BCP และประกันสังคมลูบคมตลาดทุน

หลังการขายหุ้น “บางจากปิโตรเลียม” (BCP) ออกไปอีก 12% (เดิมถืออยู่ 2.36% รวมเป็น 14.36%) ของ “ปตท.” ก็เกิดการโจมตีใน Social Media อีกแล้ว


ธนะชัย ณ นคร

 

หลังการขายหุ้น “บางจากปิโตรเลียม” (BCP) ออกไปอีก 12% (เดิมถืออยู่ 2.36% รวมเป็น 14.36%) ของ “ปตท.” ก็เกิดการโจมตีใน Social Media อีกแล้ว

โจมตีแรก เกี่ยวกับธุรกิจพลังงาน

โจมตีอีกเรื่องคือ ทำไมให้กองทุนประกันสังคม (สปส.) เข้าไปซื้อหุ้น BCP

แต่ไม่ว่าจะมาจากเรื่องใด ก็ล้วนเชื่อมโยงมาจากปัญหาการเมือง และความพยายามสร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องพลังงานในประเทศไทย

และนั่นทำให้ข้อเท็จจริงถูกบิดเบี้ยวไป

บางคนตั้งข้อสังเกตว่า ปตท.จะได้กำไรมหาศาลจากการขาย BCP

ขณะเดียวกันก็จะมีการเชื่อมโยงต่อไปถึงกลุ่มการเมืองที่จะได้ประโยชน์จากการถือหุ้น ปตท.อยู่ หลังการขายหุ้น BCP ออกไป

มีการเสนอด้วยข้อเสนอเดิมๆ ด้วยว่า รัฐบาลควรจะซื้อหุ้น ปตท.กลับคืนมาทั้งหมด

นอกจากนั้น ก็ยังลามไปถึงหุ้น BCP ด้วย ที่ให้รัฐบาลควรจะซื้อหุ้นคืนมาทั้งหมดเช่นกัน พร้อมให้ตั้งเป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติ

ผลสุดท้ายก็จะมาจบเรื่องราคาน้ำมันที่บอกว่า จะถูกลง

ผมเข้าใจว่า ทั้งรัฐบาลและ คสช. ต่างมีความเข้าใจเรื่องพลังงาน และรู้ว่าต้องดำเนินการอย่างไร

ส่วนเรื่องกองทุนประกันสังคมที่เข้ามาซื้อหุ้น BCP ก็มีการตั้งคำถามว่า ทำไมต้องเข้าไปลงทุนบริษัทที่อยู่ในตลาดหุ้น เพราะมีความเสี่ยง

และหวั่นว่าจะซ้ำรอย กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)

การตั้งคำถามแบบนี้ แสดงให้เห็นว่า ยังมีคนจำนวนมากไม่เข้าใจ “ระบบ” ของกองทุน ทั้ง กบข. และกองทุนประกันสังคมหรือ สปส.

ทว่า นั่นก็เป็นเรื่องที่หน่วยงานจะต้องเข้ามาสร้างความรู้ให้กับสมาชิกให้มากขึ้น

สปส.นั้นก็เปรียบเสมือนกองทุนๆ หนึ่ง ที่เมื่อได้เงินมาจากสมาชิกแล้ว ก็จะต้องนำไปลงทุน เพื่อให้ได้ผลตอบแทนเพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่จะต้องจ่ายออกไป

หากผมจำไม่ผิด ผลตอบแทนของ สปส.โดยเฉลี่ยของปี 2557 อยู่ที่ประมาณ 8-9%

ณ สิ้นปี 2557 สปส.มีพอร์ตลงทุนอยู่ 1.25 ล้านล้านบาท  มีผู้ประกันคนหรือสมาชิกอยู่กว่า 12 ล้านคน

สินทรัพย์ส่วนใหญ่กว่า 80% จะลงทุนในหลักทรัพย์มั่นคงสูง

หรือพวกพันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ นั่นแหละ

ที่เหลืออีก 20% เป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง เช่น การลงทุนในตลาดหุ้น

มีการประเมินกันออกมาว่า ผลตอบแทนที่ สปส.ได้ทุกวันนี้นั้น ยังถือว่าต่ำเกินไป นั่นเพราะอาจถูกจำกัดการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงในอัตราที่น้อยมาก

และนั่นทำให้ผลตอบแทนออกมาโดยเฉลี่ยยังต่ำ เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

คุณวรวรรณ ธาราภูมิ นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ได้โพสต์ใน Facebook เป็นความเห็นส่วนตัวว่า หากผลตอบแทนที่ สปส.ทำได้ 10% ก็ยังถือว่า “ต่ำ” หากเทียบกับเงินที่จะต้องจ่ายให้กับสมาชิก (หลังเกษียณ) ไปจนตลอดชีวิต ในอัตราเดือนละ 3,000 บาท

และอีกหลายๆ เหตุผลครับ

แม้ว่าการถูกจำกัดการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เพราะเกรงว่าจะขาดทุน

ทว่าก็กลายเป็นจุดอ่อนของกองทุน (ที่มีภาระมาก) อย่างกองทุนประกันสังคม ที่ว่ากันว่า ในอีกซัก 10-20 ปีข้างหน้า สปส.อาจมีปัญหาเรื่องสภาพคล่องแน่ๆ

จากการที่มีภาระต้องจ่ายเงินให้กับผู้ประกันตนหลังเกษียณเฉลี่ยเดือนละ 3,000 บาท เพิ่มขึ้นๆ ในทุกปี

สปส.เองนั้น ก็ดูเหมือนจะทราบดี

ที่ผ่านมาจึงมีความพยายามของภาครัฐ ที่จะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง หรือหันไปลงทุนในต่างประเทศได้มากขึ้น และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานคาดหวังผลตอบแทน 6-8% ต่อปี

ส่วนการลงทุนในหุ้น BCP ก็ถือว่าอยู่ในส่วนของสินทรัพย์เสี่ยง

แต่เป็นสินทรัพย์เสี่ยงที่มีผลประกอบการดีมาโดยตลอด มีผลกำไรสุทธิต่อเนื่อง และจ่ายผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอ

ณ สิ้นปี 2557 มีอัตราผลตอบแทนเงินปันผล 4.25% ส่วนปี 2558 ผ่านมาเกือบ 4 เดือน ตัวเลขเฉลี่ยที่ 2.96%

BCP จึงจัดเป็นหุ้นพื้นฐานที่ดีอีกตัวหนึ่งในตลาดหุ้น

และก็เหมาะสมแล้วที่ สปส.เข้าไปลงทุน

 

 

 

 

Back to top button