อนาคตมีแต่ ‘หด’

บรรยง พงษ์พานิช อดีตซูเปอร์บอร์ดรัฐวิสาหกิจ อดีตกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ที่คสช.ตั้ง) เอาเท้าก่ายหน้าผากกับตัวเลขการลงทุนของบีโอไอ ที่แถลงว่าลงทุนสามปีโต 1.7 ล้านล้าน แต่ความเป็นจริงคือลดลงทุกปีทั้งๆ ที่ลดภาษีล่อใจมากที่สุดในอาเซียน


ทายท้าวิชามาร  : ใบตองแห้ง 

บรรยง พงษ์พานิช อดีตซูเปอร์บอร์ดรัฐวิสาหกิจ อดีตกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ที่คสช.ตั้ง) เอาเท้าก่ายหน้าผากกับตัวเลขการลงทุนของบีโอไอ ที่แถลงว่าลงทุนสามปีโต 1.7 ล้านล้าน แต่ความเป็นจริงคือลดลงทุกปีทั้งๆ ที่ลดภาษีล่อใจมากที่สุดในอาเซียน

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ โดย ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ชี้ว่าประเทศไทยให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีกับนักลงทุนต่างชาติสูงสุดในอาเซียน มีอัตราภาษี Effective Rate แค่ 7.6% อินโดนีเซีย 13.9% มาเลเซีย 10.2% ฟิลิปปินส์ 17.9% เวียดนาม 9.9% แต่แชร์ของนักลงทุนที่เข้ามาในไทย ลดลงจาก 50% ในช่วงปี 2001-2005 เหลือไม่ถึง 20% ในปัจจุบัน ขณะที่อินโดนีเซียเพิ่มจาก 12% เป็น 45% แสดงว่าแรงจูงใจทางภาษีไม่ช่วยอะไร กลับทำให้ประเทศเสียรายได้ต่อปีราว 224,000 ล้านบาท ใกล้เคียงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่เก็บจาก “มนุษย์เงินเดือน” ทั่วประเทศ

ดร.อธิภัทรจึงแนะนำว่า ควรหันไปดูเรื่องกฎระเบียบของรัฐบาลที่เป็นอุปสรรคต่อธุรกิจมากกว่า ซึ่งบรรยงก็แถมว่าต้องเพิ่มคุณภาพสาธารณูปโภคพื้นฐาน คุณภาพคน และลดคอร์รัปชั่น ไม่เช่นนั้น โรดโชว์กี่ร้อยเที่ยวก็ไม่เกิดผล

บีโอไอโต้บรรยงว่า นโยบายส่งเสริมการลงทุนเปลี่ยนไปแล้ว เน้นคุณภาพโครงการมากกว่าตัวเลข เน้นส่งเสริมอุตสาหกรรมประเภทใช้เทคโนโลยี อุตสาหกรรมดิจิทัล มากกว่าอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น ทำให้มูลค่าโครงการน้อย แต่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง

ฟังแล้วตลกดี เพราะตอนแรกบีโอไอก็ตีปี๊บตัวเลข “โต” แต่พอโดนท้วงว่านี่ “หด” ไม่ใช่โต บีโอไอก็เปลี่ยนไปอ้างว่าเราเอาคุณภาพมากกว่าตัวเลข

ทำไมเอกชนไม่ยอมลงทุน พูดตามสูตรรัฐบาลก็บอกว่าเศรษฐกิจโลกเพิ่งฟื้น การส่งออกเพิ่งจะเป็นบวก กำลังผลิตยังใช้ไม่เต็ม แต่เดี๋ยวดีขึ้น การบริโภคก็ดีขึ้น รายได้เกษตรกรก็สูงขึ้น

แต่นั่นคือการลงทุนในอุตสาหกรรมเดิม ลงทุนตามการบริโภค ไม่ใช่การลงทุนใหม่ๆ จากต่างชาติ ไม่ใช่เทคโนโลยีนวัตกรรมอย่างที่บีโอไอพยายามโฆษณาขายหุ่นยนต์

หลายคนตั้งความหวังว่าการลงทุนต่างชาติจะกลับมาไหม อ้าว คสช.ขึ้นปีที่ 4 “นับถอยหลังสู่เลือกตั้ง” ถ้าเห็นว่าประเทศไทยกำลังจะกลับสู่ปกติ ต่างชาติก็ต้องแห่มาสิ ประเทศศูนย์กลางอาเซียน มีความพร้อมแทบทุกอย่าง ทุ่มสาธารณูปโภคพื้นฐาน ภาษีถูก สิทธิประโยชน์เพียบ

เว้นแต่จะเป็นทางกลับกัน ซึ่งต่างชาติก็เริ่มเห็น คนไทยก็เริ่มเห็น สิ่งที่บางคนเคยคิดง่ายๆ ตื้นๆ ว่ามีรัฐธรรมนูญแล้วมีเลือกตั้ง กลับไปเป็นประชาธิปไตย มันไม่ใช่อย่างที่คิดเสียแล้ว เลือกตั้งก็ชะลอออกไป ระหว่างนี้ก็ออกกฎหมายหลายฉบับ ที่มีลักษณะกระชับอำนาจ ไม่ใช่ผ่อนคลายอำนาจ ทั้งกฎหมายพรรคการเมือง กฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่ง 2 พรรคการเมืองใหญ่รุมวิพากษ์ หรือกฎหมายคุมสื่อที่ขัดแย้งกับสื่อ

นี่ไม่ใช่การกลับสู่ภาวะปกติ แต่เป็นการสถาปนาระบอบคุมเข้ม เสมือนหนึ่งยังอยู่ใต้รัฐประหาร แต่ขณะเดียวกันก็มีเลือกตั้ง โดยมี 6 ผบ.เหล่าทัพนั่งในวุฒิสภา ในกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ประชาชนก็ดูเหมือนมีสิทธิเสียง แต่มีกฎหมายความมั่นคง พ.ร.บ.คอมพ์ หรือกฎระเบียบต่างๆ รอบตัวไปหมด

ระบอบที่เข้มงวดและตึงเครียดนี้ชัดเจนขึ้นทุกวัน เทียบง่ายๆ หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้วันที่ 6 เมษา หลายคนคิดว่าบรรยากาศการเมืองจะผ่อนคลายลง แต่กลับเป็นไปในทางตรงข้าม

สถานการณ์อย่างนี้ จะเห็นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งนับถอยหลัง ก็จะยิ่งขัดแย้งยิ่งทำให้เห็นว่าอนาคตทางการเมืองของประเทศไม่แน่นอน แล้วยังคิดหรือว่าจะเรียกคนมาลงทุน

Back to top button