FORTHรายได้4.8พันล้านปันผลต่อเนื่องขั้นต่ำ40%

บริษัทพยายามดูความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจเป็นหลัก ซึ่งจะทำให้เรามีกำไรที่ดี และสามารถให้ผลตอบแทนในรูปของเงินปันผลต่อผู้ถือหุ้นได้


บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ FORTH ประกอบธุรกิจ ใน 4 สายธุรกิจ ได้แก่ สายธุรกิจอีเอ็มเอส, สายธุรกิจโทรคมนาคม, สายธุรกิจเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง และสายธุรกิจบริการรายย่อย ซึ่ง FORTH มีกำไรสุทธิเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับ FORTH ยังเป็นบริษัทที่มีการจ่ายเงินปันผลอย่างต่อเนื่อง ด้วยนโยบายการจ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิ   

“พงษ์ชัย อมตานนท์” ประธานกรรมการบริหาร FORTH เปิดเผยว่า นโยบายการจ่ายเงินปันผลในปี 2558 บริษัทยังคงนโยบายการจ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิหลังภาษีเงินได้นิติบุคคลและขาดทุนสะสม (ถ้ามี) ตามงบการเงินเฉพาะกิจการ โดยจ่ายปีละ 2 ครั้ง ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2555 บริษัทจ่ายเงินปันผลในอัตราหุ้นละ 0.12 บาท และปี 2556 จ่ายเงินปันผลในอัตราหุ้นละ 0.27 บาท สำหรับปี 2557 จ่ายเงินปันผลในอัตราหุ้นละ 0.30 บาท

 

แนวทางในการสร้างผลตอบแทนในรูปแบบของเงินปันผลให้กับผุ้ถือหุ้นได้อย่างสม่ำเสมอนั้น โดยรวมบริษัทพยายามดูความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจเป็นหลัก ด้วยการบริหารความเสี่ยง ไม่ทำธุรกิจเสี่ยงมากเกินไป และบริหารอย่างระมัดระวัง ซึ่งหากพิจารณาแล้วว่ามีความเสี่ยงมากเกินไป จนส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัทและผู้ถือหุ้น บริษัทก็ไม่เข้าไปยังธุรกิจนั้นๆ รวมไปถึงมีการศึกษาตลาด และหาโอกาสใหม่ๆ โดยใช้ Know How และเทคโนโลยี สร้างความได้เปรียบ ทำในจุดที่คนอื่นทำไม่ได้ ซึ่งจะทำให้เรามีกำไรที่ดี และสามารถให้ผลตอบแทนในรูปของเงินปันผลต่อผู้ถือหุ้นได้

สำหรับในปี 2558 บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้รวมไว้ที่ 4,500-4,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่บริษัทมีรายได้อยู่ที่ 4,377 ล้านบาท โดยหากแยกเป็นแต่ละสายธุรกิจ เริ่มจากธุรกิจอีเอ็มเอส ในปี 2558 บริษัทตั้งเป้าหมายมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 1,200-1,300 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปี 2557 ที่บริษัทมีรายได้จากธุรกิจอีเอ็มเอสอยู่ที่ 1,266 ล้านบาท เนื่องจากธุรกิจนี้เป็นการรับคำสั่งผลิตแผงวงจรและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคมภายใต้ตราสินค้าของลูกค้า รวมทั้งจำหน่ายชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งให้ผลตอบแทนดีระดับหนึ่ง แต่ไม่หวือหวา ทำให้บริษัทตั้งเป้าหมายใกล้เคียงกับปีก่อน       

ส่วนธุรกิจโทรคมนาคม ในปี 2558 บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้อยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปี 2557 ที่มีรายได้อยู่ที่ 917 ล้านบาท โดยปี 2558อาจจะไม่ดีมาก เนื่องจากบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT เงียบมา 2-3 ปีแล้ว แต่บริษัทกระโดดไปงานอื่น ทั้งการไฟ้ฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เป็นการขายงาน SI ซึ่งในปีนี้การไฟฟ้าฯ จะมีการลงทุนมูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท ซึ่งบริษัทสามารถเข้าไปร่วมประมูลได้ประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาท แต่จะได้งานมาเท่าใดต้องประเมินกันอีกที

 

 

สำหรับธุรกิจเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ในปี 2558 บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้อยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปี 2557 ที่บริษัทมีรายได้อยู่ที่ 990 ล้านบาท เนื่องจากขณะนี้บริษัทกำลังที่จะเข้าประมูลงานติดตั้งระบบและอุปกรณ์เกี่ยวกับกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) มูลค่า 800 ล้านบาท ซึ่งเป็นงานต่อเนื่องจอง กทม.ซึ่งส่วนนี้บริษัทมี Know How และต้นทุนที่ได้เปรียบคู่แข่ง รวมทั้งมีงานแทร็กกิ้ง มิเตอร์ และบำรุงรักษา ประมาณ 200-300 ล้านบาท

ทางด้านกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอล (Set Top Box) บริษัทไม่ได้ทำมากนัก โดยทำเพียง 500,000-600,000 กล่องเท่านั้น ซึ่งเมื่อสิ้นปี 2557 มียอดขายอยู่ที่ประมาณ 300,000 กล่อง ทำให้ขณะนี้เหลือสต๊อกอยู่ประมาณ 200,000 กล่อง ซึ่งบริษัทรอดูสถานการณ์ และยังไม่ลงทุนเพิ่ม เนื่องจากมองว่าประชาชนยังไม่ตื่นตัวในการนำคูปองที่ได้รับจาก กสทช.มาแลกกันมากนัก

ขณะที่ธุรกิจบริการรายย่อย “ตู้เติมเงินบุญเติม” ในปี 2558 บริษัทตั้งเป้าหมายกำไรสุทธิไว้ที่ 200 ล้านบาท จากปี 2557 ที่บริษัทมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 153 ล้านบาท และตั้งเป้าหมายมีรายได้อยู่ที่ 1,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่บริษัทมีรายได้อยู่ที่ 1,104 ล้านบาท โดยตั้งเป้าหมายยอดเติมเงินอยู่ที่ 14,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% จากปี 2557 ที่มียอดเติมเงินอยู่ที่ 10,550 ล้านบาท และตั้งเป้าหมายขยายตู้เติมเงินบุญเติมอีก 20,000 ตู้ จากสิ้นปี 2557 มีตู้เติมเงินบุญเติมอยู่ที่ 42,859 ตู้

 

 

สำหรับกลยุทธ์ในปี 2558 บริษัทเน้นธุรกิจตู้เติมเงินบุญเติมมากพอสมควร เพราะเป็นธุรกิจที่เป็นรายได้ประจำที่กำลังสร้างฐานที่แข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งบริษัทมีหน่วยงานวิจัยและพัฒนา ที่สามารถสร้างสินค้าที่เป็นนวัตกรรมออกมา ซึ่งถือเป็นจุดแข็ง และข้อได้เปรียบในด้านต้นทุนที่ถูกกว่าคนอื่น โดยบริษัทจะต่อยอดตู้เติมเงินบุญเติมให้เป็น Vending Machine โดยขายน้ำกระป๋องได้ด้วย ซึ่งตั้งเป้าหมายวางตู้ในปีนี้ 3,000 ตู้   

นอกจากนี้ บริษัทวางแผนนำตู้เติมเงินบุญเติมขยายไปยังต่างประเทศด้วย ซึ่งปัจจุบันได้ขยายไปยังประเทศฟิลิปินส์แล้ว โดยการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน Mindmap Commtech Inc.ซึ่งเป็นบริษัทร่วมที่บริษัทถือหุ้น 40% แต่เนื่องจากพันธมิตรในต่างประเทศไม่กล้าลงทุน ทางบริษัทจึงอยู่ระหว่างเข้าไปเทคโอเวอร์กลับมาทำเอง 100% แล้วขยายตู้ต่อ จากปัจจุบันมีตู้เติมเงินที่ติดตั้งและพร้อมให้ดำเนินการประมาณ 2,000 ตู้ 

ขณะเดียวกัน บริษัทมีความพร้อมทางด้านแหล่งเงินทุนที่จะนำมาขยายธุรกิจ  ไม่ว่าจะเป็นเงินที่ได้จากการระดมทุนของ บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ FSMART จำนวน 500 ล้านบาท และบริษัทยังสามารถกู้จากสถาบันเงินได้อีกด้วย ซึ่งบริษัทมีเครดิตที่ดีกับทางสาบันการเงิน

Back to top button