บทเรียนที่สามของทรัมป์
เช้านี้ คนทั่วโลกก็คงรับรู้แล้วว่า การออกแบบแผนปฏิรูปภาษีของทีมงานประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่กร่างมาก ว่าจะมีความเข้มข้นและสอดรับกับนโยบายในช่วงหาเสียงก่อนเป็นประธานาธิบดีมากน้อยแค่ไหน
พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล
เช้านี้ คนทั่วโลกก็คงรับรู้แล้วว่า การออกแบบแผนปฏิรูปภาษีของทีมงานประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่กร่างมาก ว่าจะมีความเข้มข้นและสอดรับกับนโยบายในช่วงหาเสียงก่อนเป็นประธานาธิบดีมากน้อยแค่ไหน
แล้วชาวโลกก็จะได้รู้อีกเช่นกันว่า คำพูดของนายสตีเวน มนูชิน รมว.คลังสหรัฐฯที่ออกมาบอกว่า มาตรการปฏิรูปภาษีจะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างมาก จนทำให้การขาดดุลงบประมาณสามารถอยู่ภายใต้การควบคุม แล้วยังระบุเพิ่มเติมว่า รัฐบาลมีแผนที่จะผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากกว่า 3% ต่อปี โดยสูงกว่าระดับ 1.6% ของปีที่แล้วราว 2 เท่า จะเป็นแค่คำมั่นสัญญาที่ “ฝันกลางวัน” หรือปฏิบัติได้
แผนการปรับลดภาษีสำหรับนิติบุคคล และบุคคลธรรมดา รวมทั้งลดขั้นตอนระบบภาษีที่สลับซับซ้อนมากเกินไป โดยมีเป้าหมายอื่นแฝงเข้าด้วยเช่นเปิดโอกาสให้มีการสร้างงานเพิ่มขึ้น และส่งเสริมขีดความสามารถของธุรกิจสหรัฐฯให้แข่งขันกับต่างประเทศมากขึ้น เป็นภารกิจซับซ้อนและชวนให้ตั้งคำถามอย่างยิ่ง เพราะเป้าหมายไปด้วยกันยากลำบากมาก เสมือน “ไตรภาคีที่เป็นไปไม่ได้”
ก่อนจะถึงเวลาแถลงแผนในรัฐสภา เมื่อวานนี้ ทรัมป์ได้จัดการมอบหมายให้นายมนูชิน รมว.คลัง และนายแกรี โคห์น ผู้อำนวยการสภาเศรษฐกิจแห่งชาติ เดินทางไปสรุปมาตรการภาษีต่อรัฐสภา โดยที่ผ่านมานั้น นายมนูชินเป็นแกนนำเพื่อทำการขอความเห็นชอบในการผลักดันมาตรการภาษีให้ผ่านความเห็นชอบจากสภาคองเกรส
ความพยายามเรียกศรัทธาทางการเมืองของทรัมป์ในการปฏิรูปภาษีครั้งนี้ ถือว่า เป็นก้าวย่างสำคัญก้าวที่สามในเส้นทางการเมือง หลังจากที่คำสั่งตามนโยบายต่อต้านมุสลิมถูกสถาบันตุลาการรัฐต่างๆ ตีตกไปเพราะผิดรัฐธรรมนูญ และการยกเลิกกฎหมาย “โอบามาแคร์” ถูกนักการเมืองในพรรครีพับลิกันในรัฐสภาไม่ให้การสนับสนุน
ครั้งนี้ก็เช่นกัน เพราะนักการเมืองจากค่ายรีพับลิกัน ซึ่งเดิมเคยเชื่อกันว่าจะเป็นพวก “ฝักถั่ว” ให้กับทรัมป์ เกิดการแข็งข้อขึ้นมา เป็นตัวถ่วงแผนการของทรัมป์อย่างเต็มที่ อาจจะมากกว่านักการเมืองจากพรรคเดโมแครตเสียด้วยซ้ำ
เค้าโครงของร่างปฏิรูปภาษีนั้น เท่าที่ประมวลจากการคาดเดาในสหรัฐฯ พบว่าประกอบด้วยองค์ประกอบหยาบๆ ดังนี้
-การปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงสู่ระดับ 15% จากปัจจุบันระดับ 35%
-ลดภาษีรายได้นิติบุคคลในธุรกรรมที่ไม่ใช่ภาคการผลิต (pass-through businesses เช่น ธุรกิจโชห่วย ธุรกิจในครัวเรือน กองทุนเก็งกำไร และธุรกิจบริการอื่นๆ) จากระดับ 39.6% ลงมาเหลือ 15%
-เสนอให้มีการปรับลดภาษีเงินได้ของบริษัทข้ามชาติที่ส่งเม็ดเงินกำไรเข้ามาในสหรัฐฯ ลงสู่ระดับ 10% จากปัจจุบันที่ระดับ 35% หากส่งกำไรกลับคืนมาเร็วภายในเวลาที่กำหนด แทนการเลื่อนออกไปเรื่อยๆ ถือเป็น repatriate tax
-ปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลงมาอยู่ที่ระดับ 33% และปรับลดภาษีชนชั้นกลางที่ระดับเดียวกัน
-การปฏิรูปภาษี อาจไม่รวมถึงการใช้ภาษีสินค้าชายแดนจำแนกตามประเภท (BAT) ซึ่งจะเก็บภาษีสำหรับการนำเข้า 20% และละเว้นภาษีสำหรับการส่งออก
รายละเอียดดังกล่าวเป็นแค่การคาดเดาเท่านั้น เพราะหากการแถลงต่อรัฐสภา จะไม่มีรายละเอียดเหล่านี้ แต่มีแค่เปิดเผยกรอบนโยบายและจัดอันดับความเร่งด่วนอย่างกว้างๆ ของเรื่องนี้เท่านั้น เนื่องจากในทางปฏิบัติมีความซับซ้อนเกินคาดเพราะหลักกฎหมายสหรัฐฯระบุว่าการแก้ไขกฎหมายภาษีที่สำคัญจะต้องได้รับการอนุมัติจากสภาก่อนที่จะสามารถออกบังคับใช้ เท่ากับอำนาจแท้จริงอยู่ที่รัฐสภา
สาระสำคัญดังกล่าว ทำให้ทรัมป์และทีมงาน มีโอกาสประสบปัญหาในการเดินหน้าตามแผนงานด้านนโยบายภายในประเทศ รวมทั้งด้านกฎหมายภาษี ถึงแม้พรรครีพับริกันจะคุมเสียงข้างมากในทั้ง 2 สภาของสหรัฐฯภายในรอบ 100 วันที่จะสิ้นสุดในเดือนเมษายนนี้
เท่าที่ผ่านมา ทรัมป์ยังไม่สามารถผลักดันกฎหมายสำคัญให้ผ่านสภาคองเกรสได้ตามที่ได้เคยหาเสียงเอาไว้ ตรงกันข้ามกับประธานาธิบดีสหรัฐฯคนก่อนๆ ที่มักจะสามารถผลักดันกฎหมายสำคัญออกมาใช้ภายในช่วง 100 วันแรกได้ อุปสรรคสำคัญอยู่ที่ว่า นักการเมืองในพรรครีพับลิกันหลายคน หวั่นใจว่า มาตรการลดภาษีทั่วด้านของทรัมป์ จะทำให้รายได้ภาครัฐลดลง 2.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 84 ล้านล้านบาท) ในอีก 10 ปีข้างหน้า แต่ที่สำคัญกว่านั้น มาตรการของทรัมป์ ยังมีการปรับลดลงมากกว่าภาษีที่พรรครีพับลิกัน นำโดย พอล ไรอัน ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ต้องการที่ 20%
นอกจากนั้น นายพอล ไรอัน และผู้นำพรรครีพับลิกันในสภาล่าง จำนวนไม่น้อย ยังต้องการให้ปรับลดภาษีเงินได้ของบริษัทข้ามชาติที่ส่งเม็ดเงินกำไรเข้ามาในสหรัฐฯ ลงสู่ระดับ 8.75% สำหรับเงินสดที่ไม่ได้นำไปลงทุนต่อในสหรัฐฯ และเหลือแค่ 3.5% สำหรับเงินนำเข้าที่นำมาลงทุนต่อในสหรัฐฯ
แรงกดดันให้แผนปฏิรูปภาษีผ่านรัฐสภา จึงเป็นเดิมพันสำคัญที่ต้องผ่านให้ได้ เรื่องนี้ทรัมป์และคณะก็รู้ดี เพราะก่อนหน้านี้ ก็ได้ตัดสินใจระงับนำร่างเดิมกลับเข้าสู่กระบวนการร่างแผนใหม่มาแล้ว หลังจากได้รับบทเรียนสำคัญมาแล้ว 2 ครั้ง
แน่นอน คืนที่ผ่านมา เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของบทเรียนครั้งที่สามเท่านั้น ยังมีอีกหลายยก