ผลิต เงื่อนไขดังกล่าวจะทำได้ต้องมีการสำรองแบตเตอรี่จำนวนมากที่จะเก็บไฟฟ้าเอาไว้ใช้แล้วปล่อยออกมาตามต้องการได้ ไม่เกิดการสูญเปล่า

หลังจากเข้าถือหุ้นในกิจการบริษัทไต้หวันดังกล่าวผ่านไป ข่าวคราวก็เงียบหายไป จนกระทั่งวานนี้  EA ออกมาประกาศจับมือพันธมิตรจีนและไต้หวัน สร้างโรงงานแบตเตอรี่ในไทย รองรับอุตสาหกรรมระบบสำรองไฟฟ้า หรือ Energy Storage (Lithium Ion Battery) โดยตั้งเป้าดำเนินการให้เสร็จใน 2 ปี

งานนี้ นายสมโภชน์  อาหุนัย ออกโรงมาแถลงข่าวเอง ระบุว่า ถือเป็นมิติใหม่ และเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจไทย ในการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชน เป็นผู้เสนอแนวคิดในการพัฒนาและรัฐบาลพร้อมเดินหน้าสนับสนุน ซึ่งจะช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

EA ระบุว่า บริษัทมีความพร้อม และจะจับมือกับบริษัท Shenzen Growatt New Energy Technology Co., Ltd. ผู้ผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้ารายใหญ่ในจีน และบริษัท Amita Technologies Inc. ผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่ในไต้หวัน เพื่อจัดตั้งโรงงานแบตเตอรี่ในไทย โดยใช้นวัตกรรมที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

อุตสาหกรรมระบบสำรองไฟฟ้า หรือ Energy Storage (Lithium Ion Battery)  ที่บริษัทลงทุนนี้ ในระยะแรกจะมีกำลังการผลิต 1,000 เมกะวัตต์ โดยใช้งบลงทุนราว 3,000 ล้านบาท โดยจะเริ่มก่อสร้างโรงงานภายในปีนี้ และจะเริ่มผลิตได้ในช่วงปลายปี 2561  เพียงแต่จะเร็วหรือช้า ขึ้นกับแนวทางการสนับสนุน และส่งเสริมจากภาครัฐก่อนว่าจะมากน้อยเพียงใด โดยโครงการดังกล่าวจะพัฒนาอยู่ในพื้นที่ของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)

ทั้งนี้ หากการพัฒนาโครงการในระยะแรกแล้วเสร็จ บริษัทก็จะมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทตั้งเป้าที่จะมีกำลังการผลิตสูงถึง 50,000 เมกะวัตต์ ในปี 64 ด้วยงบลงทุนราว 1 แสนล้านบาท

เป้าหมายสูงสุดดังกล่าว จะทำให้ EA เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์จัดเก็บพลังงานที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งจะแบ่งสัดส่วนเป็นการส่งออกไปทั่วโลก 70-80% ของกำลังการผลิตทั้งหมด และเชื่อว่าอนาคตจะมีความต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ

เนื่องจากการลงทุนดังกล่าวมีมูลค่าค่อนข้างสูง EA จึงต้องการพึ่งพาพันธมิตรอย่างน้อย 2 รายที่จะเข้ามาร่วมลงทุนด้วย

ในภาพรวม ก้าวย่างเช่นนี้ อาจจะถูกมองว่าเป็น “ฝันเฟื่อง” ได้ง่ายๆ แต่หากมองไปในอนาคตอันใกล้ Energy Storage เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้ได้มากที่สุดบนพื้นฐานของประเทศ และเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่จะสามารถต่อยอดมาจากอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ที่ใช้สำหรับรถยนต์ หรือแบตเตอรี่ตะกั่วกรด (lead acid battery) ที่เป็นที่รู้จักและสามารถเข้าใจได้ทันที ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีมูลค่าการผลิตและจำหน่าย จำนวน 5 หมื่นล้านบาท ในปี 2557 และเป็นอุตสาหกรรมที่มีผู้ประกอบการเพียงไม่กี่ราย แต่มีมูลค่าการค้าที่มีนัยยะพอสมควร

วงการอุตสาหกรรมคาดว่าภายใน 5 ปีข้างหน้า ธุรกิจนี้จะมีมูลค่ามากขึ้นถึง 10 เท่า และมีขนาดตลาดประมาณ 5 แสนล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับขนาดตลาดแบตเตอรี่ในประเทศไทยที่มีประมาณ 5 หมื่นล้านบาท จะสามารถสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในสัดส่วนร้อยละ 3.6 ของจีดีพีประเทศ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในอนาคต

งานนี้หากบรรลุเป้าหมายตามคาด EA ได้ทั้งเงินทั้งกล่อง ถือว่าเป็นก้าวย่างสำคัญยิ่ง เติมเต็มความฝันได้ดียิ่ง แต่จะบรรลุเป้าหมายได้หรือไม่ มากน้อยแค่ไหน ต้องดูกันต่อไป เพราะยากจะรู้อนาคตได้ชัดเจน

Back to top button