หมุดแห่งความขัดแย้ง
รัฐบาลปัดไม่รู้เรื่องหมุดคณะราษฎรหาย แต่โฆษณาเป็นการใหญ่ว่าประเทศไทยติดอันดับ 2 ของประเทศที่มีความสุขที่สุดในอาเซียน ที่ 3 ในเอเชีย เป็นรองแค่อาหรับเอมิเรตส์กับสิงคโปร์ และที่ 32 ของโลก
ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง
รัฐบาลปัดไม่รู้เรื่องหมุดคณะราษฎรหาย แต่โฆษณาเป็นการใหญ่ว่าประเทศไทยติดอันดับ 2 ของประเทศที่มีความสุขที่สุดในอาเซียน ที่ 3 ในเอเชีย เป็นรองแค่อาหรับเอมิเรตส์กับสิงคโปร์ และที่ 32 ของโลก
อะโห เหมาะสมจริงๆ กับคำว่า “ประชาชนสุขสันต์หน้าใส” ในหมุดใหม่ที่เอามาแทนคำว่า “ประชาธิปไตย”
พูดอย่างนี้ไม่ใช่โทษรัฐบาลรู้เห็นเป็นใจ ถ้ารัฐอยากถอนหมุดคณะราษฎร คงทำอย่างเป็นทางการพร้อมข้ออ้างมากมาย ซึ่งใครก็ขวางไม่ได้ (แบบย้ายอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ หลักสี่) แต่การที่มีคนขโมยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ซ้ำยังอุกอาจเปลี่ยนใหม่ บนพื้นที่สาธารณะซึ่งมีเจ้าหน้าที่รัฐและชาวบ้านผ่านไปมามากมาย รัฐบาลจะอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไรเลยได้อย่างไร
นี่เป็นเหตุการณ์ที่จะวัดใจวัดทัศนะ ตั้งแต่รัฐบาลไปถึงทุกฝ่าย ทั้งในแง่กฎหมายบ้านเมือง จะปล่อยให้หลักหมุดหายไปเฉยๆ หรือไร ทั้งในแง่ทัศนะต่อประชาธิปไตย อ้าว ยกตัวอย่าง ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือนักวิชาการที่เข้าไปสนับสนุนรัฐประหาร คิดอย่างไรต่อหลักหมุดคณะราษฎร หรือเห็นว่าสมควรทำลายเพราะชิงสุกก่อนห่าม?
เท่าที่เห็นก็ยังไม่ค่อยมีคนกระตือรือร้นสนใจ มีแค่นักประชาธิปไตยนักประวัติศาสตร์กลุ่มเล็กๆ ไม่ยักเหมือนตอนคนสติไม่ดีทุบศาลพระภูมิโรงแรม สังคมไทยเป็นเดือดเป็นแค้นราวกับทำลายสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง
หมุดคณะราษฎร สัญลักษณ์ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” ปักติดดินมาเกือบ 85 ปี ผ่านรัฐประหาร 12 ครั้ง แม้คณะราษฎรหมดอำนาจตั้งแต่รัฐประหาร 2490 คุณูปการต่างๆ ที่สร้างให้ประเทศ ก็ถูกเกลื่อนกลบลบลืมแต่ 70 ปีที่ผ่านมา ก็ยังไม่เคยเกิดเหตุถึงขั้นถอนหมุดคณะราษฎร นี่สะท้อนอะไร
นี่ไม่ใช่การกระทำของคนไม่กี่คนหรอกนะครับ แต่มันสะท้อนจิตสำนึกเกลียดชังประชาธิปไตย ให้ร้ายคณะราษฎร ซึ่งปรากฏมาตลอดการต่อสู้ทางการเมืองสิบกว่าปี
ความคิดจารีตที่ radical ไม่ต่างจากตาลีบันระเบิดพระพุทธรูปแห่งบามิยัน ถูกปลุกขึ้นในหมู่คนชั้นกลางอนุรักษนิยมที่สมองถูกปิดกั้น ปฏิเสธประชาธิปไตย เป็นภาพสะท้อนของสังคมไทยที่ไร้ภูมิปัญญา และไร้ทางออก ในปัจจุบัน
ว่าที่จริง 85 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยก็ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยซักเท่าไหร่ คณะราษฎรมีอำนาจ 15 ปีก็ถูกแย่งอำนาจ เข้าสู่ยุคเผด็จการทหารยาวนาน เกิด 14 ตุลา 2516 ประชาธิปไตยเบ่งบานช่วงสั้นๆ หลังจากนั้นก็เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ แล้วพัฒนามาสู่ประชาธิปไตยครึ่งๆ กลางๆ แบบที่อำนาจจากเลือกตั้งกับอำนาจของคนชั้นสูงคนชั้นนำอยู่ร่วมกันได้อย่างค่อนข้าง “สมดุล” หลายสิบปี
แต่ความขัดแย้งทางการเมืองสิบกว่าปีที่ผ่านมา คือภาพสะท้อนว่า อำนาจจากเลือกตั้งที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้นทุกที กับอำนาจจากแต่งตั้ง กำลังจะอยู่ร่วมกันไม่ได้ จนต้องทำรัฐประหารดึงอำนาจกลับ แต่ก็ไม่สามารถกำหนดโครงสร้างใหม่ที่อยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล
อ้าวก็ดูง่ายๆ รัฐประหารทุกครั้งบอกว่าหยุดซ่อมประชาธิปไตยแป๊บแล้วกลับไปเลือกตั้ง แต่ครั้งนี้ ขนาดเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ให้ศาล ทหาร องค์กรอิสระ อยู่เหนืออำนาจประชาชน ก็ยังยึกยักไม่สามารถกลับสู่เลือกตั้ง
การทำลายหลักหมุดคณะราษฎร ลบประวัติศาสตร์ไม่ได้ ตรงข้าม มันยิ่งทำให้เห็นความเป็นจริงว่าประเทศนี้ยากจะกลับสู่ภาวะปกติมีแต่จะขัดแย้งยิ่งๆ ขึ้นไปในภายหน้า