พาราสาวะถี
ขึ้นชื่อว่า “เผด็จการ” ไม่ว่าจะแปลงโฉมผูกไทใส่สูทอย่างไร ก็ย่อมเป็นเผด็จการอยู่วันยังค่ำ ความจริงเรื่องกฎหมายตีทะเบียนสื่อหรือที่บางสำนักเรียกว่ากฎหมายอัปยศนั้น เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของความพยายามจะจัดการทุกอย่างให้อยู่ภายใต้อุ้งเท้าเผด็จการ โดยอ้างเรื่องของการปฏิรูปประเทศ เพราะหากมองย้อนกลับไปตั้งแต่รัฐธรรมนูญที่ผ่านการร่างและทำประชามติก็เห็นความเป็นเผด็จการซ่อนอยู่อยู่แล้ว
อรชุน
ขึ้นชื่อว่า “เผด็จการ” ไม่ว่าจะแปลงโฉมผูกไทใส่สูทอย่างไร ก็ย่อมเป็นเผด็จการอยู่วันยังค่ำ ความจริงเรื่องกฎหมายตีทะเบียนสื่อหรือที่บางสำนักเรียกว่ากฎหมายอัปยศนั้น เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของความพยายามจะจัดการทุกอย่างให้อยู่ภายใต้อุ้งเท้าเผด็จการ โดยอ้างเรื่องของการปฏิรูปประเทศ เพราะหากมองย้อนกลับไปตั้งแต่รัฐธรรมนูญที่ผ่านการร่างและทำประชามติก็เห็นความเป็นเผด็จการซ่อนอยู่อยู่แล้ว
ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาทั้งการมีส.ว.ลากตั้งโดยคณะรัฐประหาร 250 คน และการเปิดช่องให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอกได้ โดยการใช้ความแยบยลในด้านกฎหมายของเนติบริกรชั้นครู เมื่อเข้าสู่กระบวนการทำประชามติก็ปิดปากประชาชนไม่ให้แสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง จนถูกต่างชาติวิจารณ์ต่างๆ นานา เพียงแต่ว่า นาทีนั้นสื่อส่วนใหญ่ไม่ได้อินังขังขอบต่อความเป็นเผด็จการดังว่า
เพราะถ้าให้ความสนใจใส่ใจ บรรดานักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องและวิจารณ์เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกจับกุมดำเนินคดีคงไม่ต้องต่อสู้กันแบบเดียวดาย เช่นเดียวกันกับการเปิดศูนย์ปราบโกงของกลุ่มนปช.ก็ถูกเล่นงานกันอย่างหนัก แต่สื่อทั้งหลายก็วางเฉยและเห็นว่าธุระมิใช่ มิหนำซ้ำ บางสำนักที่เป็นสื่อเสี้ยม ยังโหมกระพือโจมตีกลุ่มคนเสื้อแดงอย่างหนัก
จนกระทั่งมาถึงผลกระทบที่รุกคืบเข้าสู่การประกอบวิชาชีพของตัวเอง จึงได้เห็นความอำมหิตของเผด็จการ พากันลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวต่อต้าน แต่ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นการเดินอย่างโดดเดี่ยว จำกัดวงเฉพาะองค์กรวิชาชีพ โดยปราศจากแรงหนุนจากภาคประชาชน ตรงนี้ต่างหากที่เป็นเรื่องต้องช่วยกันคิด ทำไมผู้คนถึงไม่อินังขังขอบต่อการถูกรุกรานด้านสิทธิ เสรีภาพของสื่อมวลชน
การทำหน้าที่ตลอดระยะเวลาความขัดแย้งกว่า 10 ปีที่ผ่านมาน่าจะเป็นเครื่องหมายของความเบื่อหน่ายจากภาคประชาชน ที่เห็นว่าในยามหน้าสิ่วหน้าขวานและคนทั้งประเทศต้องการผู้นำในการจะขจัดปัญหาความแตกแยก แต่กลับกลายเป็นว่าฐานันดรที่สี่ แทบจะทุกสำนักต่างเลือกข้างกระโจนเข้าสู่สนามแห่งความขัดแย้งเสียเอง
ภาพที่ปรากฏบนหน้าจอโทรทัศน์ ตัวอักษรทุกถ้อยคำที่ปรากฏบนสื่อสิ่งพิมพ์ ไม่ต้องนับรวมสื่อวิทยุที่ถูกควบคุมโดยระบบสัมปทานทั้งจากกองทัพและส่วนราชการซึ่งหลีกหนีการถูกชี้นิ้วสั่งการไม่ให้พูดนอกกรอบหรือแสดงความเป็นกลางไปโดยปริยาย ภาพของสื่อในห้วงเวลาความขัดแย้งนี่ต่างหาก ที่น่าจะเป็นผลทำให้ภาคประชาชนต่างเมินเฉยต่อความเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเสรีภาพที่กำลังดำเนินอยู่ในเวลานี้
แต่ก็นั่นแหละ ในฐานะสื่อด้วยกันคงจะไม่ใช้ตรรกะวิบัติหรืออคติส่วนตัวใดๆ มาตัดสิน พฤติกรรมของการกระทำของสื่อชั่วสื่อเลวหรือสื่อที่ไม่ยึดถือจรรยาบรรณเพียงบางพวกบางกลุ่ม หากคิดเช่นนั้น ก็คงไม่ต่างจากสมาชิกสปท.บางรายที่อภิปรายในสภา ด้วยท่วงทำนองที่หว่านแหกล่าวหาว่าสื่อทั้งมวลเป็นพวกสามานย์
อันเป็นภาพสะท้อนของความไม่ปกติในจิตใจ เพราะหากใช้ตรรกะที่กล่าวหาว่าสื่อเป็นพวกที่ใช้ไม่ได้ทั้งหมด ก็ย่อมจะมีคำถามย้อนกลับไปยังกองทัพถ้ากล่าวหาว่าทหารชั่วและเลวเหมือนกันทั้งหมด มันถูกต้องหรือไม่ ฉันใดก็ฉันนั้น ทุกวงการ ทุกอาชีพย่อมมีทั้งคนดีคนเลวปะปน จะใช้การเหมาเข่งตีขลุมไม่ได้
ในเมื่อสปท.เห็นว่าสื่อจะต้องปฏิรูป เนื่องจากถูกทาทาบด้วยภาพสีดำจากผู้มีอำนาจ ปุจฉาที่ตามมาอีกประการ แล้วหนึ่งองค์กรสำคัญที่ถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งอย่างกองทัพ ไม่เคยคิดที่จะปฏิรูปกันบ้างเลยหรือ อย่ามาอ้างว่ามีการปฏิรูปกันมาโดยตลอด เพราะหากผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงแล้ว กองทัพจะต้องนำทหารไปเป็นทหารอาชีพและไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีกแม้แต่นิดเดียว
การรัฐประหาร 2 หนภายใน 8 ปีเป็นบทพิสูจน์อย่างดีว่ากองทัพผ่านการปฏิรูปมาแล้วหรือยัง ในเมื่อยังไร้การปฏิรูป แล้วทำไมไม่คิดที่จะเปลี่ยนแปลงหรือทำให้องค์กรอื่นเห็นเป็นตัวอย่างก่อนหรือ ยิ่งพูดกันว่าตัวเองดี ตัวเองบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่คอร์รัปชั่นโกงกิน ยิ่งทำให้คนหวนคิดไปถึงทฤษฎีตรงข้ามที่ท่านผู้นำหลายรายเคยบอกว่าไม่รัฐประหาร แต่สุดท้ายก็จบลงที่การยึดอำนาจจากรัฐบาลเลือกตั้งทุกครั้ง
ความสะใจหรือการแสดงถึงการบ่มิไก๊ไร้กึ๋นของสมาชิกสปท.ต่อกระบวนการพิจารณาต้องเอาให้ได้เรื่องกฎหมายควบคุมสื่อ สะท้อนผ่านการอภิปรายของ “บิ๊กเยิ้ม” พลเอกธวัชชัย สมุทรสาคร กับคำพูดที่ว่า
“สื่อที่เผยแพร่ก็น่าเอาไปยิงเป้าให้หมด” นี่เป็นตัวบ่งบอกความรู้สึกของคนที่มีอำนาจจากการแต่งตั้งของคณะเผด็จการได้เป็นอย่างดีว่า ใช้ความคิดด้วยเหตุด้วยผลหรืออคติล้วนๆ
ไม่เพียงเท่านั้น การเปรียบเทียบเรื่องกฎหมายควบคุมสื่อ หากเป็นวิชาที่ว่าด้วยหลักการประชาธิปไตยด้วยแล้ว ถือว่าสอบตกชนิดเลวร้ายที่สุด เพราะดันไปยกเอาการวางกติกาควบคุมสื่อของจีนมาเป็นตัวอย่าง สงสัยท่านคงลืมไปว่านั่นมันประเทศเผด็จการคอมมิวนิสต์ ไม่ใช่ประชาธิปไตย หรือว่ามันติดลมมาจากข่าวการซื้อเรือดำน้ำเลยอดยกเอาทุกอย่างของจีนเป็นสิ่งดีเลิศประเสริฐศรีไปเสียหมด
เห็นด้วยกับ สาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่บอกว่า การพูดของบุคคลนี้ บ่งบอกถึงความคิดที่เป็นปัญหา อุปสรรค การบริหารบ้านเมืองอย่างไม่มีความเข้าใจ มักจะใช้ความคิดตัวเองเป็นใหญ่ บังเอิญพื้นฐานของตัวเขาเอง เกิดมาจากวิชาชีพทหาร ซึ่งสอนให้มีระเบียบวินัย จัดการปัญหาเด็ดขาด แต่ไม่ได้สอนศิลปะการฟังความรอบด้านและการเข้าใจถึงจิตใจบุคคลอื่นที่อยู่ร่วมกันในสังคมใหญ่
ทหารที่ดี เสียสละเพื่อบ้านเมืองมีเยอะ แต่ความคิดแนวของบิ๊กเยิ้มเป็นปัญหา เห็นวิธีคิดแล้วก็บอกถึงอุปนิสัยว่าถ้ามีใครคิดต่าง ก็จะรำคาญมองเป็นศัตรูถึงขั้นจะฆ่ากันตายได้ แนวคิดเช่นนี้ เป็นได้เพียงกำลังคนที่ไปรบในภาคสนามเท่านั้น แต่ไม่เหมาะที่จะเป็นผู้นำเพื่อคิดในเชิงนโยบายบริหารบ้านเมือง ยิ่งการอ้างเป็นเตรียมทหารรุ่น 12 รุ่นเดียวกับท่านผู้นำยิ่งน่าคิด
เป็นหลักคิดที่ตกยุค สร้างปัญหาให้ประเทศ ถือเป็นรัฐนิยมเพื่อนพ้องน้องพี่พรรคพวกทำอะไรก็ถูกหมด แต่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเหตุผลและตรรกะข้อมูลในการแก้ไขปัญหา คนแบบนี้ท่านผู้นำต้องพิจารณาว่าควรจะใช้ไปอยู่ในหน้าที่ตรงไหน ถ้าจะให้ดีต้องให้ไปรบที่ภาคใต้หรือให้ไปรบที่สงครามเกาหลีเหนือ ซึ่งควรจะไปอยู่ประเทศดังว่านี่มากกว่า ความคิดและวิธีการแบบท่านรับรองได้รับการสนับสนุนล้านเปอร์เซ็นต์ เพราะที่นั่นไม่มีคำว่าสื่อมวลชน ไร้คำว่าสิทธิและเสรีภาพอย่างที่พวกท่านอยากจะให้เป็น