โดมิโนหายนะของโตชิบา
ข่าวร้ายยิ่งกว่าแผ่นดินไหวในญี่ปุ่น (ซึ่งเป็นกิจวัตรปกติมายาวนาน) เมื่อวานนี้ เกี่ยวข้องกับหายนะทางการเงินของบริษัทผลิตเครื่องไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ใหญ่ที่เคยเป็นหนึ่งในเสาหลักของเศรษฐกิจยุครุ่งเรืองของญี่ปุ่น โตชิบา (Toshiba Corp.) ที่มีอายุมายาวนานกว่า 140 ปี
พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล
ข่าวร้ายยิ่งกว่าแผ่นดินไหวในญี่ปุ่น (ซึ่งเป็นกิจวัตรปกติมายาวนาน) เมื่อวานนี้ เกี่ยวข้องกับหายนะทางการเงินของบริษัทผลิตเครื่องไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ใหญ่ที่เคยเป็นหนึ่งในเสาหลักของเศรษฐกิจยุครุ่งเรืองของญี่ปุ่น โตชิบา (Toshiba Corp.) ที่มีอายุมายาวนานกว่า 140 ปี
ข่าวร้ายดังกล่าวคือ การที่กลุ่มทุนร่วม ประกอบด้วย ดิเวลล็อปเมนท์ แบงก์ ออฟ เจแปน ของรัฐบาลญี่ปุ่น, บริษัท อินโนเวชั่น เน็ตเวิร์ก คอร์ป ของญี่ปุ่น และ โคห์ลเบิร์ก คราวิส โรเบิร์ต (KKR) ของสหรัฐฯ (ภายใต้การหนุนหลังของรัฐบาลญี่ปุ่น) ได้จับมือกันเพื่อซื้อธุรกิจชิป ของโตชิบา ด้วยวงเงิน 1.8 ล้านล้านเยน (1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในการยื่นเสนอราคารอบ 2 ในเดือนพฤษภาคมนี้ หลังจากที่รอบแรกไม่บังเกิดผล เพราะข้อเสนอซื้อของบริษัท หงไห่ พรีซิชั่น อินดัสทรี จากไต้หวัน (ในนามของบริษัทย่อยชื่อ Foxconn ซึ่งฮุบกิจการของชาร์ป คอร์ปในปีที่แล้ว) ได้ยื่นขอเสนอซื้อเฉพาะธุรกิจชิปของโตชิบาเป็นเงินสูงเกือบ 3 ล้านล้านเยน ถูกปฏิเสธเพราะประเด็น “เสียหน้า”
ความเคลื่อนไหวดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากที่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา เมื่อโตชิบา ประกาศงบการเงินงวด 9 เดือนธันวาคม 2559) ซึ่งล่าช้านานกว่า 2 เดือน มีตัวเลขขาดทุนสุทธิ 552.41 พันล้านเยน หรือ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ตัวเลขในงบการเงินดังกล่าว ไม่ได้รับการรับรองจากผู้สอบบัญชีของสำนักงานบัญชีชื่อดัง PWC
ฐานะการเงินที่เลวร้ายดังกล่าว ทำให้ตลาดหลักทรัพย์โตเกียวและนาโกย่า ประกาศแขวนหุ้นในเครือโตชิบาทั้งหมด ห้ามการซื้อขายไม่มีกำหนด นับแต่นั้นมา และกำลังพิจารณาว่า หากฐานะการเงินยังไม่ได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้นใน 6 เดือนข้างหน้า อาจจะถูกเพิกถอนจากตลาดได้
ไม่เพียงเท่านั้น ยังถูกบริษัทเรตติ้งอย่าง S&P ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือหลายระดับ ตั้งแต่หุ้นกู้ระยะยาวลงจาก ‘CCC+’ เป็น ‘CCC-‘ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดที่น่าลงทุน ก่อนจะถึงระดับ “ขยะ” ตามด้วยลดอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิ์ลงจาก ‘B-‘ เป็น ‘CCC-‘ แม้ยังคงเครดิตตราสารหนี้ระยะสั้นที่ ‘C’ เท่าเดิมต่อไป โดยมีมุมมองเชิงลบว่า โตชิบาจะประสบความยากลำบากในการปรับโครงสร้างและกระบวนการตรวจสอบทางการเงินภายใน หลังจากที่ขาดทุนอย่างหนักจากการที่บริษัทลูกในสหรัฐฯอย่าง เวสติงเฮาส์ อีเล็คทริค ซึ่งเป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่ซื้อมาหลายปีก่อน มีตัวเลขขาดทุนกว่า 1 ล้านล้านเยน จนถึงขั้นต้องเข้าสู่กระบวนการศาลล้มละลายในสหรัฐฯมาแล้ว จนอาจจะเกิดปัญหา “เบี้ยวชำระหนี้บางส่วน” หรือ “SD” (selective default)
สถานการณ์ของโตชิบา ไม่ได้เกิดขึ้นโดยลำพัง แต่เป็น “กระแส” ที่มีคนเรียกว่า “หายนะแบบโดมิโน” จากปรากฏการณ์ที่บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าใหญ่ๆ เก่าแก่ของญี่ปุ่น ขาดทุนหลายมหาศาลต่อเนื่องกันเป็นหางว่าว เริ่มตั้งแต่พานาโซนิค และ โซนี่ ไปจนถึงปล่อยให้กลุ่มทุนไต้หวันเข้าซื้อกิจการ ชาร์ป อีเล็กทริก ซึ่งทำให้ความเชื่อมั่นในอนาคตของคนญี่ปุ่นเสมือนแขวนบนเส้นด้าย เพราะบริษัทที่เป็นเสาหลักของเศรษฐกิจเหล่านี้เกิดซวนเซพร้อมกัน
ในกรณีของโตชิบา มีการวิเคราะห์เอาไว้มากมายพอสมควรว่า รากฐานของความเสื่อมถอยที่ยากจะฟื้นคืนได้ว่าเกิดจากยุทธศาสตร์ธุรกิจล่วงหน้าที่ผิดพลาด และการพลิกผันของสถานการณ์ที่เกินคาดผสมกัน
หลายปีมานี้ ธุรกิจผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าย่างเข้าสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นที่เคยครองตลาดมายาวนานจากการเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี ย่างเข้าสู่ยุค “อิ่มตัว” และ “เฉื่อยชาเชิงกลยุทธ์” เกินกว่าจะลงมาแข่งขันในสงครามราคา และนวัตกรรมไอซีที
ทางเลือกของผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้คือ การเคลื่อนตัวจาก “ทะเลแดง” เข้าสู่ “ทะเลสีคราม” ด้วยการเข้าสู่ทางออกใหม่ ของการผลิตสินค้าอินฟราสตรัคเจอร์ขนาดใหญ่ (เช่น ระบบควบคุมรางรถไฟ แบตเตอรี่รถยนต์ รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ การผลิตพลังงานทางเลือก) ที่กำลังเป็นที่ต้องการสูงของบรรดาประเทศรายได้ปานกลางทั่วโลก
ก้าวย่างดังกล่าว ซึ่งหมายถึงการเข้าสู่ธุรกิจที่มีนวัตกรรมสูงและใช้เงินทุนเข้มข้น (capital intensive) กลายเป็นการทำ “ฮาราคีรี” โดยไม่รู้ตัว โตชิบาเป็นหนึ่งในกระบวนการที่ “หลงทาง” นี้ด้วย
หลายปีก่อนโตชิบา ตัดสินใจทยอย “ทุบหม้อข้าวตัวเอง” ด้วยการปิดโรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศ ลดไลน์การผลิตพีซีและมือถือ นำมาซึ่งการเสียส่วนแบ่งตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้า แล้วเกี่ยวก้อยกับโซนี่นำเงินลงทุนไปซื้อกิจการเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของบริษัทอเมริกาอย่างเวสติ้งเฮ้าส์ ซึ่งผลตอบแทนการลงทุนต่ำกว่าคาดเพราะเทคโนโลยีพลังงานนิวเคลียร์นั้นขายฝืดกว่าที่คิด โดยเฉพาะหลังจากเกิดเหตุการณ์พลิกผันที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิม่าในปี ค.ศ.2011
ยุทธศาสตร์การถอนตัวออกจากตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าของโตชิบา อาจจะไม่ใช่เรื่องผิดพลาด แต่ขาดมุมมองที่ชัดเจนว่า การรักษาตลาดเอเชียนั้น มีความสำคัญไม่แพ้ตลาดญี่ปุ่นในอดีต การเติบโตของชนชั้นกลางในเอเชีย ทำให้เอเชียเป็นมากกว่า “แหล่งผลิต” เพื่อป้อนตลาดโลกเท่านั้น การเพิกเฉยเพราะไม่อยากปรับการแข่งขันในตลาดขาขึ้นของเอเชีย ทำให้ชื่อแบรนด์โตชิบาหายไปรุนแรง เพราะถูกแทนที่ด้วย ซัมซุง / แอลจีของเกาหลีใต้ หรือไฮเออร์ของจีน
การยึดติดกับแผนเดินหน้าหวังจะเป็นเจ้าการผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ทำให้โตชิบาขาดทุนยับหลายปีติดต่อกัน ซึ่งแทนที่จะแก้ไขด้วยการปรับโครงสร้าง ลดขนาด เปลี่ยนยุทธศาสตร์ และยอมรับความล้มเหลว ผู้บริหารทุกระดับต่างพากันพร้อมใจกันทำวิศวกรรมทางบัญชี “อย่างเป็นระบบ” ตกแต่งปรับลดตัวเลขการขาดทุน และเพิ่มตัวเลขล่องหนเข้าไปในบัญชีมากกว่าห้าแสนล้านเยน เพื่อรายงานผลกำไรสูงเกินจริง เฉลี่ยแล้วปีละ 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มานาน 7 ปี (ระหว่างเดือนเมษายน 2008 ถึงเดือนมีนาคม 2014) จนกระทั่งถูกตรวจสอบพบในต้นปี ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558) ซึ่งเกิดขึ้นไล่เลี่ยกันกรณี “โอลิมปัส” บริษัทผลิตกล้องถ่ายภาพและเครื่องมือแพทย์ ปกปิดยอดขาดทุนถึง 1,700 ล้านดอลลาร์ เมื่อปลายปี ค.ศ.2011
การกระทำที่กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเรียกว่า “การทรยศต่อผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสีย” นอกจากจะถูก ก.ล.ต.ยี่ปุ่น ประกาศปรับเงินมากถึง 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว ยังทำให้ผู้บริการ กรรมการบริหาร และกรรมการบริษัทต้องลาออกยกชุดกันไปเลย
โตชิบา มาถึงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ที่ทำให้คนญี่ปุ่นอาจจะต้องเริ่มตั้งคำถาม เหมือนคนไทยบางกลุ่มว่า “เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?”