อนาคตที่ไร้อนาคต

แล้วในที่สุด ความฝันของนักการตลาดทางการเมืองที่ชื่อ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ก็ดูเหมือนจะเกิดอาการ "คว้าลม" ไปอีกเรื่องหนึ่ง นั่นคือการตั้ง กองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย หรือ ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ ที่พยายามดันทุรังทำมาสองปีกว่า


พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

แล้วในที่สุด ความฝันของนักการตลาดทางการเมืองที่ชื่อ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ก็ดูเหมือนจะเกิดอาการ “คว้าลม” ไปอีกเรื่องหนึ่ง นั่นคือการตั้ง กองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย หรือ ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ ที่พยายามดันทุรังทำมาสองปีกว่า

การถอยทางยุทธศาสตร์หมดสภาพ ภายใต้ข้ออ้างเชิงนิตินัยว่า “ติดโรคเลื่อน” อำพรางข้อเท็จจริงทางพฤตินัยที่ว่า “ไปต่อไม่เป็น” ชัดเจนยิ่ง

เหตุผลง่ายๆ เพราะโครงการดังกล่าวมันผิดธรรมชาติของการระดมทุนมาตั้งแต่เริ่มต้น

หากย้อนรอยกลับไปดูเอกสารของทางราชการที่เกี่ยวข้อง ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ มีต้นแบบที่ดัดแปลงมาจากกองทุนวายุภักษ์ของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร แต่เอามาสร้างขึ้นใหม่ภายใต้โครงร่างของกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน

โดยเจตนาเริ่มแรก กองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ คือ กองทุนรวมประเภทหนึ่งที่รัฐบาลจะจัดตั้งขึ้นเพื่อระดมเงินทุนจากภาคเอกชนทั้งสถาบันและรายย่อยในช่วงดอกเบี้ยต่ำติดพื้น (ที่แบงก์ชาติเรียกว่าดอกเบี้ยถดถอย หรือ disinflation ที่แตกต่างจากคำว่า deflation ไม่มากนัก) เพื่อใช้เป็นแหล่งเงินทุนในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง เช่น รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน มอเตอร์เวย์ และอื่นๆ

การระดมทุนผ่านไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการระดมทุนของรัฐบาลนอกเหนือจากการกู้ยืมเงิน ที่จะเพิ่มยอดหนี้สาธารณะ

จากการออกแบบเริ่มแรก ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์จะเป็นกองทุนที่ไม่จำกัดอายุ โดยที่ ก.ล.ต. ในยุคของ รพี สุจริตกุล เป็นเลขาธิการ ได้เสริมส่งสร้าง “กติกาพิเศษ” เพื่อช่วยจัดตั้งให้สำเร็จ หวังเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

กระทรวงการคลัง วางแผนว่า ในระยะการจัดตั้งกองทุน จะนำเงินจากกองทุนรวมวายุภักษ์ และเงินลงทุนจากกระทรวงการคลัง จำนวน 1 หมื่นล้านบาทเป็นเงินตั้งต้น สำหรับระยะต่อไปจะขายหน่วยลงทุนให้แก่นักลงทุนทั่วไปมูลค่าการระดมทุนราว 1 แสนล้านบาท และสามารถระดมทุนเพิ่มเติมได้ในอนาคต โดยรัฐบาลจะเร่งดำเนินการจัดตั้งกองทุนให้แล้วเสร็จภายในปี 2559

เหตุผลซ้ำซากหลักที่นำมาอ้างเพื่อขับเคลื่อนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ คือ เพื่อลดภาระทางการคลังของรัฐบาล เพราะการระดมเงินทุนในลักษณะนี้ไม่ถือเป็นการก่อหนี้สาธารณะ รัฐบาลจึงสามารถลงทุนได้ในวงเงินและจำนวนโครงการที่มากกว่าโครงการที่มาจากเงินกู้

ข้ออ้างว่า ถ้ารัฐบาลหาแหล่งเงินทุนโดยการกู้ยืมเงินเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทุกโครงการซึ่งมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 2 ล้านล้านบาท จะส่งผลกระทบให้หนี้สาธารณะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไป สูงกว่าระดับ 50% ของ GDP ไม่ใช่เรื่องใหม่ และไม่ใช่เรื่องสุดท้าย

ส่วนข้ออ้างถัดไปที่พยายามทำให้ “ดูดี” แต่หาคนเชื่อยาก คือ การอ้างว่า “เป็นการสนับสนุนให้ภาคเอกชนรู้จักและหันมาลงทุนในกองทุนโครงสร้างพื้นฐานมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่ปัจจุบันมีสภาพคล่องและปริมาณเงินสดในมือสูง..” และ…”นักลงทุนรายย่อยที่ต้องการกระจายความเสี่ยงการลงทุนในภาวะที่ตลาดการเงินโลกมีความเสี่ยงสูง…”

ข้ออ้างหลังนี้คือการยอมรับโดยดุษณีว่า รัฐบาลต้องการดึงเงินออมส่วนเกินจากภาคเอกชนและบุคคลที่ไม่ยอมลงทุน มาใช้ประโยชน์ โดยไม่หวั่นเสียงครหาว่ากำลัง “แย่งเงินลงทุนจากเอกชน” หรือ crowding-out effect

ตาม “กติกาพิเศษ” ของ ก.ล.ต. นั้น ระบุว่า มีการปรับหลักเกณฑ์ของไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ ที่คาดว่าจะเน้นการลงทุนใน greenfield project เป็นสัดส่วนที่สูงและยังไม่มีการขายหน่วยลงทุนให้แก่สาธารณชนในระยะแรกของการจัดตั้งให้ยืดหยุ่นขึ้น มากกว่ากองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานทั่วไป เพื่อให้ผู้ลงทุนสถาบันเฉพาะกลุ่ม (เช่น กองทุนรวมวายุภักษ์) สามารถเข้าถือหน่วยและจัดตั้งกองทุนได้

กติกาพิเศษดังกล่าว ถือเป็นอภิสิทธิ์ เพราะโดยทั่วไปแล้ว กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานทั่วไปจะเน้นการลงทุนในโครงการที่ก่อสร้างเสร็จ และมีรายรับจากการดำเนินงานแล้ว (brownfield project) มากกว่าโครงการที่ยังสร้างไม่เสร็จ (greenfield project) โดยมีเงื่อนไขบังคับว่า กองทุนใดลงทุนใน greenfield project เกินกว่า 30% ของมูลค่าสินทรัพย์รวมของกองทุนจะต้องเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก (IPO) ให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนรายใหญ่เท่านั้น (เงินลงทุน 10 ล้านบาทขึ้นไป) จำนวนไม่น้อยกว่า 35 ราย

เรื่องก็น่าจะ “เรียบร้อยโรงเรียนสมคิด” เพราะได้ผ่านเป็นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้จัดตั้งไปแล้ว และกระทรวงการคลังได้ขอจัดตั้งกับ ก.ล.ต.ฉลุยเช่นกัน รอแค่ขายให้กับผู้สนใจเท่านั้น ก็เกิดอาการผิดสำแดงขึ้น

เริ่มตั้งแต่ กระทรวงการคลัง เกิดเล็งผลเลิศต้องการให้กองทุนมีเสน่ห์มากขึ้น โดยเสนอเงื่อนไขเรื่องผลตอบแทนที่ดีเลิศชนิดกองทุนวายุภักษ์เดิมได้อายม้วน ด้วยการประกาศจะกำหนดผลตอบแทนให้สูงปีละ 7-8% (เทียบกับการันตี 3% ของกองทุนวายุภักษ์ในอดีต)

แถมนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังบอกอีกว่าจะเปิดขายให้กับนักลงทุนรายย่อยก่อนสำหรับการเสนอขายครั้งแรกในวงเงิน 4-5 หมื่นล้านบาท จากขนาดกองทุน 1 แสนล้านบาทเพื่อเป็นทางเลือกในภาวะดอกเบี้ยต่ำ

พูดกันไปมาจนทำท่ากองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ จะเป็นกองทุนประชานิยมไปทุกขณะ แต่แล้วก็เกิดปรากฏการณ์ “สวรรค์ล่ม” กะทันหัน เมื่อล่าสุดต้นเดือนนี้ นายชาญวิทย์ นาคบุรี รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ออกมาบอกว่า การขายไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ให้กับนักลงทุนทั่วไป จะติด “โรคเลื่อน” ล่าช้ากว่ากำหนดเดิมไปเป็นเดือนกันยายน

เหตุผลเบื้องหลังเพราะ กระทรวงคมนาคมได้สั่งแตะเบรกแรง ไม่ยอมส่งมอบทรัพย์สินขายเข้ากองทุนฯ เพราะเห็นว่า ยังไงๆ ก็คงไม่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีมากถึง 7-8% ต่อปีได้

ไม่ใช่แค่แตะเบรก หากยังได้สั่งการให้ การทางพิเศษฯ (กทพ.) ที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินทบทวนอีกครั้งว่า การออกกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ จะมีต้นทุนสูงกว่าการกู้เงินหรือไม่ ผลคือไม่สามารถเซ็นสัญญาการโอนรายได้ และขอ ครม.เห็นชอบการขายหน่วยลงทุนได้ตามที่กำหนดไว้เดิม

กระทรวงคมนาคม ย้ำชัดว่า ที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าใจผิดกันไปหมดว่า ผลตอบแทนของกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ อยู่ที่ 8% ซึ่งผลตอบแทนที่แท้จริงต้องรอผลสำรวจความต้องการของนักลงทุน

คมนาคม อ้างตัวอย่างว่า การตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เมื่อปีที่ผ่านมา เบื้องต้น คาดว่าจะให้ผลตอบแทนที่ 6% แต่เอาเข้าจริง มีผลตอบแทนอยู่ที่แค่ 5.1% เท่านั้น

ฝันที่วาดเอาไว้สวยหรู ถึงขั้นจ้างที่ปรึกษาการเงิน 3 รายใหญ่ เป็นเงินนับร้อยล้าน เพื่อวางแผนระดมทุน กลายเป็นอากาศธาตุในพริบตา

ไม่ต่างอะไรกับ โครงการในอดีตสร้างบริษัทค้าปลีกออนไลน์ชื่อ ART ของกระทรวงพาณิชย์ในยุค รมว.พาณิชย์ชื่อ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เมื่อเกือบ 15 ปีก่อน ที่คนจำนวนมากลืมไปแล้ว

Back to top button