KTAM กับ เกมกินรวบ เสี่ยเจริญ

ใครก็รู้ว่าเสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี นั้น นิยมชมชอบซื้อที่ดิน และอสังหาริมทรัพย์เป็นชีวิตจิตใจ ดังนั้น การที่บริษัทในเครือเสี่ยเจริญจะเสนอซื้อทรัพย์สินจากมือที่บริหารอยู่ของกองทุนขนาดใหญ่มูลค่า 7.9 หมื่นล้านบาทจาก 3 กองทุนอสังหาริมทรัพย์ใต้การบริหารของ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTAM ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกอะไร


แฉทุกวันทันเกมหุ้น

 

ใครก็รู้ว่าเสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี นั้น นิยมชมชอบซื้อที่ดิน และอสังหาริมทรัพย์เป็นชีวิตจิตใจ ดังนั้น การที่บริษัทในเครือเสี่ยเจริญจะเสนอซื้อทรัพย์สินจากมือที่บริหารอยู่ของกองทุนขนาดใหญ่มูลค่า 7.9 หมื่นล้านบาทจาก 3 กองทุนอสังหาริมทรัพย์ใต้การบริหารของ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTAM ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกอะไร

ที่แปลกเพราะทั้ง 3 กองทุน ของ KTAM นั้น ได้แก่ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าไทยคอมเมอร์เชียลอินเวสเม้นต์ (TCIF) กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าไทยโฮเทลอินเวสเม้นต์ (THIF) และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไทยรีเทล อินเวสเม้นต์ (TRIF)   มีผู้ที่ถือหน่วยลงทุนหลักเป็นบริษัทในเครือข่ายของเสี่ยเจริญถืออยู่เฉลี่ยเต็มอัตราที่กฎหมายกำหนด

พูดง่ายๆ ก็คือ เดิมทรัพย์สินที่ เป็นทั้งโรงแรม อาคารสำนักงานและศูนย์การค้านั้น เป็นสมบัติเก่าของบริษัทในเครือเสี่ยเจริญทั้งสิ้น แต่ในยามที่ ก.ล.ต. อนุมัติให้มีการก่อตั้งกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ขึ้นมาเมื่อหลังวิกฤติต้มยำกุ้งเพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องทางการเงินของบรรดาผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยให้สิทธิพิเศษทางด้านภาษีในการโอนบางอย่างเพื่อลดต้นทุน เสี่ยเจริญจึงนำเอาทรัพย์สินทั้งหลาย ขายเข้ากองทุนทั้ง 3 กองทุนฯ โดยยอมรับเงื่อนไขที่จะเข้ามาถือหน่วยลงทุนไม่เกิน 1 ใน 3 ของกองทุนที่ตั้งขึ้น

โดยทฤษฎีและปฏิบัติ การทำเช่นว่าคือการกินแบ่ง” ธรรมดานี่เอง

ข้อมูลล่าสุดที่เปิดเผยออกมาระบุว่า เครือกลุ่มเสี่ยเจริญนั้น ถือหน่วยลงทุนของกองทุน TCIF ที่ระดับ 33.00% กองทุน THIF  ประมาณ 33.02% และกองทุน TRIF ประมาณ 30.90%

ถึงวันนี้ เสี่ยเจริญที่รวยกว่าเดิมในอดีตหลายเท่า คงจะนึกอะไรขึ้นมา และ…. คิดจะเลิก “กินแบ่ง” หันมา “กินรวบ” ด้วยการให้ กลุ่มบริษัท แอสเสท เวิร์ด จำกัด  ทำเรื่องขอซื้อทรัพย์สินทั้งหมดของกองทุนรวม ทั้ง 3 กอง โดยที่ผู้เสนอซื้อเป็นบริษัทในกลุ่ม TCC Group ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทโรงแรม ศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน โครงการที่อยู่อาศัย

ข้อเสนอซื้อดังกล่าว หากบรรลุเป้าหมายถึงที่สุด จะทำให้กองทุนทั้ง 3 ของ KTAM ต้องปิดกองลงโดยปริยาย เพราะตามกฎหมายของ ก.ล.ต.นั้น กองทุนอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่มีทรัพย์สินแล้วจะต้องปิดกอง และตั้งขึ้นใหม่ไม่ได้ เว้นแต่จะตั้งเป็น กอง REITs หรือ ทรัสตีแทนในภายหลัง

เมื่อมีคนเสนอซื้อ แถมยังเป็นผู้ถือหน่วยหลัก ภารกิจของผู้จัดการกองทุนอย่าง  KTAM ก็ต้องแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯและหาทางจัดประชุมผู้ถือหน่วยทั้ง 3 กองทุนนี้  รวมถึงการให้ข้อมูลด้านราคากับผู้ถือหน่วย …เพราะ  KTAM ไม่มีหน้าที่ในการตัดสินใจในกรณีนี้

ส่วนผู้ถือหน่วยจะขายหน่วยลงทุนที่มีอยู่ในมือหรือไม่ เป็นเรื่องของผู้ถือหน่วยเป็นคนตัดสินใจ

ข้อดีและข้อเสียจึงถูกนำออกมาตีแผ่ โดยข้อดีที่สำคัญสุดคือ หากผู้ถือหน่วยตัดสินใจขายทรัพย์สินให้กับบริษัทเสี่ยเจริญทั้งหมดภายในวันที่ 24 พฤษภาคม 2560 กองทุนจะไม่ต้องแบกรับภาระภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% ของราคาขายหรือราคาประเมิน และไม่ต้องเสียอากรสแตมป์อีก 0.5% ของราคาขายหรือราคาประเมิน

ส่วนข้อเสียสำคัญคือ เรื่องราคาเสนอซื้อ ซึ่งแยกได้ดังนี้คือ

-กองทุน TCIF แม้ว่าราคาเสนอซื้อดังกล่าวจะสูงกว่าราคาประเมินทรัพย์สิน แต่เมื่อคำนวณราคาเสนอซื้อต่อหนึ่งหน่วยลงทุน 13.10 บาทต่อหน่วย) แต่ยังต่ำกว่าราคาตลาด (14.13 บาทต่อหน่วย) ซึ่งควรจะใช้เป็นราคาที่สะท้อนมูลค่าทรัพย์สินและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้ถือหน่วย

-กองทุน THIF  แม้ราคาเสนอซื้อ 11.45 บาทต่อหน่วย จะสูงกว่าราคาประเมินมูลค่าตามสัญญาเช่าจากผู้ประเมินทรัพย์สิน(ตามสูตร income approach)  แต่ยังคงต่ำกว่าราคาประเมินตามมูลค่าทรัพย์สิน และต่ำกว่าราคาต่อหนึ่งหน่วยลงทุนที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ (ตามสูตร normal operation) ที่14.36 บาทต่อหน่วย ซึ่งควรจะใช้เป็นราคาที่สะท้อนมูลค่าทรัพย์สิน และเป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้ถือหน่วย

-กองทุน TRIF  แม้ว่าราคาเสนอซื้อขายดังกล่าวจะสูงกว่าราคาประเมินทรัพย์สิน แต่เมื่อคำนวณราคาเสนอซื้อต่อหนึ่งหน่วยลงทุน (13.22 บาทต่อหน่วย) แล้วยังคงต่ำกว่าราคาต่อหนึ่งหน่วยลงทุนที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ (15.38 บาทต่อหน่วย)

สรุปสั้นๆ คือ หากไม่คิดตามราคาประเมินทรัพย์สินแบบเถรตรง (ตามสูตร income approach แต่ใช้ราคาตลาดจริง เท่ากับบริษัทเสี่ยเจริญ เสนอซื้อทรัพย์สินในบริเวณที่เรียกว่า Prime Area ในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด…ชัดเจน

งานนี้ หากผู้ถือหน่วยลงทุนของทั้ง 3 กองของ KTAM ไม่ได้กินหญ้ากินฟางเป็นกิจวัตร …คงจะเข้าใจได้ไม่ยากว่าจะอนุมัติให้ขายหรือไม่ให้ขายสินทรัพย์ดังกล่าว

เว้นเสียแต่จะใช้มาตรา 44 มาบังคับใช้…หรือด้วยเหตุอื่นใดที่ยากจะหาเหตุผลได้

อิ อิ อิ

Back to top button