พาราสาวะถี
ตั้งคำถามได้ต่อเนื่องเหมือน “เจ้าหนูจำไม” จริงๆ สำหรับ สมชัย ศรีสุทธิยากร หลังจากวันก่อนกรธ.ดูเหมือนจะเบาใจที่กกต.ไม่ติดใจปมกกต.จังหวัด จะตัดทิ้งหรือให้คงอยู่ ก็พร้อมปฏิบัติตาม แต่กลับมีปุจฉาที่โยนหินถามทางไปถึงสนช.และกรธ. ซึ่งก็ชวนให้คิดกันอยู่ไม่น้อย เพราะในมุมของสมชัยสิ่งที่เป็นเครื่องหมายคำถามมันคือ ความไม่รอบคอบของคนเขียนกฎหมาย
อรชุน
ตั้งคำถามได้ต่อเนื่องเหมือน “เจ้าหนูจำไม” จริงๆ สำหรับ สมชัย ศรีสุทธิยากร หลังจากวันก่อนกรธ.ดูเหมือนจะเบาใจที่กกต.ไม่ติดใจปมกกต.จังหวัด จะตัดทิ้งหรือให้คงอยู่ ก็พร้อมปฏิบัติตาม แต่กลับมีปุจฉาที่โยนหินถามทางไปถึงสนช.และกรธ. ซึ่งก็ชวนให้คิดกันอยู่ไม่น้อย เพราะในมุมของสมชัยสิ่งที่เป็นเครื่องหมายคำถามมันคือ ความไม่รอบคอบของคนเขียนกฎหมาย
ประการแรกที่เจ้าตัวตัวตั้งข้อสังเกต แต่กลับไม่ยักจะหาหนทางออกนั่นก็คือ เงื่อนเวลา 150 วันสำหรับกระบวนการจัดการเลือกตั้ง หลังกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องทั้ง 4 ฉบับมีผลบังคับใช้ สงสัยว่าต้องรวมระยะเวลา 60 วันในการที่กกต.จะต้องประกาศผลการเลือกตั้งไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 นับตั้งแต่วันเลือกตั้งด้วยหรือไม่ หากรวมนั่นหมายความว่า กกต.จะมีเวลาในการเตรียมจัดการเลือกตั้งสั้นลงไปอีก
สิ่งที่สมชัยเป็นกังวลคือ หากกกต.เห็นว่าถ้าตีความโดยใช้เวลาจัดการเลือกตั้ง 150 วัน ไม่รวมระยะเวลาประกาศผล 60 วัน ก็อาจจะเกิดประเด็นโต้แย้งกันได้ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยของกกต.เองจึงควรตีความว่า 150 วันที่กกต.ต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จหมายรวมถึงการประกาศผลการเลือกตั้งด้วย และได้ให้แนวปฏิบัติกับสำนักงานว่ากกต.จะต้องจัดการเลือกตั้งให้เกิดขึ้นภายใน 90 วัน นับแต่ที่มีการประกาศใช้กฎหมายเลือกตั้ง
เมื่อถามต่อว่า ควรถามความชัดเจนไปยังกรธ.หรือส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่ สมชัยก็อ้างว่า ขณะนี้ปัญหายังไม่เกิด จะให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความก็ไม่ได้ จะถามกรธ.ไป ผลที่ได้ก็ไม่ได้ผูกพันไปถึงอนาคต เพราะผู้ที่จัดการเลือกตั้งก็คือกกต. ดังนั้น ความผิดที่จะเกิดการทำให้การเลือกตั้งเสียไป ไม่ได้เกิดกับคนที่จะตอบคำถามในวันนี้ แต่จะเกิดกับกกต.ทั้ง 7 คนในอนาคต จึงจำเป็นที่กกต.จะต้องพิจารณาและตีความเรื่องนี้อย่างเคร่งครัด
นี่แค่ปมเดียวที่เกิดจากกกต.อันเกี่ยวเนื่องกับการเลือกตั้ง ก็ทำท่าว่าจะเป็นอุปสรรคสำหรับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นไม่รู้ว่ามันจะต้องเนิ่นช้าออกไปหรือเปล่า หากกกต.ตีความแบบคิดไม่ตก หรือแม้แต่วินิจฉัยแล้วก็ไม่รู้ว่าจะมีใครที่มองเห็นเป็นอย่างอื่นและเห็นว่าจะต้องมีการตีความในข้อกฎหมายอีกหรือเปล่า ถ้ามีการไปยื่นร้องยังองค์กรหนึ่งองค์กรใด ก็ไม่มีใครตอบได้ว่า ผลมันจะเป็นอย่างไร
ปมแรกยังไม่มีคำตอบ สมชัยก็โยนปมใหม่มาอีกเกี่ยวกับคุณสมบัติของกกต.ทั้ง 5 คน ที่จะต้องผ่านกระบวนการตัดสินโดยคณะกรรมการสรรหาพิจารณาวินิจฉัย ในบทเฉพาะกาลของกฎหมายลูกที่ว่าด้วยกกต.นั้นระบุไว้ว่า เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับให้คณะกรรมการสรรหาพิจารณาวินิจฉัยว่า กกต.ปัจจุบันใครขาดคุณสมบัติ เมื่อพบก็ให้พ้นจากตำแหน่ง เป็นการพ้นในทันที เช่น วินิจฉัยวันนี้ก็พ้นจากตำแหน่งในวันต่อไปเลยและคำสั่งถือเป็นที่สุด
สิ่งที่สมชัยสงสัยก็คือ ตรงนี้จะทำให้เกิดการติดล็อกของระบบการเมืองไทยทั้งประเทศหรือไม่ หากมีองค์กรอิสระหนึ่ง มีกรรมการที่คุณสมบัติไม่ครบเกินครึ่ง สมมติว่าคณะกรรมการสรรหาลงมติวันที่ 31 มีนาคม วันที่ 1 เมษายนต้องออกทันที ทำให้องค์คณะขององค์กรอิสระนั้นเหลืออยู่ไม่ถึงครึ่ง การจะพิจารณาเรื่องสำคัญก็จะทำไม่ได้
เมื่อไปดูขั้นตอนการสรรหาคณะกรรมการสรรหาจะใช้เวลา 30 วัน ดำเนินการสรรหากรรมการมาทดแทน หรือเพิ่มเติมในส่วนที่ขาดตามที่กฎหมายกำหนด จากนั้นส่งไปให้สนช.พิจารณาอีก 30 วัน ถ้าเห็นชอบก็มีขั้นตอนเสนอชื่อโปรดเกล้าฯ รวมเบ็ดเสร็จแล้วใช้เวลาอย่างน้อย 75 วัน โดยระยะเวลาดังกล่าวจะเป็นช่วงที่องค์กรอิสระนั้น จะไม่สามารถทำงานสำคัญอะไรได้
แต่ถ้าหากสนช.ตีกลับรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาเสนอ จะทำให้เสียเวลาไปอีกระยะหนึ่ง เมื่อเป็นเช่นนั้นนี่จึงเป็นโจทย์ซ้อนขึ้นมาสำหรับสนช. เพื่อใช้ประกอบในการตัดสินใจพิจารณาร่างกฎหมายลูกว่าด้วยกกต. เพราะสิ่งสำคัญมันไม่ได้อยู่ที่ตัวกกต.ว่าใครจะอยู่หรือไปเท่านั้น แต่มันหมายถึงองคาพยพที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทำงานทั้งระบบ
ยิ่งถ้าเป็นไปตามที่สมชัยกังวลคือ กฎหมายว่าด้วยกกต.เขียนไว้แตกต่างจากกฎหมายลูกขององค์กรอิสระอื่น ที่จะให้กรรมการอยู่ทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าคนใหม่จะได้รับการแต่งตั้ง แต่ของกกต.ถ้าคณะกรรมการสรรหาวินิจฉัยว่าขาดคุณสมบัติก็ต้องพ้นทันที นั่นเท่ากับว่า หากกกต.เหลือแค่ 3 คน ก็จะประชุมได้เท่าที่จำเป็น แต่ถ้าเป็นเรื่องใหญ่ที่สำคัญก็ต้องรอกรรมการใหม่ที่จะเข้ามาทดแทน
หากเป็นเช่นนั้นนี่ก็จะเป็นอีกเงื่อนปมที่จะทำให้โรดแมปเลือกตั้งขยับออกไปจากเดิมอีก อย่างไรก็ตาม ฟังเสียงจากกรธ.ต่างก็ยืนยันว่า ไม่ได้มีการปรับแก้เนื้อหาของร่างกฎหมายทั้งกกต.และพรรคการเมืองออกไปจากเดิม ดังนั้น จึงไม่จำเป็นที่จะต้องกังวลอะไร ถือเป็นหน้าที่ของผู้ยกร่างที่จะอธิบายเช่นนั้น แต่วันนี้ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสนช.
ลองหยั่งกระแสจับท่าทีของสนช.เวลานี้ เห็นได้ชัดว่าไม่ได้มีเอกภาพ ความเห็นยังคงแตกต่างหลากหลาย โดยเฉพาะประเด็นที่เป็นปัญหา แน่นอนว่า คงทำให้ฝ่ายเรียกร้องความชัดเจนเรื่องการเลือกตั้ง ออกอาการหวั่นไหวไม่ใช่น้อย ยิ่งได้ฟังความกังวลของ อมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษกกรธ.ล่าสุด ยิ่งทำให้ความไม่เชื่อมั่นมีมากขึ้น
อมรเรียกร้องว่า การแก้ไขรายละเอียดต้องคำนึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ รวมถึงการแก้ไขนั้นจะทำให้ขัดกับรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ หากสนช. แก้ไขแล้วมีปัญหา หรือทำให้เสียเวลาหรือเวลายืดเยื้อออกไป สนช.ต้องรับผิดชอบ ก็ไม่รู้ว่าเป็นการดักคอไว้ก่อนหรือได้รับสัญญาณอะไรมา หรือถ้าคิดมากไปกว่านั้น เป็นเพราะเห็นบทเรียนมาจากการล้มร่างรัฐธรรมนูญฉบับ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ มาแล้วหรือเปล่าจึงทำให้กรธ.ออกอาการหวั่นไหว ซึ่งมันคงไม่เลวร้ายอะไรขนาดนั้น
วันนี้ การเรียกร้องเรื่องหมุดคณะราษฎรที่หายไป คงทำได้ในวงที่จำกัด ส่วนคำอธิบายมาจากฝ่ายผู้มีอำนาจคงจะไร้คำตอบ น่าจะปล่อยให้กรณีนี้เงียบหายไปกับสายลม ต้องไม่ลืมว่า บางเรื่องนั้นจำเป็นที่จะต้องอธิบายด้วยเหตุและผล แต่บางเรื่องไม่จำเป็นต้องไปขุดคุ้ยหาคำอธิบาย เฉยๆ ไว้จะดีกว่า ประเด็นนี้ก็เช่นเดียวกัน