พาราสาวะถี

ยืนยันจาก วิษณุ เครืองาม เรื่องหมายกำหนดการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่เผยแพร่อยู่ในเวลานี้บางส่วนยังคงมีความคลาดเคลื่อนอยู่ จึงขอให้คนไทยรอหมายกำหนดการที่จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา พระราชพิธีที่สำคัญของคนไทยทั้งประเทศควรจะรอให้ทุกอย่างยืนยันอย่างเป็นทางการดีกว่า


อรชุน

 

ยืนยันจาก วิษณุ เครืองาม เรื่องหมายกำหนดการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่เผยแพร่อยู่ในเวลานี้บางส่วนยังคงมีความคลาดเคลื่อนอยู่ จึงขอให้คนไทยรอหมายกำหนดการที่จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา พระราชพิธีที่สำคัญของคนไทยทั้งประเทศควรจะรอให้ทุกอย่างยืนยันอย่างเป็นทางการดีกว่า

วันนี้ ที่ประชุมสนช.จะพิจารณาร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับคือ กฎหมายกกต.และพรรคการเมือง ไม่มีอะไรให้ต้องลุ้น เพราะเป็นวาระแรก ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนโดยสนช.รับหลักการ จากนั้นก็ตั้งคณะกรรมาธิการมาศึกษา ระบุมาแล้วจากวิปสนช.ทั้งสองร่างจะมีคณะกรรมาธิการพิจารณาฉบับละ 31 คนซึ่งจะแบ่งสัดส่วนของผู้ที่จะเข้ามาเป็นกรรมาธิการไม่เท่ากัน

โดยร่างกฎหมายลูกว่าด้วยกกต.กรรมาธิการจะประกอบด้วยสนช. 25 คน คณะรัฐมนตรี 2 คน กรธ. 2 คน กกต. 1 และคณะกรรมการกฤษฎีกา 1 คน ส่วนร่างกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง กรรมาธิการจะประกอบด้วยสนช. 25 คน และคณะรัฐมนตรี 6 คน ซึ่งในสัดส่วนของครม. ยังไม่ทราบว่าจะมาจากหน่วยงานใดบ้าง แต่ไม่มีตัวแทนพรรคการเมืองแน่นอน

อย่างไรก็ตาม เปรยมาแล้วจากวิษณุผู้ดูแลด้านกฎหมายของรัฐบาล ตัวแทนครม.ร่วมเป็นกรรมาธิการพิจารณากฎหมายทั้งสองฉบับจะเลือกใช้สมาชิกสปท.เป็นผู้แทน ตอนนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสม หลังจากคณะกรรมาธิการทั้งสองชุดเริ่มทำงานน่าจะมีหลายประเด็นหลุดออกมาให้สังคมร่วมพิจารณา โดยสนช.ยืนยันว่าจะใช้เวลาในการพิจารณา 45 วัน

กฎหมายกกต.ตามที่รับรู้กันมาก่อนหน้า เรื่องที่เป็นปัญหาคือกกต.จังหวัดและคุณสมบัติของกกต.ทั้ง 5 คน หากเป็นไปตามข้อกังวลของ สมชัย ศรีสุทธิยากร ทั้งหมดจะต้องมีการปรับแก้ และนั่นจะเป็นปัญหาว่ากรธ.ที่แสดงเจตนารมณ์ของการยกร่างข้อบังคับต่างๆ ไว้ชัดเจนจะยอมหรือไม่ ถ้าไม่อยากให้เกิดปัญหายืดเยื้อคาราคาซัง ต้องทำความเข้าใจและทุบโต๊ะให้เรียบร้อย

ส่วนกฎหมายพรรคการเมือง เรื่องที่นักการเมืองและพรรคการเมืองทักท้วงกันอยู่ขณะนี้คือการเก็บค่าสมาชิกพรรคไม่น้อยกว่าปีละ 100 บาทและไม่เกิน 2,000 บาทตลอดชีพ ประเด็นดังว่า มีชัย ฤชุพันธุ์ ยืนยันไม่ปรับแก้และไม่ใช่สาระสำคัญ ซึ่งก็คงไม่ใช่สาระหลักที่สมาชิกสนช.หรือคณะกรรมาธิการที่จะตั้งขึ้นต้องหยิบยกมาถกเถียง

แต่ที่น่าสนใจในข้อสังเกตคงเป็นความเห็นของ สดศรี สัตยธรรม อดีตกกต. ซึ่งมองว่าเป็นครั้งแรกที่กำหนดไว้ในกฎหมายลูก ที่ผ่านมาขนาดไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพรรคการเมืองแต่ละพรรคยังหาสมาชิกพรรคได้ยากมาก พรรคต้องล้มเพราะหาสมาชิกพรรคไม่ได้ตามจำนวนที่กำหนดไว้ ดังนั้น การที่มีการกำหนดไว้แบบนี้ เข้าใจว่าต้องการให้พรรคการเมืองสามารถเลี้ยงตัวเองได้และยืนได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องอาศัยเงินจากกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง

แต่องค์ประกอบของการเป็นพรรคการเมืองไม่ได้มีแค่เฉพาะค่าธรรมเนียมหรือค่าบำรุงพรรค ยังมีกฎเกณฑ์ต่างๆ อีกมากมายที่กฎหมายลูกฉบับนี้เขียนกำหนดไว้ ยกตัวอย่าง มาตรา 14 ที่ระบุว่า ข้อบังคับพรรคต้องไม่มีลักษณะครอบงำหรือเป็นอุปสรรคต่อการทำหน้าที่โดยอิสระของส.ส. ส่วนมาตรา 33 ระบุว่า ภายใน 1 ปี นับจากนายทะเบียนรับจดทะเบียน พรรคการเมืองต้องดำเนินการให้มีสมาชิกไม่น้อยกว่า 5,000 คน และต้องเพิ่มสมาชิกให้มีจำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 คน ภายใน 4 ปี

จากการที่กฎหมายพรรคการเมืองมีรายละเอียดและกฎเกณฑ์มากนี่เอง เป็นเหตุให้สดศรีมองว่าการคงอยู่ของพรรคการเมืองจะทำได้ยากยิ่ง มีโอกาสที่จะทำให้พรรคการเมืองสิ้นสภาพ นั่นหมายความว่า กฎหมายพรรคการเมืองฉบับนี้ทำให้พรรคการเมืองตั้งได้ยากแต่จะล้มง่าย นี่ยังไม่นับรวมเรื่องบทลงโทษกรรมการบริหารและสมาชิกพรรคที่มีโอกาสจะทำให้นักการเมืองถูกเล่นงานได้ตลอดเวลา

ประสานักการเมืองคงไม่ได้อินังขังขอบต่อเนื้อหาสาระของเรื่องเหล่านี้เท่าไหร่ ปัจจัยสำคัญอยู่ที่ให้ใช้เวลาในการพิจารณาให้เร็วที่สุด เพื่อที่จะได้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นโดยเร็ว ต่อให้ต้องไปนั่งเป็นฝ่ายค้านในสภาอย่างน้อยก็ยังมีช่องทางหายใจ ดีกว่าถูกตีกันและปิดกั้นไม่ให้เคลื่อนไหวใดๆ อย่างที่เป็นอยู่ ไม่ใช่แค่อึดอัดเพียงอย่างเดียว แต่ความคล่องตัวในเรื่องของกระสุนก็เป็นปัญหาตามมาด้วย

ฟังคำชี้แจงจากทีมโฆษกคสช.เรื่องหมุดคณะราษฎร ดูเหมือนจะเป็นการพูดคนละเรื่องเดียวกัน กรณีการเคลื่อนไหวของกลุ่มนิสิต นักศึกษาและอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เรียกร้องขอดูภาพจากกล้องวงจรปิด ทางคสช. ขอความร่วมมือว่าบรรยากาศของบ้านเมืองตอนนี้กำลังก้าวหน้า และมีการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว สิ่งใดที่จะทำให้เกิดความไม่เรียบร้อย ก็ต้องขอความร่วมมือ ความร่วมแรงร่วมใจ เพื่อนำพาประเทศไปสู่ความปรองดอง

อาจถูกต้องส่วนหนึ่ง แต่อยากให้ พันเอกปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ผู้ที่แถลงเรื่องนี้ย้อนกลับไปดูความเห็นของ พิชัย รัตตกุล ที่ว่าหมุดคณะราษฎรไม่ใช่หมุดน้ำประปา คณะราษฎรนำมาฝังไว้ 85 ปีแล้ว มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และจิตใจ คำนวณเป็นเงินไม่ได้ การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งว่าใครเป็นเจ้าของหมุด ต้องให้เจ้าของมาแจ้งความเอง อย่ามาพูดให้ปรองดองกันด้วยปาก ตราบใดที่ขาดความจริงใจ ตราบนั้นบ้านเมืองก็ย่ำอยู่กับที่

หมุดคณะราษฎรถือเป็นประวัติศาสตร์ของไทย คนที่ขโมยไปต้องเอาของเก่ากลับคืนมา เพราะเป็นสัญลักษณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง การทำอย่างนี้ไม่ทำให้บ้านเมืองปรองดอง นี่ต่างหากคือสิ่งที่ฝ่ายผู้มีอำนาจต้องคำนึง ขณะที่ จาตุรนต์ ฉายแสง ก็แสดงความเห็นพร้อมตั้งคำถามไปยัง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า ไหนว่ายึดกฎหมาย

พลเอกประยุทธ์ชอบพูดว่ายึดกฎหมาย น่าสงสัยว่ากรณีหมุดหายครั้งนี้ ทำไมพลเอกประยุทธ์ไม่พูดว่ายึดกฎหมาย แทนที่จะหาตัวผู้ที่ทำให้หมุดหายไปมาดำเนินคดีและลงโทษตามกฎหมาย กลับไปคุมตัวและสอบผู้ที่ร้องเรียนทวงถามหาหมุดที่หายไป หรือพลเอกประยุทธ์จะชอบใช้คำว่ายึดกฎหมาย เฉพาะเวลาที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองเท่านั้น นี่คงเป็นคำถามที่คนจำนวนไม่น้อยอยากถามผู้มีอำนาจเหมือนกัน

Back to top button