งานเลี้ยงโต๊ะจีนใหม่
เรื่องของเศรษฐกิจจีนมีความหมายโดยตรงและโดยนัยเสมอต่อชาวโลกในฐานะที่เป็นชาตินำเข้าและส่งออกสินค้าอันดับหัวแถวของโลก รวมทั้งเป็นตัวการสร้างโมเมนตัมต่อการเคลื่อนย้ายทุนระดับหัวแถวด้วย
พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล
เรื่องของเศรษฐกิจจีนมีความหมายโดยตรงและโดยนัยเสมอต่อชาวโลกในฐานะที่เป็นชาตินำเข้าและส่งออกสินค้าอันดับหัวแถวของโลก รวมทั้งเป็นตัวการสร้างโมเมนตัมต่อการเคลื่อนย้ายทุนระดับหัวแถวด้วย
ข้อถกเถียงยามนี้ของเศรษฐกิจจีนที่ว่า ฟื้นตัวหรือยังได้ยุติไปแล้วว่า ฟื้นตัวแน่นอนจากการปรับดุลยภาพภายในโครงสร้างที่สำเร็จดีเกินคาด แต่ก็ยังต้องนั่งถกในประเด็นใหม่คือ ฟื้นตัวมากน้อยเท่าใด ถึงจะเรียกได้ว่า มีผล หรือ โมเมนตัมเชิงบวกต่อเศรษฐกิจขาขึ้นครั้งใหม่ของโลก
ในช่วงเวลาที่ภาวะเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจโลกเป็นจังหวะขาขึ้น ทุกคนที่เกี่ยวข้องจะออกมาป่าวร้องเสมือนหนึ่งโลกกำลังมีงานเลี้ยงใหญ่ ที่ทุกคนอยากโอ่อวดความสำเร็จของตนว่าด้วย “สูตรแห่งชัยชนะ” สำหรับอนาคต
3 ปีที่ผ่านมา แม้มีข้อมูลที่บ่งชี้ว่า การชะลอตัวของการเติบโตเศรษฐกิจจีน ไม่ใช่การฮาร์ดแลนดิ้งหรือเศรษฐกิจพังทลายแน่นอน เพราะอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน ยังคงเหนือกว่าชาติอื่นๆ อย่างมาก เพียงแต่เป็นช่วงเวลา “เปลี่ยนผ่าน” ที่จีนจะต้องถ่วงดุลอย่างรอบคอบในแต่ละก้าวย่าง เพื่อทำให้อัตราการเติบโตยังคงอยู่ในระดับเดิมต่อเนื่อง และปรับโครงสร้างจากเศรษฐกิจที่พึ่งพาการผลิตและการลงทุน ไปสู่การบริโภคและบริการมากยิ่งขึ้น
เมื่อวานนี้ ตัวเลขที่ตอกย้ำว่า จีนกลับมาสู่เส้นทางสุขภาพแข็งแรงทางเศรษฐกิจยังเกิดขึ้นต่อ เมื่อข้อมูลทางการของการค้า บ่งชี้ว่า ยอดการส่งออกปรับตัวขึ้น 14.3% เทียบรายปี สู่ระดับ 1.798 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ชะลอตัวลงจากเดือนมีนาคม ที่มีการขยายตัว 22.3% ขณะที่ยอดนำเข้าเพิ่มขึ้น 18.6% ชะลอตัวลงจากเดือนมีนาคมที่มีการขยายตัวแข็งแกร่งถึง 26.3% ทำให้มูลค่าการค้าต่างประเทศของจีนในเดือนเมษายน เพิ่มขึ้น 16.2% และยอดเกินดุลการค้าอยู่ที่ระดับ 3.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 0.6%
ตัวเลขยอดการนำเข้าที่ขยายตัวลดลงกว่าการส่งออก อาจจะมีมุมมองผิวเผินว่า เศรษฐกิจภายในเติบโตช้าลง ซึ่งไม่จริงเพราะข้อมูลต่อมาระบุว่า ยอดนำเข้าลดลงมาจากการนำเข้าน้ำมันดิบของจีนลด เพราะโรงกลั่นในประเทศจีนอยู่ในช่วงของการปิดซ่อมบำรุงตามฤดูกาล ส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันดิบ และจากต้นปีมา จีนได้นำเข้าน้ำมันดิบไปแล้ว 139.12 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 12.5% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของจีนยุค “หลังปรับดุลยภาพใหม่” ถือว่ายังมีจุดเปราะบางหลายจุดมาก เพราะการพยายามจีนในการทำให้มีสภาพเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งท่ามกลางปัญหาที่เรียกกันว่า “ไตรภาคีของความเป็นไปไม่ได้” ยังคงรบกวนชาติคู่ค้าของจีนที่เป็นทั้งชาติผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์หรือสินค้ากึ่งอุตสาหกรรม ซึ่งตกเป็น “ตัวประกันสมยอม” ต้องรับผลกระทบที่รุนแรงถ้วนหน้าหลายด้าน
ความสำเร็จที่ชัดเจนซึ่งปรากฏผลแล้วตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาคือ การที่รายได้จากภาคบริการของจีนได้แซงหน้าขึ้นมีสัดส่วนเกิน 50% ของจีดีพีโดยรวมไปแล้ว แต่นั่นก็ไม่ได้เกิดขึ้นฟรีโดยไร้ต้นทุน โดยเฉพาะ 2 จุดสำคัญหลัก คือ 1) การไหลออกของทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศอย่างรุนแรงเป็นครั้งคราว 2) ปัญหาแคร์รี่เทรดย้อนศรขององค์กรธุรกิจและรัฐวิสาหกิจจีน หรือการที่ต่างชาตินำทุนไหลออก
ไตรภาคีที่เป็นไปไม่ได้ของเศรษฐกิจจีนร่วมสมัย ได้แก่ 1.) รักษาการเติบโตของ GDP เหนือกว่าปีละ 7.0% 2.) การสร้างงานแบบกระจายความมั่งคั่ง และ 3.) เสถียรภาพของระบบการเงิน
ในอดีตยุค 30 ปีที่ผ่านมา นับแต่ เติ้ง เสี่ยว ผิง ใช้ยุทธศาสตร์ “แมวสีอะไร ขอให้จับหนูได้” เป็นต้นมา จีนสร้างตัวเลขาการเติบโตปีละกว่า 10% โดยให้ใช้การลงทุนโดยรัฐบาลเป็นตัวนำทั้งในภาคอุตสาหกรรมหนัก และสาธารณูปโภค แม้มีข้อดีทำให้จีนโดยรวมร่ำรวยขึ้นรวดเร็ว เป็นรากฐานทางกายภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจขั้นต่อไป แต่ข้อเสียคือ ไม่สามารถสร้างงานได้อย่างทั่วถึง และมีการผลิตเกินตัวในหลายภาค เป็นปัญหาหนี้เน่า ส่งผลต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน
การเปลี่ยนเป้าหมายมาเน้นปรับโครงสร้างเศรษฐกิจโดยเน้นภาคบริการให้มากขึ้น ให้มากกว่า 50% ของ GDP ก็มีข้อเสียตามมา ทำให้อัตราการเติบโตของ GDP ลดต่ำลง เพราะภาคบริการไม่ได้มีลักษณะที่จะสามารถยกระดับเทคโนโลยีได้เรื่อยๆ แบบภาคอุตสาหกรรม เพราะมีผลตอบแทนและผลผลิตทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างต่ำ
ที่สำคัญ ภาคบริการอาจทำให้การเติบโตของสินเชื่อในระบบการเงินลดลง
เพราะในการขอสินเชื่อของธุรกิจในภาคบริการ ไม่มีหลักประกันที่ชัดเจนเหมือนในภาคอุตสาหกรรม เช่น บริษัท E-Commerce หรือธุรกิจที่มีสินทรัพย์จับต้องไม่ได้เช่นทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งตีมูลค่ายากลำบาก ย่อมเพิ่มความเสี่ยงของธนาคารในการปล่อยกู้สูงกว่าอดีต
สำหรับเสถียรภาพของระบบการเงินจีน ถือเป็นตัวแปรที่น่าเป็นห่วงไม่น้อย เพราะปัจจุบันสัดส่วนหนี้ครัวเรือนและธุรกิจต่อ GDP ของจีนแตะระดับ 260% แล้ว การใช้นโยบายควบคุมสินเชื่อตามกฎสากล คือ Basel 2-3 มีโอกาสที่ทำให้ธุรกิจบางภาคล่มสลายยกแผง เพราะปริมาณเงินอัดฉีดเงินลงทุนลดลง ทำให้อัตรา GDP ต่ำลง ราคาสินทรัพย์ที่เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันของลูกหนี้ราคาตก ผลที่สุดคือ ธุรกิจล้ม คนเริ่มตกงาน
ความพยายามรักษาสมดุลระหว่าง ไตรภาคีที่เป็นไปไม่ได้ โดยกำหนดแผนตั้งเป้ารักษาการเติบโตของ GDP เฉลี่ยขั้นต่ำ 6.5% นาน 30 ปี ด้วยเครื่องมือหลักคือ การลงทุนโดยรัฐบาล และพัฒนาผู้ประกอบการเอกชนให้พัฒนาสินค้าที่ตรงกับตลาด พร้อมกับรีดไขมันส่วนเกิน (การผลิตส่วนเกินและสินค้าตกค้างจาก “รัฐวิสาหกิจซอมบี้”) ให้เหลือน้อยสุด ควบคู่กับการประคับประคองปัญหาหนี้เน่า และกำกับดูแลการก่อหนี้ใหม่ให้มีประสิทธิภาพสูง ไม่ง่ายเลยที่จะบรรลุเป้าหมาย
นั่นหมายความว่า งานเลี้ยงโต๊ะจีนครบชุดครั้งใหม่ อาจจะไม่เกิดขึ้นเหมือนเดิมอีกต่อไป