เพี้ยน หรือ โง่
นอกเหนือจากการออกคำสั่งให้ปฏิบัติการทางทหารสัปดาห์เดียว 3 ครั้งในซีเรีย คาบสมุทรเกาหลี และอัฟกานิสถาน โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ขยับตัวสร้างประเด็นเดิมที่ตอกย้ำอีกครั้งว่า ค่าดอลลาร์แข็งเกินเมื่อเขากล่าวอีกว่า ดอลลาร์ควรจะอ่อนลง
พลวัต ปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล
นอกเหนือจากการออกคำสั่งให้ปฏิบัติการทางทหารสัปดาห์เดียว 3 ครั้งในซีเรีย คาบสมุทรเกาหลี และอัฟกานิสถาน โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ขยับตัวสร้างประเด็นเดิมที่ตอกย้ำอีกครั้งว่า ค่าดอลลาร์แข็งเกินเมื่อเขากล่าวอีกว่า ดอลลาร์ควรจะอ่อนลง
คำถามคือ ทรัมป์และพลพรรคของเขา มีเป้าหมายอะไรกันแน่ในการนำประชาชนอเมริกันไปสู่ความยิ่งใหญ่ครั้งใหม่ (ทั้งที่ว่าไปแล้วก็ใหญ่เกินสมควรค่อนข้างมากอยู่เดิมแล้ว)
ในแง่ปฏิบัติการทางทหาร ถือว่าสิ่งที่ทรัมป์และพวกขวาจัดสั่งการไปนั้น กำลังทำให้พวกเขาตกใต้กับดักของกลยุทธ์ที่จอร์จ บุช ผู้ลูกเคยประสบความสำเร็จและล้มเหลวมาแล้ว กับอัฟกานิสถานและอิรัก เพราะเป็นการหวนย้อนเอา แนวคิดเก่าที่น่าสยดสยอง ที่เคยเป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดเผด็จการเบ็ดเสร็จโดย “พ่ออุปถัมภ์ของลัทธินาซี” ในเยอรมนีของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และพวก (ไม่ว่าโดยเจตนาหรือบังเอิญ)
คาร์ล ชมิตต์ นักปรัชญาการเมืองและกฎหมายของเยอรมันยุคก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เขียนหนังสือปรัชญาการเมืองชื่อ “วิกฤตของประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา” (Crisis of Parliamantary Democracy) ไว้เมื่อ ค.ศ. 1932 ซึ่งถูกพวกพรรคชาติสังคมนิยม หรือนาซี ของฮิตเลอร์ เอาไปเป็นคัมภีร์หลัก ลากถูเยอรมนีหายนะ และสังหารหมู่ศัตรูทางการเมืองหลายล้านคนในเวลาต่อมา ปรัชญารากฐานของชมิตต์ เริ่มต้นจากพื้นฐานความสัมพันธ์ของมนุษย์ต่อมนุษย์ว่า มีทั้งเสมอภาคกันและไม่เสมอภาคกัน โดยมนุษย์มีธรรมชาติที่จะเลือกปฏิบัติกับคนที่เป็นมิตรอย่างเสมอภาค และคนที่ไม่ใช่มิตรหรือศัตรูอย่างไม่เสมอภาค
จากพื้นฐานดังกล่าว ชมิตต์นำไปอธิบายความสัมพันธ์และการจัดระเบียบโครงสร้างทางการเมืองว่า การจำแนกมิตรและศัตรู จะทำให้สังคมที่เป็นประชาธิปไตยมีความชัดเจนในการสร้างเจตจำนงของรัฐขึ้นมาได้โดยมีเป้าหมายชัดเจน รัฐในความหมายของชมิตต์นั้น ยืมเอามาจากนิยามของเฮเกลโดยตรง นั่นคือ มีฐานะเป็นองค์ประธานสูงสุดทางจริยธรรมของปวงชน ที่สามารถตัดสินด้วยตนเอง รัฐจึงมีฐานะและคุณค่าอยู่เหนือกฎหมาย, ศีลธรรม และระบบเหตุผลทั้งปวง ไม่จำเป็นต้องขึ้นต่อปทัสถานทางจริยธรรมอื่นใด หรืออีกนัยหนึ่ง รัฐคือพระเจ้าผู้ซึ่งเราไม่มีวันหยั่งถึงเจตจำนงได้ (State as a willful and inscrutable God)
เจตจำนงในการสร้างศัตรูขึ้นมาเพื่อทำลายล้าง โดยอ้างว่าเป็นการฟอกขาวโลกให้สะอาดผุดผ่องมากขึ้น ไม่เคยทำให้มีมิตรเพิ่มแต่อย่างใด แต่กลับเพิ่มเพาะศัตรูให้มากยิ่งขึ้นสวนทางกัน
ผลลัพธ์ของข้อเสนอของชมิตต์เป็นเช่นไร คงทราบกันดี เพราะประวัติศาสตร์ของเยอรมนีภายใต้พรรคนาซีก็ยืนยันชัดแล้ว แต่มาถึงยามนี้ ทรัมป์และพวกกำลังเริ่มนำกลับมาใช้ใหม่ โดยหวังว่าจะรักษาคะแนนนิยมทางการเมืองของเขาเอาไว้ได้ต่อไป หลังจากผ่านมาเกือบ 3 เดือนในตำแหน่งประธานาธิบดี ไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน
ปฏิบัติการทางทหารของทรัมป์ ที่บอกจุดยืนขวาจัดสายเหยี่ยวชัดเจน ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจกับท่าทีอีกครั้งของทรัมป์ในเรื่องค่าดอลลาร์ หลังจากที่เขากล่าวในการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัลว่า ดอลลาร์กำลังแข็งค่ามากเกินไปในขณะนี้ ทั้งยังระบุด้วยว่า เขาชอบนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำ เฟดควรคงดอกเบี้ยที่ระดับต่ำต่อไป
คำกล่าวของทรัมป์ไม่เพียงแต่ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ว่าดอลลาร์กำลังอ่อนค่ารุนแรงในรอบ 5 เดือนเทียบเงินสกุลสำคัญของโลก แล้วยังถือว่าสวนทางกับทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งมีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้อย่างค่อยเป็นค่อยไป สอดรับกับทิศทางของเศรษฐกิจสหรัฐยุค “เงยหัวขึ้น” หรือ Reflation stage
ผลของคำกล่าวเรื่องดอลลาร์แข็งค่าเกิน มีผลทำให้ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งวัดค่าเงินดอลลาร์กับสกุลเงินคู่ค้าหลัก 6 สกุลเงิน ลดลง 0.22% แตะที่ 100.560 ในวันพฤหัสบดี ถือเป็นการต่ำค่าสุดในรอบ 5 เดือน และส่งผลให้สัปดาห์นี้ ค่าดอลลาร์จะยังคงมีบทบาทครอบงำให้เกิดความผันผวนของตลาดหุ้นและตลาดเก็งกำไรทั่วโลก ทำให้สัญญาณทางเทคนิคของตลาดทำงานไม่เป็นไปตามปกติ
ปรากฏการณ์ “ทุบดอลลาร์” ของทรัมป์ ครั้งล่าสุดนี้เป็นครั้งที่สองแล้วในรอบ 4 เดือนนี้ หลังจากที่ครั้งแรกเขาทำให้ค่าดอลลาร์ดิ่งแรงมาแล้วในเดือนมกราคม จากการพูดทำนองเดียวกัน แต่ครั้งนั้นอ้างสาเหตุว่าจีนบิดเบือนค่าเงินหยวน หากครั้งนี้ ไม่เอ่ยถึงเรื่องของจีนเลย
ความไม่แน่นอน ระหว่างนโนยบายในช่วงหาเสียง และหลังขึ้นสู่อำนาจในทำเนียบขาว ทำให้เกิดคำถามจากตลาดว่า นอกจากทรัมป์จะล้มเหลวในการรักษาคำมั่นสัญญาระหว่างการหาเสียงแล้ว ทรัมป์ให้ความสำคัญกับนโยบายในการหาเสียงมากแค่ไหน หรือคิดว่าเป็นประดิษฐกรรมในการสร้างคะแนนนิยม เพื่อพร้อมโยนทิ้งไปเมื่อเข้าสู่แกนของอำนาจได้แล้ว
ปริศนาว่าทรัมป์เพี้ยน หรือโง่ จึงยังเป็นสิ่งที่ต้องติดตามกันต่อไปอย่างชวนระทึก