BEM-รถไฟฟ้าใต้ดิน
ช่วงเทศกาลสงกรานต์มีข่าวเกี่ยวกับรถไฟฟ้าใต้ดิน
ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร
ช่วงเทศกาลสงกรานต์มีข่าวเกี่ยวกับรถไฟฟ้าใต้ดิน
เป็นกรณีพนักงานที่ให้บริการอยู่ในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ห้ามชายคนหนึ่งใช้บริการรถไฟฟ้า
สาเหตุก็คือ ชายคนนั้น “เมาสุรา”
จริงแล้วผมเข้าไปแสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊คของสำนักข่าวแห่งหนึ่งในเชิงไม่เห็นด้วยกับการห้ามดังกล่าว
พร้อมกับยกกรณีของรถไฟฟ้าใต้ดินที่ประเทศญี่ปุ่นว่า ที่นั่น หากเรากลับบ้านดึกๆ ก็จะพบคนเมา หรือดื่มสุรามา และใช้บริการรถไฟฟ้าใต้ดิน
และเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติของที่ญี่ปุ่น
ปรากฏว่ามีคนเข้ามาแสดงความเห็นด้วยจำนวนมาก
พร้อมกับยกตัวอย่างของการให้บริการรถไฟฟ้าใต้ดินอีกหลายประเทศ เช่น เกาหลีใต้ อังกฤษ และประเทศอื่นๆ
วานนี้ (17 เม.ย.) ก็เลยต่อสายไปพูดคุยกับคนที่รู้เรื่องของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BEM เพื่อขอเป็นความรู้
จริงๆ แล้วไม่ได้ต้องการรู้แค่เรื่องว่า ห้ามคนดื่มสุรา หรือคนเมา ใช้บริการจริงๆ หรือไม่
แต่ต้องการรู้เรื่องอื่นๆ อีกหลายๆ เรื่อง
เพราะส่วนตัวนั้นก็ใช้บริการรถไฟฟ้าใต้ดินเป็นประจำ และก็พบหลายๆ ปัญหาที่มองว่า จุกจิกไปนะ
และเหตุใดกฎเกณฑ์การใช้ จึงต่างกับ บีทีเอส
ปัจจุบันคนที่เป็นเจ้าของสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน รวมถึงรางทั้งหมดก็คือ รฟม.
รฟม.เป็นฝ่ายที่จ้าง BEM เข้ามาบริหารงานทั้งหมดในสถานี
รวมถึงการรักษาความปลอดภัย
ในขั้นตอนของการทำสัญญาระหว่างกัน ก็มีการกำหนดเกี่ยวกับเกณฑ์ต่างๆ ไว้หลายเรื่อง
บางเรื่อง เขาก็บอกว่า มีการอิงกับ พ.ร.บ.ขนส่งทางบก เช่น เรื่องคนเมาสุรา ที่กำลังดราม่าในโลกของสังคมออนไลน์
เขามีการชี้แจงแบบนี้
คือ รถไฟฟ้าใต้ดินเป็น “ระบบปิด”
และเป็นระบบที่ต่างกับบีทีเอส ที่เป็นระบบเปิด
ดังนั้น หากเกิดเหตุอะไรขึ้นมา ภายในรถไฟฟ้า หรือภายในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ก็อาจยากต่อการควบคุม จึงต้องมีความเข้มงวดในการป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้
ผมยกตัวอย่างที่ประเทศญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ และประเทศอื่นๆ ทำไมเขาถึงไม่ปิดข่าวกันกรณีนี้
คำตอบที่ได้รับคือ “ความรับผิดชอบ” และ “สภาพแวดล้อม” แตกต่างกัน
เขายอมรับว่า ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นภายในรถไฟฟ้าใต้ดิน
BEM จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด
แต่ส่วนตัวผมนั้น ก็ยังไม่ค่อยเห็นด้วยสักเท่าไหร่กับกฎเกณฑ์นี้
เพราะมองว่า บริการขนส่งสาธารณะ (ยกเว้นเครื่องบิน) คนทุกคนมีสิทธิที่จะใช้บริการได้
ย้อนกลับมาที่คนดื่มสุรา และเจ้าหน้าที่ไม่ให้ใช้บริการรถไฟฟ้าใต้ดินตามข่าว
จากคลิปที่มีคนนำมาโพสต์พบว่า บุคคลนั้น ยอมรับว่า ดื่มสุรามา แต่เขาก็พูดจารู้เรื่อง เดินมาซื้อตั๋วได้ และก็ไม่ได้มีการแสดงออกที่จะเป็นภัยอันตรายต่อใคร
หรือเกรงว่ากลิ่นจะไปรบกวนผู้โดยสารคนอื่นๆ
มีอีกคนเข้ามาโพสต์ต่อครับ
ระบุว่า เคยถูกปฏิเสธการให้ซื้อตั๋วโดยสารจากเจ้าหน้าที่เพราะตนเองนั้นดื่มสุรามาเช่นกัน
เขาจึงเดินไปซื้อตั๋วกับตู้อัตโนมัติแทน
ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่มีการ “ว.” ไปยังฝ่ายรักษาความปลอดภัย พร้อมกับให้มี รปภ. 2 คนเข้ามาประกบ
จริงแล้ว มีอีกหลายเรื่องที่ส่วนตัวนั้นก็ไม่เข้าใจในการใช้บริการรถไฟฟ้าใต้ดินของไทย
เพราะเหมือนดูจุกจิก และ (อาจ) เข้มงวดเกินไป
ผมเคยถามผู้บริหารของ BEM ว่า รถไฟฟ้าใต้ดินของไทยมีความเสี่ยงต่อการเกิดวินาศกรรมมากแค่ไหน
เขาบอกว่า หากหน่วยข่าวของทางการแจ้งมา เราก็ต้องเพิ่มความเข้มงวด
และหากเป็นช่วงที่มีการมองว่ามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
ก็จะมีหน่วยรักษาความปลอดภัยของทางการเข้ามาเสริม
พร้อมกับสุนัขดมกลิ่น