ECL พอร์ตสินเชื่อโตสดใส

ECL


คุณค่าบริษัท

ในธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์มีผู้ประกอบการหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มธนาคาร บริษัทเครือของผู้ผลิตรถยนต์ บริษัทเช่าซื้อ และลีสซิ่ง และผู้ประกอบการเต็นท์รถ ซึ่งต่างมีกลยุทธ์ในการแข่งขัน

เช่นเดียวกับ บริษัท ตะวันออกพาณิชย์ลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ ECL ที่มีกลยุทธ์การแข่งขันใช้หลักของตัวเอง โดยบริษัทไม่มีนโยบายการแข่งขันด้านราคา หรือลดอัตราดอกเบี้ยแต่จะให้กลยุทธ์การแข่งขันในด้านอื่นๆ เพื่อขยายพอร์ต และเพิ่มจำนวนลูกค้าจากภาวะตลาดสินเชื่อรถยนต์มือสองยังไม่ถึงจุดอิ่มตัว ผู้ซื้อยังคงมีกำลังซื้ออย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทมีกลยุทธ์ในการแข่งขันดังนี้

  • สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้จำหน่ายรถยนต์หรือเต็มท์รถยนต์มือสอง
  • มุ่งเน้นบริการที่รวดเร็วและรัดกุม
  • อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้จำหน่ายรถยนต์และลูกค้า
  • สร้างความพึงพอใจต่อลูกค้า
  • สร้างชื่อเสียงและความมั่นคงในการดำเนินธุรกิจ
  • ให้ความสำคัญกับระบบข่าวสารข้อมูลที่เชื่อถือได้และทันต่อเหตุการณ์

กลยุทธ์ดังกล่าวยังเป็นเสน่ห์ของบริษัท ซึ่งสามารถสร้างจุดแข็งให้กับบริษัทดำเนินธุรกิจสู้กับคู่แข่งได้ถึงปัจจุบันนี้ และสามารถสร้างผลงานได้อย่างสม่ำเสมอ โดยดูได้จากผลการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2556-2559 สำหรับปี 2556 มีกำไรสุทธิ 45.85 ล้านบาท ต่อมาในปี 2557 มีกำไรสุทธิ 54.79 ล้านบาท ส่วนในปี 2558 มีกำไรสุทธิ 49.77 ล้านบาท และในปี 2559 มีกำไรสุทธิ 25.03 ล้านบาท

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์มองแนวโน้มพอร์ตสินเชื่อช่วง 3 เดือนแรกของบริษัท เติบโตได้ตามเป้า 220 ล้านบาทต่อเดือน หรือราว 660 ล้านบาท คิดเป็นการเติบโตถึง 27% จากไตรมาสก่อน เทียบกับสิ้นงวดไตรมาส 4 ปี 59 ที่ 2,432 ล้านบาท เติบโตตามตลาดสินเชื่อรถมือสองและ BigBike ที่ขยายตัวได้ดี ผสานกับองค์ความรู้จาก PFS ช่วยปรับปรุงกระบวนการปล่อยสินเชื่อให้ดีขึ้น หนุนรายได้จากดอกเบี้ยมาอยู่ที่ 75 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น  39% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และรายได้จากค่าธรรมเนียมที่ 32 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 384% จากงวดเดียวกันของปีก่อน

ขณะระดับ NPL ทรงตัวที่ราว 4% นั้นยังไม่น่ากังวลคาดมีกำไรสุทธิงวดไตรมาส 1 ปี 60 ที่ 23 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 46% จากงวดเดียวกันของปีก่อน การเติบโตข้างต้นเป็นสัญญาณที่ดีเพื่อบรรลุเป้าสินเชื่อปี 60 ที่บริษัทตั้งไว้ไม่น้อยกว่า 4,000 ล้านบาท และเพิ่มขึ้น 64% จากงวดเดียวกันของปีก่อน

ส่วนธุรกิจศูนย์ซ่อมครบวงจรปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างสาขาแรก คาดเริ่มเปิดบริการได้ในไตรมาส 3 ปี 60 และขยายให้ครบ 4 แห่งได้ในปีนี้ มองอนาคตสดใสพร้อมทำกำไรได้ภายในปี 61

ขณะที่นักวิเคราะห์ บล.ฟิลลิป คงแนะนำ “ซื้อ”  ราคาเป้าหมาย 3 บาท จากมุมมองบวกต่อการเติบโตของธุรกิจสินเชื่อเดิมที่พากำไรโตก้าวกระโดดในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า ขณะที่ภาพระยะยาวของบริษัทจะเริ่มเปลี่ยนไปหลังจากนี้ตามจำนวนศูนย์ซ่อมฯที่เพิ่มขึ้น ก่อนที่จะเริ่มธุรกิจรับประกันชิ้นส่วนรถยนต์มือสองในปีหน้าซึ่งจะเป็น Upside ในอนาคต

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่

  1. Premium Financial Services Co.,Ltd. 203,582,000 หุ้น 25.50%
  2. นายปรีชา วีระพงษ์ 137,040,800 หุ้น 17.17%
  3. น.ส.บังอรสิริ วีระพงษ์   29,450,000 หุ้น 3.69%
  4. บริษัท ประสาทพร จูเนียร์ จำกัด 28,300,000 หุ้น 3.54%
  5. นางสุมาลี วีระพงษ์ 25,400,075 หุ้น 3.18%

รายชื่อกรรมการ

  1. นายปรีชา วีระพงษ์ ประธานกรรมการบริษัท
  2. นายดนุชา วีระพงษ์ ประธานกรรมการบริหาร
  3. นายดนุชา วีระพงษ์ รองประธานกรรมการ
  4. นายประภากร วีระพงษ์ กรรมการผู้จัดการ
  5. นายประภากร วีระพงษ์ กรรมการ

Back to top button